posttoday

ยึด"เบิกจ่ายกองทุนสุขภาพ"เบ็ดเสร็จ

05 สิงหาคม 2561

ประเด็นที่ถูกจับตามองมาตลอดในยุครัฐบาล คสช. คือการรวบอำนาจ “หน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข”

ประเด็นที่ถูกจับตามองมาตลอดในยุครัฐบาล คสช. คือการรวบอำนาจ “หน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข”

***********************************

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ประเด็นที่ถูกจับตามองมาตลอดในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่หวังครอบงำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แม้ช่วงหลังจะดูเงียบเหงา แต่มีความพยายามลึกๆ ที่จะรวบอำนาจ “หน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข” หรือ “เคลียริ่งเฮาส์ชาติ” กลับไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

โดยหลักการการจัดตั้ง “เคลียริ่ง เฮาส์ชาติ” จะทำให้การรับข้อมูลการเบิกเงินการประมวลผลข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ ที่มีผู้รับผิดชอบสามกองทุนหลัก คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการคล่องตัวมากขึ้น

สำหรับหน้าที่ของหน่วยงานแห่งนี้คือ ทุกกองทุนต้องส่งข้อมูลเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมาที่เคลียริ่งเฮาส์ รวมถึงให้สำนักงานประมวลผลว่าควรจ่ายในอัตราใดทั้งยังมีหน้าที่ให้โรงพยาบาลส่งเบิกและรับเบิกเงินจากหน่วยงานนี้อีกด้วย

ปัญหาก็คือที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานอย่างเป็นทางการ จึงมีมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2556 ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแลไปก่อน

อันที่จริงมีความพยายามจะจัดตั้งหน่วยงานนี้มาตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัด สธ. โดยห้วงเวลานั้น นพ.ณรงค์ ต้องการลดทอนขุมกำลังของ สปสช. และฟื้นความยิ่งใหญ่ของ สธ. จึงมีความพยายามให้เคลียริ่งเฮาส์มาอยู่ใต้ร่มของ สธ. มากกว่าจะให้ไปอยู่ในมือของ สปสช. แต่ก็ไม่สำเร็จ

หลัง คสช.ยึดอำนาจ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข แนวคิดตั้งเคลียริ่งเฮาส์ชาติฟื้นกลับมาอีกครั้ง โดยฝันว่าจะเกิดองค์การมหาชน หน่วยงานใหม่แต่ก็ไม่รอด เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการตั้งองค์กรสิ้นเปลืองงบประมาณ

เรื่องเงียบไปนาน 3 ปี ยุค นพ.ปิยะสกลสกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข คนปัจจุบัน มีการปัดฝุ่นแนวคิดนี้ขึ้นใหม่ ผ่านการเสนอของข้าราชการรอบตัวที่ต้องการให้หน่วยงานนี้อยู่ใต้ สธ.แบบเดียวกับที่หมอณรงค์เคยผลักดัน

ทั้งที่หากให้ สธ.ดูแลจะกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทันที เพราะกระทรวงจะกลายเป็นผู้คุมการเบิกจ่ายเงินจากทั้ง 3 กองทุนไปยังโรงพยาบาลที่ตัวเองดูแล ขัดกับหลักการ ผู้ซื้อบริการ (กองทุนทั้ง 3 กองทุน) และผู้ให้บริการ (โรงพยาบาลทั่วประเทศ) ต้องแยกอำนาจจากกันโดยสิ้นเชิง

จริงอยู่ที่เคลียริ่งเฮาส์ชาติไม่ควรอยู่กับ สปสช. เพราะหลักการต้องมีความเป็นอิสระสูง แต่การเอาไปขึ้นอยู่ สธ.นั้นยิ่งทำให้ความพยายามรวบอำนาจชัดมากขึ้น

ความพยายามกุมการเบิกจ่ายเงินของ สธ.ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ จากการดึง นพ.นพพร ชื่นกลิ่น จากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มาเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตั้งแต่ยังไม่หมดวาระจาก อภ. ทั้งที่ นพ.นพพร ไม่ได้มีผลงานอะไรเกี่ยวกับงานวิจัย และ อภ.ก็เป็นองค์กรที่ใหญ่กว่า สวรส.มาก

ในวันที่ นพ.นพพร รับตำแหน่งเขายังประกาศอีกด้วยว่าผลงานที่จะผลักดัน คือการตั้งไข่เคลียริ่งเฮาส์ชาติ โดยหวังใจให้ไปขึ้นกับ สธ.ให้ได้

หากขึ้นกับกระทรวงหมอสำเร็จ หมายความว่าการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของทั้ง 3 กองทุนต้องมาผ่านหน่วยงานที่กระทรวงเป็นผู้ดูแล แทนที่จะมีหน่วยงานอันเป็นอิสระทำหน้าที่นี้

นี่ไม่ใช่ความพยายามเดียวในการรวบอำนาจ แต่ยังมีข้อเสนอของสภา
ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และ สธ.ให้ตั้งบอร์ดครอบ สปสช.และกองทุนต่างๆ ภายใต้ชื่่อว่า “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อตัดสินใจนโยบายและเรื่องเงินๆ ทองๆ เพื่อเอาอำนาจกลับไปกระทรวงหมอให้จัดการ “เงิน” ได้มากขึ้น

แม้ไม่กระโตกกระตากแต่พอสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามในการรวบอำนาจกองทุนซึ่งอาจนำไปสู่การ “ล้ม” บัตรทองยังคงอยู่

เพราะ สปสช.ที่บริหารบัตรทองนั้นมีโครงสร้างที่แยกออกจากระบบราชการปกติมากไป เพราะ สปสช.มีสัดส่วนของหมอที่อยู่ระบบราชการและบรรดาเอ็นจีโอมากเกินไป ขัดแย้งกับกระแสปฏิรูปยุค คสช.นั่นคือลดอำนาจประชาชนและเอาอำนาจกลับไปให้ระบบราชการ “คนดี” กลับไปจัดการกันเองมากขึ้น

คำถามที่ต้องสะท้อนกลับไปยังตัว นพ.ปิยะสกล และตัวรัฐบาล คสช. ก็คือที่สุดแล้วยังอยากเห็นความเป็นอิสระของการบริหารจัดการระบบสุขภาพแบบ 17 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ หรืออยากให้กลับไปสู่ระบบราชการเป็นใหญ่เหมือนในอดีต?