posttoday

เปิบพิสดาร!? เมื่อเทคโนโลยีเนื้อสังเคราะห์ถูกใช้ผลิตเนื้อแมมมอธ

27 เมษายน 2566

แนวคิดในการใช้งานเนื้อสังเคราะห์ หรือ Cultured Meat ไม่ใช่ของใหม่ หลายประเทศเริ่มมีแนวคิดพัฒนาผลักดันเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร แต่ล่าสุดเทคโนโลยีพัฒนาไปอีกขั้น เมื่อมีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อช้างแมมมอธออกมาให้รับประทาน

หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ เนื้อสังเคราะห์ หรือ Cultured Meat กันมาบ้าง กับแนวคิดในการนำเซลล์เนื้อเยื่อหรือสเต็มเซลล์ภายนอกร่างกายสัตว์มาเพาะเลี้ยงภายในห้องแลป เมื่อนำไปเพาะไว้ในสภาพแวดล้อมโดยให้สารอาหารอย่างเหมาะสม เซลล์ชนิดนี้จะเติบโตขึ้นมาเป็นชิ้นเนื้อได้ตามต้องการ

 

          เทคโนโลยีนี้ได้รับการผลักดันพัฒนาเป็นหมุดหมายสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร เราต่างทราบดีว่าประชากรโลกเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน สวนทางกับพื้นที่ในการผลิตอาหารที่เริ่มถึงขีดจำกัด ในไม่ช้าอาจนำไปสู่ความอดอยากและขาดแคลนอาหาร หลายคนจึงมองว่านี่อาจเป็นทางออกสารพัดนึกของปัญหาขาดแคลนอาหารในปัจจุบัน

 

          แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้งานเพื่อการผลิตเนื้อแมมมอธให้เรากลับมาบริโภคกัน

 

เปิบพิสดาร!? เมื่อเทคโนโลยีเนื้อสังเคราะห์ถูกใช้ผลิตเนื้อแมมมอธ

 

ครั้งแรกของโลก เนื้อแมมมอธพร้อมรับประทาน

 

          ผลงานนี้เป็นของบริษัท Vow แห่งออสเตรเลีย ภายหลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พวกเขาได้นำเอาเทคโนโลยีนี้มาทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธ์ไปแล้ว เกิดเป็นการผลิตมีทบอลจากเนื้อช้างแมมมอธให้ผู้คนปัจจุบันได้รับประทาน

 

          การพัฒนาในครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของทางบริษัท แต่แน่นอนว่าการค้นหาเนื้อเยื่อของช้างแมมมอธที่ยังมีชีวิตคือเรื่องเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการเก็บรวบรวมรหัสพันธุกรรมจากญาติสนิทใกล้เคียงกันอย่าง ช้างแอฟริกา ใช้เวลาหลายอาทิตย์เพื่อแกะรอยและลำดับพันธุกรรมออกมาเป็นเนื้อแมมมอธได้สำเร็จ

 

          ความสำเร็จในครั้งนี้นอกจากยืนยันถึงความสมบูรณ์ของเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ที่กำลังถูกผลักดันให้มาทดแทนกรรมวิธีการผลิตปศุสัตว์แบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีจุดหมายเพื่อช่วยตอกย้ำไปถึงผู้คนบนโลก ถึงสาเหตุแห่งการสูญพันธุ์ของช้างแมมมอธในอดีตอีกด้วย

 

          ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่าวว่า พวกเขาอยากให้เนื้อแมมมอธเป็นสัญลักษณ์และเครื่องเตือนใจคนเรา ด้วยสาเหตุที่ทำให้สิ่งมีชีวิตยิ่งใหญ่ชนิดนี้สูญพันธุ์คือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้ารับมือในปัจจุบัน และจะกลายเป็นชะตากรรมเดียวกันในอนาคต หากเราไม่ตระหนักรู้และเร่งแก้ไขเสียตั้งแต่ตอนนี้

 

          หลังผลิตออกมาเป็นผลสำเร็จปัจจุบันมีทบอลเนื้อแมมมอธนี้ได้รับการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ NEMO ในเนเธอร์แลนด์ ในส่วนของรสชาติปัจจุบันยังไม่มีใครได้โอกาสในการลองชิม ด้วยไม่แน่ใจในความปลอดภัยจากโปรตีนของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ในแง่ของกลิ่นแล้วในขั้นตอนการปรุงมีรายงานว่า ใกล้เคียงกับเนื้อจระเข้

 

          สำหรับผู้ที่อยากลิ้มลองรสชาติของเนื้อชนิดนี้จึงอาจต้องอดใจรอกันอีกนิด

 

เปิบพิสดาร!? เมื่อเทคโนโลยีเนื้อสังเคราะห์ถูกใช้ผลิตเนื้อแมมมอธ

 

แนวโน้มการใช้งานเนื้อสังเคราะห์ในปัจจุบัน

 

          สำหรับออสเตรเลีย Vow ถือเป็นผู้ผลิตเนื้อสังเคราะห์อันดับต้นๆ กับความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเนื้อสัตว์อย่างยั่งยืน แต่พวกเขาไม่ใช่บริษัทเดียว เช่นเดียวกับที่ออสเตรเลียไม่ใช่เพียงประเทศเดียวที่กำลังผลักดันธุรกิจเนื้อสังเคราะห์ แต่เป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนทั่วโลก

 

          ล่าสุดทางคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ(FDA) ได้อนุมัติการบริโภคเนื้อไก่สังเคราะห์จากห้องแลป ที่ผ่านการเพาะเลี้ยงจากห้องปฏิบัติการเป็นผลสำเร็จ จนเริ่มเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น บริษัท UPSIDE Foods ที่ได้รับอนุมัติให้วางจำหน่ายอกไก่สังเคราะห์จากห้องแลปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 เป็นต้นมา

 

          เช่นเดียวกับทางบริษัท GOOD Meat ที่เริ่มมีการจัดตั้งโรงงานเป็นฟาร์มสังเคราะห์เนื้อขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งเป้าให้เริ่มต้นการผลิตได้ภายในปี 2024 และจะผลิตเนื้อออกสู่ตลาดได้มากถึง 13,700 ตัน ภายในปี 2030  อีกทั้งยังเริ่มวางจำหน่ายในบางประเทศที่ได้รับอนุญาต เช่น สิงค์โปร์ แล้วเช่นกัน

 

          ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสังเคราะห์ไม่ได้จำกัดเพียงเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อไก่เท่านั้น ล่าสุดทางบริษัท Umami Meats ได้อาศัยเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในการผลิตลูกชิ้นปลาภายในห้องแลปจนใกล้เคียงกับลูกชิ้นปลาของจริง รวมถึง The EVERY Company ที่มีการพัฒนาไข่ขาวสังเคราะห์และนำไปทำเป็นส่วนผสมของขนมหวานอีกด้วย

 

          เห็นได้ชัดว่าทั่วโลกต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเนื้อสังเคราะห์ มองว่านี่คือแนวทางการผลิตเนื้อปศุสัตว์เพื่อการบริโภคแห่งอนาคต นอกจากช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารและพื้นที่ทำฟาร์มที่นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอน สาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอีกด้วย

 

 

          อย่างไรก็ตามใช่ว่าแนวคิดเนื้อสังเคราะห์จะไม่มีการต่อต้านเสียทีเดียว ทางฝั่งอิตาลีได้พิจารณาผ่านร่างกฎหมายห้ามการประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ที่ได้จากกรรมวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากความกังขาในด้านความปลอดภัยทางสุขภาพ และป้องกันมรดกวัฒนธรรมทางอาหาร ไปจนภาคการเกษตรของประเทศ

 

          ตอนนี้เราจึงต้องรอดูต่อไปว่าเนื้อสังเคราะห์จะเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาอนาคตของโลกจริงหรือไม่

 

 

 

          ที่มา

 

          https://interestingengineering.com/innovation/meatballs-with-extinct-mammoth-dna

 

          https://interestingengineering.com/innovation/good-meats-lab-grown-chicken-product-cleared-fda-sale-paving-way-more-sustainable-food-industry

 

          https://www.chula.ac.th/highlight/57243/

 

          https://www.nationtv.tv/original/378860422

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1285

 

          https://www.posttoday.com/be-greener/1522

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1305

 

          https://www.posttoday.com/international-news/692380