posttoday

ฮ่องกงยกระดับมาตรการ ตั้งเป้าลดใช้พลาสติกมากกว่า 40%

20 มกราคม 2566

กฎหมายของฮ่องกงกำหนดให้ร้านค้าปลีกห้าม “แจกถุงพลาสติกฟรี” หากลูกค้าต้องการจะต้องเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ด้วยมาตรการเก็บเงินค่าถุง ช่วยให้ฮ่องกงลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้อย่างมหาศาล จาก 660 ล้านใบ เหลือ 150 ล้านใบต่อปีในปี 2010

ฮ่องกงยกระดับมาตรการ ตั้งเป้าลดใช้พลาสติกมากกว่า 40%

ถุงพลาสติกนับเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในการจับจ่ายซื้อของต่างๆ แต่หากใช้อย่างฟุ่มเฟือย จะนำมาซึ่งวิกฤตขยะพลาสติก แม้ประเทศไทยมี Roadmap และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ดูเหมือนมาตรการส่วนใหญ่ยังคงเน้นมาตรการภาคสมัครใจ แม้ห้างร้านต่างๆ พร้อมใจกันออกมาตรการงดแจกถุงพลาสติกเมื่อช่วงต้นปี 2563 จากเหตุการณ์จากไปของพะยูนน้อย “มาเรียม” แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 เอกชนและประชาชนต่างหันกลับมาใช้พลาสติกกันอย่างเต็มที่โดยให้เหตุผลว่าช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แถมยังมีความเคยชินใหม่ (new normal) กับการสั่งอาหารออนไลน์ที่ยิ่งซ้ำเติมปัญหาขยะพลาสติกในประเทศ

ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้ถุงพลาสติก (ยกเว้นพื้นที่อุทยานฯ ออกกฎห้ามนำถุงพลาสติกเข้าพื้นที่อุทยานซึ่งแทบไม่ได้ผล) และมาตรการเชิงสมัครใจไม่เป็นผล ห้างร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ กลับมาแจกถุงพลาสติกกันอย่างเป็นปกติ  รัฐบาลฮ่องกงกลับสวนทาง ยกระดับความเข้มข้นของมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติก โดยได้ออกกฎหมายควบคุมการใช้ถุงพลาสติก (Product Eco-responsibility Ordinance) มาตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) หรือ 13 ปีที่แล้ว

ฮ่องกงยกระดับมาตรการ ตั้งเป้าลดใช้พลาสติกมากกว่า 40%

กฎหมายของฮ่องกงกำหนดให้ร้านค้าปลีกห้าม “แจกถุงพลาสติกฟรี” หากลูกค้าต้องการ จะต้องเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ในช่วงแรก กฎหมายเน้นไปที่ร้านค้าปลีกรายใหญ่กว่า 3,000 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยาและเครื่องสำอาง ด้วยมาตรการเก็บเงินค่าถุง ช่วยให้ฮ่องกงลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้อย่างมหาศาล จาก 660 ล้านใบเหลือ 150 ล้านใบต่อปีในปี 2010 ต่อมา ในปี 2013 รัฐบาลฮ่องกงได้ปรับแก้กฎหมายให้ครอบคลุมร้านค้ามากขึ้นโดยกฎหมาย Product Eco-responsibility (Amendment) Ordinance 2014 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2015 กำหนดให้ร้านค้าปลีกทั้งหมดงดแจกถุงพลาสติกฟรีโดยร้านค้าจะต้องเก็บเงินค่าถุงพลาสติกอย่างน้อย 50 เซ็นต์หากลูกค้าต้องการถุง แต่ยังมีข้อยกเว้นให้กับการใช้ถุงพลาสติกด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยอาหาร

ฮ่องกงยกระดับมาตรการ ตั้งเป้าลดใช้พลาสติกมากกว่า 40%

ต่อมาในปี 2021 รัฐบาลได้ปรึกษากับสภาการพัฒนาที่ยั่งยืน (Council for Sustainable Development: SDC) ที่มีตัวแทนของภาคประชาชนและองค์กรต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastics) ทางสภาฯ ได้ระดมความคิดเห็นจากองค์กรและประชาชนชาวฮ่องกงหลายพันคน จนได้มาเป็นข้อเสนอ 24 ข้อและมี 12 ข้อที่เป็นการยกระดับมาตรการควบคุมการใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติก รัฐบาลจึงได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนำมาสู่มาตรการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2022 ด้วยความหวังที่จะลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 40% 

มาตรการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ฉบับเดือนธันวาคม 2022 ได้ยกระดับความเข้มข้นดังนี้ 

• ปรับอัตราค่าถุงพลาสติกจาก 50 เซ็นต์ เป็น 1 ดอลลาร์ฮ่องกง(ประมาณ 4.2 บาท)

• ยกเลิกข้อยกเว้นเดิมที่จะให้ถุงพลาสติกฟรีกรณีใส่ของจำพวกของแช่เย็นหรือของแช่แข็ง

• ให้ถุงพลาสติกฟรีได้เฉพาะกรณีใส่อาหารที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะปิดสนิท ภายใต้หลักการ “ให้ฟรีได้แค่ 1 ถุงต่อการซื้อ 1 ครั้ง”  

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ร้านค้าเป็นผู้จัดเก็บเงินค่าถุงพลาสติกแทนการนำส่งเงินให้รัฐ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามตรวจสอบการนำส่งเงินค่าถุงจากร้านค้าที่ต้องทำตามกฎหมายมากกว่า 1 แสนร้าน ได้ แต่รัฐบาลได้เรียกร้องให้ร้านค้าต่างๆ นำเงินค่าถุงที่จัดเก็บได้ไปใช้สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม 

ฮ่องกงยกระดับมาตรการ ตั้งเป้าลดใช้พลาสติกมากกว่า 40%

รัฐบาลฮ่องกงให้เวลาผ่อนผัน (grace period) เพื่อให้ร้านค้าปรับตัวต่อกฎหมายใหม่นี้เป็นเวลา 1 เดือน โดยเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมจะทำการสุ่มตรวจร้านค้าในตลาดสดและทำการตักเตือนหากพบการกระทำผิด

ตามกฎหมายใหม่ หากร้านค้ามีการละเมิด (แจกถุงพลาสติกฟรีให้กับลูกค้าโดยที่ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้น) จะต้องเสียค่าปรับ 2,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 8,400 บาท) แต่หากกระทำผิดซ้ำซาก อาจจะต้องเสียค่าปรับสูงถึง 200,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (840,000 บาท) ได้ 

นับเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การแก้ปัญหาขยะพลาสติกไม่สามารถแก้ได้เพียงการรณรงค์ขอความร่วมมือ หากต้องมีการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่มีกฎหมายรองรับเพื่อให้ประชาชนปรับพฤติกรรมในการพกถุงผ้าหรือถุงใช้ซ้ำได้ไปซื้อของมากขึ้น 

 

ผู้เขียน: ดร. สุจิตรา วาสนาดํารงดี

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะปฏิรูประบบการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (ระยะที่ 2) ภายใต้แผนงานสนับสนุนการปฏิรูประบบการจัดการขยะมูลฝอยและ ของเสียอันตรายซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

 

ที่มาของข้อมูล:

• https://www.epd.gov.hk/epd/english/environmentinhk/waste/pro_responsibility/env_levy.html

• https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3204165/hongkongers-pay-hk1-each-plastic-bag-supermarkets-next-week-first-increase-13-years

• https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3186739/lawmaker-urges-authorities-further-raise-hong