posttoday

บทเรียนปมป่าแหว่งดอยสุเทพความชอกช้ำไร้ค่าสู่บรรทัดฐาน

12 พฤษภาคม 2561

บ้านพักศาลตุลาการเชิงป่าดอยสุเทพ เป็นบทเรียนว่าหากจะทำโครงการอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ต้องพึงสังวรไว้ว่าเรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ

โดย....เอกชัย จั่นทอง

แม้ว่าบ้านพักศาลตุลาการเชิงป่าดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ไม่บานปลายกลายเป็นข้อพิพาทมหากาพย์ รัฐบาลสามารถยุติปัญหาขัดแข้งกับภาคประชาชนได้ โดยรัฐบาลห้ามเข้าไปอยู่อาศัยพร้อมกับส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เข้ามาดูแลจัดการ และฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับเขียวขจีเหมือนเดิม

ในเรื่องนี้มีนักวิชาการที่คลุกคลีกับสิ่งแวดล้อมมานานอย่าง ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนบทเรียนราคาแพงครั้งนี้ว่า สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง กลุ่มที่เรียนมาสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะบอกสิ่งแวดล้อมไปทางเชิงกายภาพและออกแบบสิ่งต่างๆ ให้มลพิษลดน้อยลง

แต่ในมลพิษน้อยลงก็จะเห็นว่าบางครั้งชุมชนบอกว่า ถึงแม้จะได้มาตรฐานแต่คุณภาพอากาศยังใช้ไม่ได้นั่นเป็นสังคมศาสตร์ เช่นเดียวกับนิติศาสตร์ ถ้าเห็นว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานก็ไม่สามารถทำอะไรได้ อันนี้เป็นบทเรียนให้เห็นว่าการมองสิ่งแวดล้อมไม่สามารถมองเพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเท่านั้น

"ตรงนี้ไม่สามารถโทษใครได้ เพราะต่างคนต่างทำภารกิจของ ตัวเอง แน่นอนว่าตรงนี้บทเรียนว่าหากจะทำโครงการอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ต้องพึงสังวรไว้ว่าเรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ" ธงชัย ให้ความเห็น

ในส่วนทางออกการพูดคุยจนได้ข้อสรุปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ธงชัย มองว่าเป็นเรื่องดี เป็นการแก้ไขปัญหาโดยทุกคนยอมรับ แม้อาจจะไม่มีใครได้ประโยชน์ 100% แต่ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือชนะ เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ ถ้าได้ผืนป่าคืนแล้วต้องทุบบ้าน ตึกทิ้งถือว่าเสียเงินงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ การหาทางออกร่วมกันคือการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

เช่นเดียวกับ เพ็ญโฉม แซ่ตั้งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า เรื่องนี้สะท้อนวิธีคิดและเรื่องธรรมาภิบาล เพราะโครงการนี้อนุมัติได้อย่างไร ทั้งที่การอนุรักษ์ป่าไม้มีความสำคัญ จนไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่าโครงการ นี้ไม่ปกติ ส่วนข้าราชการระดับสูง ไม่ใช่ว่าจะไม่ทราบความอ่อนไหวเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ ควรมีการคัดค้านก่อนจะเริ่มต้นก่อสร้าง

"ถ้าหากว่าภาคประชาชนไม่ลุกขึ้นมาคัดค้าน มันจะไม่สามารถหาข้อยุติได้ นั่นหมายถึงว่าหากหยุดโครงการ ไม่ได้ ปัญหาความเสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้ ระบบนิเวศ จะเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งถ้าประชาชนไม่เข้มแข็งจะ ไม่สามารถหยุดกระบวนการนี้ได้ตามปกติ จึงสะท้อนวิธีคิดของข้าราชการระดับสูงในรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เลยสะท้อนออกมาว่าต้องใช้พลังมวลชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แท้จริงไม่อยากให้เกิดขึ้น" เพ็ญโฉม ระบุ

เพ็ญโฉม มองเรื่องนี้อีกว่า ต้องการเห็นความชอบธรรมที่มากกว่าปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศ กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องผูกพันกับนโยบาย ประโยชน์ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ไม่สามารถหาบรรทัดฐานที่ดีได้ จึงหวังว่ากรณีนี้จะทำให้ความคิด แบบแผนต่างๆ ที่รัฐบาลจะนำไปแก้ไขในวันข้างหน้า ควรต้องมีการทบทวน และรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมมากกว่านี้

ทั้งหมดนี้สะท้อนความเสียหายในเชิงรูปธรรม เสียหายเชิงงบประมาณ ทรัพยากรที่สูญเปล่า และสิ่งที่เสียหายมากที่สุดคือ ความเชื่อถือความศรัทธาที่ประชาชนจะมีต่อข้าราชการ นักการเมือง รัฐบาล มันทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถไว้วางใจได้หากขาดการตรวจสอบ รวมถึงความเสียหายต่อภาพลักษณ์ในกระบวนการยุติธรรม จึงหวังว่ากรณีนี้จะเป็นบทเรียนที่ดีกับผู้เกี่ยวข้อง