posttoday

“วิโรจน์” นำทัพขนส่งทางบก ร้องป.ป.ช. ปม จนท.กลั่นแกล้ง-เรียกส่วย

11 มิถุนายน 2568

“วิโรจน์” นำทัพ ขนส่งทางบก ยื่นหนังสือร้องป.ป.ช. ชงแก้ระเบียบ ตร. กรณีใช้กฎหมายกลั่นแกล้งเรียกส่วยรถบรรทุก-รถเครน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วยดร.ทองอยู่ คงขันธุ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และตัวแทนสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

 

ร่วมยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ขอให้ใช้อำนาจในการทำข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาจัดทำหรือปรับปรุงคำสั่ง 

“วิโรจน์” นำทัพขนส่งทางบก ร้องป.ป.ช. ปม จนท.กลั่นแกล้ง-เรียกส่วย

หรือออกระเบียบกำกับการใช้ดุลยพินิจขงเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเรียกตรวจและดำเนินคดีผู้ประกอบการรถบรรทุก เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งเรียกรับผลประโยชน์ ก่อนที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือในกรณีเดียวกันต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในเวลาต่อมา

 

นายวิโรจน์ ระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการรถบรรทุกและรถเครนที่ประกอบอาชีพโดยสุจริตถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง รถบรรทุกถูกเรียกตรวจ โดยที่ลักษณะทางกายภาพไม่ได้มีการบรรทุกเกิน

 

แต่เจ้าหน้าที่พยายามกลั่นแกล้งรังควานให้เสียเวลาเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ หรือในกรณีที่น้ำหนักเกิน เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนควรต้องพิจารณาถึงความพร้อมของหลักฐานพยานต่างๆ ยืนยันว่าผู้ต้องหามีเจตนาในการกระทำความผิดจริง แต่ในทางปฏิบัติไม่มี เจ้าหน้าที่กลับทำการริบรถทันที

ปัจจุบันรถบรรทุกมีจีพีเอสติดตั้งทุกคัน มีการเข้าด่านชั่งตั้งแต่ต้นทางและระหว่างทาง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่พิจารณาถึงส่วนนี้แล้วยังนำตาชั่งลอยมาตั้งระหว่างทาง

“วิโรจน์” นำทัพขนส่งทางบก ร้องปปช. ปม จนท.กลั่นแกล้ง-เรียกส่วย

เจ้าหน้าที่ตำรวจควรต้องตั้งข้อสงสัยต่อการสอบเทียบวัดเครื่องมือของตัวเองด้วยซ้ำกลับไม่ทำ แล้วยังแจ้งข้อกล่าวหาผู้ประกอบการ ซึ่งสุดท้ายอัยการก็สั่งไม่ฟ้องในหลายกรณี

 

และทุกกรณีที่น้ำหนักเกินโดยไม่มีนัยสำคัญทางธุรกิจ ศาลก็ยกฟ้อง แต่ผู้ประกอบการต้องเสียเวลาหลายเดือน ค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายงวดรถก็เสีย โอกาสในการทำมาหากินก็เสีย แล้วใครเป็นผู้รับผิดชอบกับการถูกกลั่นแกล้ง

 

นายวิโรจน์กล่าวต่อไปว่ายังมีกรณีการค้าสำนวน คือกรณีที่เมื่อรถบรรทุกมีการตรวจพบว่าบรรทุกน้ำหนักเกินสัก 100-200 กิโลกรัม ความจริงแล้วเจ้าหน้าที่ควรพิจารณาจากจีพีเอสหรือการเข้าด่านชั่งก่อนหน้า ก็พอจะตีความได้ว่ามีเจตนาหรือไม่

 

แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้การริบรถเอาไว้ก่อน แล้วค่อยมากระซิบบอกว่าถ้าไม่อยากให้ริบรถก็จ่ายเงินมาราว 70,000 บาท แล้วให้พนักงานขับทำเอกสารสัญญาปลอมขึ้นมาว่าเช่ารถจากผู้ประกอบการมาวิ่งเองเพื่อที่จะได้ไม่ต้องริบรถ

ความจริงเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพิจารณาพยานหลักฐานว่ามีเจตนาหรือไม่ ถ้ามีการดัดแปลงเกินมาเป็นตันก็ริบรถไปได้เลย แต่กรณีน้ำหนักเกินมา 100-200 กิโลกรัม แล้วด่านก่อนหน้าก็ชั่ง ต้นทางก็ชั่ง จีพีเอสก็มีพิสูจน์ว่าไม่ได้แวะจอดที่ไหน

“วิโรจน์” นำทัพขนส่งทางบก ร้องปปช. ปม จนท.กลั่นแกล้ง-เรียกส่วย

แล้วจะให้ผู้ประกอบการติดจีพีเอสไปเพื่ออะไร แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่พิจารณาเลย แล้วจะริบรถแล้วไถสตางค์ พอจ่ายเงินก็เปลี่ยนสำนวน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการค้าสำนวน

 

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปซา ในส่วนของรถเครนยิ่งน่าเห็นใจ รถเครนที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ได้ผลิตในประเทศไทยแต่นำเข้าจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม นำเข้าถูกต้อง ใช้งานถูกต้อง หน่วยงานราชการก็นำเข้า

 

แต่ปรากฏว่าถูกจัดหมวดหมู่เอาไว้เป็นรถบรรทุก ทำให้ผิดกฎหมายทันที เมื่อผู้ประกอบการใช้รถเครนก็ถูกเรียกจับเรียกรับผลประโยชน์ ทั้งที่วัตถุประสงค์การใช้งานไม่ใช่แบบเดียวกับรถบรรทุก 

 

อีกทั้งเมื่อใดที่ประเทศเกิดภัยพิบัติแล้วมีการประสานงานไปยังผู้ประกอบการรถเครนให้นำรถเครนมาช่วย ก็ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย

 

นั่นแสดงว่ากฎหมายที่เป็นอยู่ไม่ทันสมัยแล้วและเป็นเครื่องมือที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางนายใช้ในการเรียกรับผลประโยชน์ วันนี้ตนจึงมาเสนอแนะต่อ ป.ป.ช. ให้ทำข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการออกระบียบคำสั่งการใช้ดุลยพินิจ เพื่อแก้ปัญหาส่วยที่เกิดจากกฎหมายที่ไม่ทันสมัย และการที่เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายเช่นนี้ในการรีดไถประชาชนจะได้หมดไปเสียที