posttoday

เกาะติดผลโหวตนายกฯคนที่30 ลุ้นรัฐสภาลงมติเลือก'พิธา'หรือเลื่อนประชุม

13 กรกฎาคม 2566

เกาะติดการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่30 เปิดขั้นตอนการลงคะแนนของส.ส.-ส.ว. จับตา 'พิธา' แคนดิเคตนายกฯจากก้าวไกล ผ่านการรับรองจากสมาชิกรัฐสภาหรือไม่  

เปิดขั้นตอนลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่30 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานรัฐสภา กำหนดให้มีการเรียกประชุมร่วมกันระหว่าง2สภา เวลา09.30น.วันนี้ (13ก.ค.66) เป็นไปตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 272 โดยเปิดโอกาสให้ สว.และส.ส.อภิปรายรวม6ชม.และเปิดโอกาสผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ด้วย ก่อนการลงมติช่วงเวลา 17.00น. ซึ่งบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา หรือ 376 เสียง

ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 272 การเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 สมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส.500คนทั้งแบ่งเขต-บัญชีรายชื่อ และส.ว.อีก 250 เสียง จะเป็นผู้ลงคะแนนให้ความเห็นชอบตามรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองที่มีจำนวนสส.ส.ตั้งแต่25คนขึ้นไปเสนอชื่อเข้ามา

เมื่อดูผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ได้สิทธิเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมีทั้งหมด 8 คน จาก 5 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 1 คน พรรคเพื่อไทย 3 คน พรรคภูมิใจไทย 1 คน พรรคพลังประชารัฐ 1 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยสามารถเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน

ที่น่าจับตามากที่สุดคือ แคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค ผลการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลคว้าเก้าอี้มาได้ 151ที่นั่งมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล สามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่จำนวน312 ที่นั่ง 

ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการสภาฯ จะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ ผู้ที่ได้คะแนน 376 เสียงขึ้นไปจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ประเด็นที่น่าสนใจกรณีของนายพิธาในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อีกอย่างน้อย 64 เสียง จึงจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ 

อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ2560 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่าหากรัฐสภาไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในครั้งแรก ในการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งถัดไปจะเสนอชื่อนายพิธาได้อีกหรือไม่ ต้องดูผลการลงมติในวันนี้ก่อน รวมถึงประเด็นการขอเลื่อนวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่30ออกไปก่อน เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องการถือครองหุ้นiTVของนายพิธา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นสมาชิกสภาพส.ส.ดังนั้น กรณีนายพิธา ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หากไม่ผ่านการให้ความเห็นชอบ หรือมีการขอเลื่อนการประชุมออกไป ก็จะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ย้ำว่า การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ถือเป็นหน้าที่ของรัฐสภา โดยยึดรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินในอดีต และหน่วยงานที่เกี่ยวมาพิจารณาประกอบก่อนตัดสินใจที่จะต้องดำเนินการหาตัวบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้