posttoday

ผ้าพันแผลชนิดใหม่ช่วยเร่งสมานแผลและย่อยสลายไปกับร่างกาย

20 มีนาคม 2566

แผลบนร่างกายสำหรับคนทั่วไปอาจถือเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ไม่ใช่กับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นไปได้สูงว่าเพียงบาดแผลทั่วไปอาจลุกลามนำไปสู่การตัดอวัยวะ แต่ล่าสุดมีการคิดค้นผ้าพันแผลชนิดใหม่ที่ช่วยเร่งการฟื้นตัวและซึมหายไปกับร่างกายหลังใช้เสร็จ

เมื่อร่างกายได้รับบาดแผลเป็นปกติที่เราต้องทำการปิดแผล ในกรณีแผลเล็กเราสามารถปิดแผลได้ด้วยพลาสเตอร์ เมื่อบาดแผลใหญ่ขึ้นอีกหน่อยเราจึงปิดมันด้วยผ้าผันแผล เพื่อป้องกันการเข้าถึงของเชื้อโรคและฝุ่นละอองต่างๆ อาจมีการแกะและเปลี่ยนออกเพื่อทำความสะอาด แต่เป็นเรื่องที่เกิดได้ตามปกติ

 

          ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อบาดแผลนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีความละเอียดอ่อนที่สุด ด้วยบาดแผลที่ได้รับมีโอกาสติดเชื้อสูงมาก จำเป็นต้องล้างทำความสะอาดบาดแผลอย่างละเอียด อีกทั้งต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ เพื่อป้องกันไม่ให้บาดแผลลุกลามนำไปสู่อาการบาดเจ็บที่ร้ายแรงยิ่งกว่า

 

          นำไปสู่การคิดค้นผ้าพันแผลชนิดใหม่ซึ่งตอบสนองการใช้งานต่อผู้ป่วยประเภทนี้โดยเฉพาะ

 

ผ้าพันแผลชนิดใหม่ช่วยเร่งสมานแผลและย่อยสลายไปกับร่างกาย

 

ผ้าพันแผลชนิดใหม่ที่ช่วยเร่งฟื้นตัวและตรวจสอบสภาพแผลแบบเรียลไทม์

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Northwestern University กับการคิดค้นผ้าพันแผลชนิดใหม่ที่มีขนาดเล็กและยืดหยุ่น มีศักยภาพในการช่วยเร่งการฟื้นตัวของบาดแผลให้สมานเข้าหากันเร็วขึ้นกว่า 30% สามารถตรวจสอบสถานะของบาดแผลได้แบบเรียลไทม์โดยไม่จำเป็นต้องแกะออกมาดู

 

          แนวคิดในการพัฒนาผ้าพันแผลชนิดนี้เกิดจาก ความต้องการให้บาดแผลที่เกิดขึ้นแก่บุคคลสมานตัวและหายดีโดยเร็วที่สุด ป้องกันการติดเชื้อรวมถึงภาวะแทรกซ้อนชนิดอื่นที่อาจจะตามมา โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความเสี่ยงต่ออาการเหล่านี้เป็นพิเศษ นั่นทำให้มีแนวคิดการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าเพื่อเร่งการทำงานของเซลล์ในการฟื้นฟูบาดแผล

 

          วิธีนี้ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง หากสามารถกระตุ้นอย่างถูกวิธีจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดในด้านขนาดของอุปกรณ์ จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีสายเชื่อมติดการใช้งานจึงต้องมาสถานพยาบาล ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้คล่องตัว นำไปสู่การคิดค้นผ้าพันแผลชนิดนี้ขึ้นมา

 

          องค์ประกอบของผ้าพันแผลชนิดนี้ประกอบด้วย ขั้วไฟฟ้ารูปทรงดอกไม้ที่จะถูกนำไปวางไว้บนส่วนที่บาดเจ็บ และขั้วไฟฟ้ารูปวงแหวนไว้บนส่วนที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ โดยทั้งสองส่วนนี้จะถูกเชื่อมต่อกันด้วยขดลวด เพื่อจ่ายพลังงานให้แก่วงจรทั้งสองแห่ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ แต่อาศัยคอยล์เก็บพลังงานที่ติดตั้งไว้ภายใน

 

ขั้นตอนการทำงานของผ้าพันแผลนี้ภายหลังจากนำส่วนวงจรรูปดอกไม้วางไว้บนแผล และนำส่วนวงแหวนไปวางไว้บนส่วนที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ตัววงจรจะทำการส่งข้อมูลและสภาพบาดแผลแบบเรียลไทม์กลับไปหาแพทย์เจ้าของไข้ ช่วยให้แพทย์สามารถควบคุมช่วงเวลาและขั้นตอนการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่คนไข้รายบุคคลได้ทันที

 

          ในขั้นตอนการทดสอบพบว่า หนูที่ป่วยเป็นเบาหวานเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าเป็นเวลา 30 นาที/วัน มีอัตราการฟื้นตัวเร็วขึ้น เปรียบเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้านับว่าบาดแผลของหายเร็วกว่าเดิมถึง 30% เป็นประโยชน์แก่การฟื้นตัวเป็นอย่างยิ่ง

 

          นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถใช้อุปกรณ์นี้ตรวจสอบสภาพและสถานะของบาดแผลได้ตลอดเวลา จากการตรวจสอบความต้านทานไฟฟ้าจากความชื้นของบาดแผล ทำให้ไม่จำเป็นต้องแกะผ้าพันแผลเพื่อตรวจสอบ ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ป่วย รวมถึงช่วยให้แพทย์สามารถรับมือและดูแลรักษาในกรณีเกิดอาการแทรกซ้อนหรือติดเชื้อได้ทันท่วงทีอีกด้วย

 

ผ้าพันแผลชนิดใหม่ช่วยเร่งสมานแผลและย่อยสลายไปกับร่างกาย

 

 

          อีกหนึ่งคุณสมบัติเด่น การย่อยสลายไปกับร่างกาย

 

          นอกจากใช้งานในด้านการกระตุ้นการรักษาและตรวจสอบสถานะบาดแผลแบบเรียลไทม์ อีกหนึ่งจุดเด่นของผ้าพันแผลชนิดนี้คือ เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งานไม่จำเป็นต้องแกะหรือลอกผ้าพันแผลออกให้ยุ่งยาก ตัวผ้าและวัสดุทั้งหมดจะซึมและกลืนไปเป็นเนื้อเดียวกับผิวหนังของเราโดยไม่เป็นอันตราย

 

          เมื่อแผลหายสนิทตัวผ้าพันแผลจะซึมหายไป แม้แต่ในส่วนของแผงวงจรและขดลวดที่ได้รับการผลิตจากโลหะ โมลิบดีนัม เป็นโลหะที่ใช้กันแพร่หลายในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติคือหากโลหะชนิดนี้มีขนาดบางและเล็กพอจะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

 

          จากการทดลองใช้ในหนูและสัตว์ทดลองพบว่า โมลิบดีนัมที่ใช้ในแผงวงจรมีขนาดเล็กมาก สามารถย่อยสลายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายโดยไม่เกิดผลกระทบ ก่อนจะถูกขับออกไปภายในเวลาราว 6 เดือน แม้บางส่วนอาจเหลือตกค้างภายในอวัยวะภายใน แต่ปริมาณที่ใช้งานเพียงเล็กน้อยจนไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองหรือผลกระทบใดต่อร่างกาย

 

          ด้วยเหตุนี้เมื่อใช้งานเสร็จสิ้นเราจึงสามารถปล่อยผ้าพันแผลให้ซึมและเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่จำเป็นต้องแกะหรือดึงออกที่อาจเสี่ยงให้เกิดบาดแผลต่อผิวหนังเพิ่มเติม อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล หนึ่งในขยะอันตรายที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการเป็นพิเศษอีกด้วย

 

 

 

          จริงอยู่ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังคงอยู่ในขั้นทดลองโดยเตรียมใช้งานกับสัตว์ขนาดใหญ่ จากนั้นจึงเริ่มทดลองทางคลินิกในการใช้งานกับมนุษย์ก็จริง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับขั้นตอนการรักษาแบบอื่นมีแนวโน้มได้รับการอนุมัติเร็วกว่ามาก เพราะสิ่งที่ผ้าพันแผลชนิดนี้ทำไม่ใช่การใช้ยาหรือสารชีวภาพเพิ่มเติม เป็นเพียงการกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งมีแนวโน้มในการได้รับอนุญาตให้ใช้งานเร็วกว่าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ชนิดอื่นมาก

 

          นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งเพราะอาจช่วยเปิดแนวทางการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยบนโลกได้อีกมาก

 

 

 

          ที่มา

 

          https://news.northwestern.edu/stories/2023/02/first-transient-electronic-bandage-speeds-healing-by-30/

 

          https://newatlas.com/medical/electrotherapy-wireless-bandage-wound-healing-body-absorbent/