posttoday

หน้ากากอนามัยจากโปรตีนข้าวโพด หนทางลดขยะพลาสติก

18 พฤษภาคม 2566

หน้ากากอนามัย ถือเป็นสิ่งช่วยป้องกันโรคและรักษาชีวิตภายใต้การระบาดโควิด ผลพวงจากเหตุนั้นทำให้ขยะพลาสติกและขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณนำไปสู่ปัญหามากมาย แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการนำโปรตีนข้าวโพดมาใช้ผลิตหน้ากากอนามัย

นับแต่การระบาดใหญ่เป็นต้นมาหน้ากากอนามัยก็สามารถพบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ภายใต้ช่วงเวลาดังกล่าวสิ่งนี้กลายเป็นเครื่องสวมใส่ชนิดใหม่ แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการผ่อนปรนมากขึ้น แต่บางประเทศยังคงนิยมใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อต้องพบปะคนหมู่มาก

 

           หน้ากากอนามัยถือเป็นผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง เมื่อมีการใช้งานแพร่หลายทั่วโลกจำนวนขยะที่เกิดขึ้นจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ อีกทั้งเรายังไม่อาจมั่นใจว่าการระบาดใหญ่จะกลับมาอีกเมื่อใดหลายคนจึงยังระวังตัว แต่การใช้งานหน้ากากผ้าที่เคยถูกมองเป็นแนวทางกลับไม่สามารถทดแทนได้ จึงเริ่มมีการพัฒนาหน้ากากอนามัยให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น

 

           แต่ก่อนอื่นเราคงต้องมาย้อนมองกันสักนิดว่า หน้ากากอนามัยก่อให้เกิดปัญหาขยะเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน

 

หน้ากากอนามัยจากโปรตีนข้าวโพด หนทางลดขยะพลาสติก

 

ขยะจากหน้ากากอนามัย ผลพวงใหญ่จากการระบาดโควิด

 

           ตามความเข้าใจของคนเราย่อมรู้สึกว่าภายใต้ช่วงการระบาดปัญหาขยะย่อมลดลง ด้วยกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจพากันหยุดชะงัก แต่ภายหลังผ่านช่วงเวลาระบาดได้สักพักทุกคนจึงเข้าใจว่า ขยะชนิดใหม่ที่เพิ่มจำนวนแบบก้าวกระโดดคือ ขยะติดเชื้อทั้งหลาย โดยเฉพาะจากหน้ากากอนามัย

 

           เราทราบกันดีว่าขยะติดเชื้อถือเป็นขยะอันตรายต้องได้รับการจัดการโดยเฉพาะ ยิ่งหน้ากากอนามันภายใต้การระบาดโควิดถือเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค มากไปกว่านั้นคือหน้ากากอนามัยปัจจุบันมีส่วนผสมของโพลีโพรพิลีน จึงถูกจัดเป็นขยะพลาสติกอีกชนิดด้วยเช่นกัน

 

           แค่เพียงในประเทศไทยจำนวนหน้ากากอนามัยมีปริมาณเฉลี่ยมากถึง 1.5 – 2 ล้านชิ้น/วัน แม้จะยังไม่มีการสรุปตัวเลขหน้ากากอนามัยจากทั่วโลกแน่ชัด แต่ตัวเลขจากสหประชาชาติคาดว่า แค่ทวีปแอฟริกาที่เดียวก็มีอัตราการใช้หน้ากากอนามัยอยู่ราว 586 ล้านชิ้น/วัน ถือเป็นขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่โดยมากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี

 

           จากการศึกษาของนักสิ่งแวดล้อมพบว่า จำนวนของขยะพลาสติกในท้องทะเลเพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการแพร่ระบาดมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงทะเลราว 12 ล้านตัน ก่อนพุ่งสูงขึ้นมาเป็น 18 ล้านตันในปีถัดมา อีกทั้งขยะส่วนมากล้วนจมลงสู่ทะเลหรือแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่ลอยออกมาให้ได้พบเห็นในท้องทะเลมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

 

           นี่เองที่เป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างปัญหาแก่ระบบนิเวศ โดยเฉพาะเมื่อขยะพลาสติกเหล่านี้แตกตัวกลายเป็น ไมโครพลาสติก ที่สามารถปนเปื้อนลงไปในสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง อาจกลายเป็นภัยเงียบที่เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อทั้งระบบนิเวศเลยทีเดียว

 

           นั่นทำให้ปัจจุบันเริ่มมีการคิดค้นวัสดุชนิดใหม่ที่ใช้แก้ปัญหาขยะพลาสติกจากหน้ากากอนามัยแล้วเช่นกัน

 

หน้ากากอนามัยจากโปรตีนข้าวโพด หนทางลดขยะพลาสติก

 

โปรตีนจากข้าวโพด ทางเลือกใหม่ในการผลิตหน้ากากอนามัย

 

           ผลงานนี้มาจากนักวิจัยแห่ง McMaster University จากการคิดค้นวัสดุผลิตหน้ากากอนามัยชนิดใหม่ โดยการใช้ประโยชน์จากโปรตีนข้าวโพด มาผลิตเป็นวัสดุป้องกันโรคซึ่งมีคุณสมบัติย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน

 

           แนวคิดนี้เริ่มต้นจากการมองหาวัสดุชนิดอื่นทดแทนพลาสติกในหน้ากากอนามัย ตัวเลือกทดแทนที่พวกเขาค้นพบคือโปรตีนที่ถูกเรียกว่า Zein ซึ่งสามารถพบได้ตามเมล็ดข้าวโพดทั่วไป เป็นโปรตีนอเนกประสงค์ที่ได้รับความเชื่อถือให้ใช้งานในฐานะบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและยา

           

 

           ภายหลังการนำโปรตีนชนิดนี้มาจัดเรียงโครงสร้างใหม่ จึงเกิดเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการดักจับกรองอนุภาคขนาดจิ๋วในระดับแบคทีเรียและไวรัส จนมีความใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัยดั้งเดิมที่ใช้งานในปัจจุบัน และพ่วงด้วยเงื่อนไขสำคัญซึ่งดีกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไปคือ คุณสมบัติในการย่อยสลายตามธรรมชาติ

 

           จริงอยู่การใช้งานหน้ากากอนามัยในปัจจุบันลดลงตามระดับความรุนแรงการระบาด ปัจจุบันหลายประเทศทยอยผ่อนคลายและเปลี่ยนโควิดเป็นโรคประจำถิ่น กระนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้งานหน้ากากอนามัยยังคงสูงและอาจเพิ่มกลับมาได้ทุกเมื่อ ทั้งจากการระบาดโควิดระลอกใหม่หรือโรคติดต่อชนิดอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การคิดค้นวัสดุชนิดนี้จึงทีความสำคัญจากการเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้า

 

           อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญที่ได้รับการพูดถึงคือ แนวโน้มการผลิตหน้ากากอนามัยจากวัสดุชนิดนี้อาจถูกกว่าการผลิตหน้ากากอนามัยในปัจจุบัน ด้วยข้าวโพดถือเป็นพืชซึ่งนิยมปลูกกันทั่วไป หากสามารถพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้สำเร็จ อาจเข้ามาทดแทนหน้ากากอนามัยรุ่นเก่าที่กำลังก่อให้เกิดปัญหาในขณะนี้

 

           และหากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม นี่อาจเป็นคำตอบในการรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

 

 

 

 

           แน่นอนวัสดุนี้ยังอยู่ในขั้นพัฒนาจำเป็นต้องได้รับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก แต่ในอนาคตวัสดุชนิดนี้อาจไม่ได้ถูกใช้งานแค่การผลิตหน้ากากอนามัย แต่อุปกรณ์ป้องกันโรคทั้งหลายไปจนบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ อาจนำวัสดุนี้ทดแทน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกลงอีกมาก

 

           คงต้องรอดูต่อไปว่าการพัฒนาวัสดุชนิดนี้จะสามารถได้รับการผลักดันออกมาใช้งานจริงแค่ไหน

 

 

 

           ที่มา

 

           https://interestingengineering.com/innovation/corn-protein-transfrom-ppe

 

           https://www.egat.co.th/egattoday/index.php?option=com_k2&view=item&id=16227:20210917-egatspcv           

 

           https://www.thaipost.net/main/detail/103320

 

           https://www.the101.world/covid-and-waste-management-around-the-world/