posttoday

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์

13 พฤศจิกายน 2559

บันทึกประวัติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสสวนทุเรียนเมืองนนท์

โดย...ส.สต

ข้อเขียนของผู้ใช้นามปากกาว่า โทรทัศน์ ในหนังสือตามรอยจารึก ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ร.อ.นิรันดร์ ศิรินาวิน ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 4 มิ.ย. 2548 เรื่องเมื่อวันเสด็จประพาสสวนทุเรียนเมืองนนท์ เป็นเรื่องพระราชจริยวัตรที่ควรจดจารึก เรื่องนี้พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารชาวกรุง ฉบับเดือน ก.ค. 2496 และพิมพ์ซ้ำในชาวกรุงฉบับพิเศษ โดยโปรยเรื่องไว้ดังนี้

ในปี พ.ศ.นั้น ข่าวที่ชาวกรุงเห็นความสำคัญมาก และควรแก่การสนใจของพสกนิกรชาวไทยทั่วไป ก็ได้แก่ข่าวเสด็จประพาสสวนทุเรียนเมืองนนท์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2496

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์ ระหว่างเสด็จฯ ทอดพระเนตรสวนทุเรียน (พลับพลาที่ประทับอยู่ทางด้านล่าง)

ชาวกรุงรายงานข่าวนี้ไว้ในหนังสือฉบับประจำเดือน ก.ค. 2496 เรื่องและภาพล้วนแต่น่าปลาบปลื้มและประทับใจ โดยเฉพาะจะเป็นความรู้ที่อาจยังไม่รู้สำหรับคนรุ่นใหม่ เราได้คัดมาลงไว้ โดยคงไว้ซึ่งสำนวนเดิมทุกประการ แต่เสียตรงที่รูปเดิมหาไม่ได้ จึงจำเป็นต้องถ่ายเป็นรูปอัดสำเนา จึงมัวซัวไปบ้าง ต้องขอพระราชทานอภัย และขออภัยท่านผู้อ่านไว้ด้วย เรื่องนี้ใช้เวลาอ่าน 5 นาที

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์ ขุนบุรีภิรมย์กิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี สุเทพ รัตนเสวี สมาชิกสภาผู้แทน จังหวัดนนทบุรี และ น.ต.นิรันดร์ ศิรินาวิน ร.น. เฝ้าฯ รับเสด็จที่ท่าน้ำ

17 มิ.ย. 2496

แม้ว่าตอนเช้าตรู่วันนั้น จะมีฝนโปรยปรายบ้างเล็กน้อย แต่พอล่วงเข้าตอนสายอากาศกลับปลอดโปร่ง ท้องฟ้าแจ่มใสขึ้น เสมือนหนึ่งเป็นศุภนิมิตอันดี ครั้นเวลาประมาณ 10 น. เศษ เรือพระที่นั่งตะวันส่องแสง ซึ่งติดตามด้วยเรือประจำทวีป และขบวนเรืออารักขาก็แล่นเข้าเขตจังหวัดนนทบุรี ประชาชนที่มาคอยเฝ้าชมพระบารมีทั้งบนฝั่งและลอยเรืออยู่ในลำน้ำต่างเปล่งเสียงไชโยโห่ร้องขึ้นอื้ออึง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทรงโบกพระหัตถ์ช้าๆ ขณะที่เรือแล่นเอื่อยขึ้นตามลำน้ำ จนกระทั่งถึงบ้านชั้นเดียวหลังใหญ่ทาสีครามอ่อนปลูกอยู่ริมน้ำที่ตำบลบางกระสอ เรือจึงชะลอเครื่องยนต์เบาลง แลเข้าจอดเทียบท่าสะพานน้ำซึ่งจัดถวายไว้เป็นพิเศษ

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์ คุณยายคนหนึ่ง ทูลเกล้าฯ ถวายของแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อเสด็จประพาสสวนเมืองนนท์ปี 2496

ขณะนั้นเองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์ชุดสากลสีขาว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ก้าวขึ้นจากเรือด้วยพระพักตร์อันยิ้มแย้ม แสดงถึงความเบิกบานพระราชหฤทัยประชาชนชาวนนทบุรีที่มาเฝ้าแหน จึงได้มีโอกาสชมพระบารมีพระมหากษัตริย์ของเขาอย่างเต็มตาและใกล้ชิดเป็นครั้งแรกในคราวนี้

ในบทความนี้เล่าถึงความเป็นมาในการเสด็จประพาสสวนทุเรียนเมืองนนท์ เพื่อทอดพระเนตรสวนทุเรียนอันเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อลือชาของจังหวัดนนทบุรีรวมถึงความเป็นอยู่ของราษฎรนั้น ว่าประชาชนทราบล่วงหน้ามาก่อนบ้างแล้ว เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ขุนบุรีภิรมย์กิจ (พริ้ม จารุมาศ) ต้องออกพื้นที่สำรวจพื้นที่ตั้งแต่เชิงสะพานพระราม 6 ขึ้นไป แต่หาสวนที่เหมาะไม่ได้ บางสวนไม่มีทุเรียนเหลืออยู่บางสวนสมบูรณ์แต่ไม่ได้อยู่ติดริมน้ำ ในที่สุดได้สวนนายประวิทย์ สงวนเงิน แต่เจ้าของลังเลเพราะเกรงจะปฏิบัติไม่ถูกต้อง แต่ก็ตกลงเมื่อทางจังหวัดบอกว่าไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสอยมังคุดในสวน

เพื่อถวายความปลอดภัย และความ สะดวก ทางจังหวัดเกณฑ์นักโทษ 100 คนมาปรับพื้นที่และสร้างพลับพลาด้วยไม้ไผ่ รวมทั้งจัดปะรำสำหรับผู้ติดตาม ส่วนทางเสด็จพระราชดำเนินได้ใช้ไม้กระดานมาปูบนคันสวน นอกจากนั้นหาลวดผูกที่ขั้วทุเรียนเป็นการป้องกันไม่ให้ตกเพราะบางลูกก็จะสุกแล้ว

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินี และผู้ตามเสด็จจำนวนหนึ่ง เสด็จตามที่จัดถวายนั้น พระองค์โปรดซักถามถึงชนิดและวิธีปลูกรวมถึงการใส่ปุ๋ยและการบำรุงดูแล เสด็จผ่านสวนใดเจ้าของสวนได้นำผลไม้สวนนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทุกสวนไป รวมทั้ง ถวายกระจง (ไม้สอย) ให้สมเด็จพระราชินี ทรงสอยมังคุดด้วย ทั้ง 2 พระองค์ทรงสำราญพระอิริยาบถตลอด

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์ เสด็จฯ ประทับบนบ้าน ประวิทย์ สงวนเงิน

เมื่อประทับที่พลับพลา พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรภูมิประเทศรอบๆ อย่างพอพระราชหฤทัย และทางจังหวัดจัดเรืออาหารมาจอดที่ท่าน้ำหลายลำ อาหารหลายประเภท เมื่อถึงเวลาเสวยพระกระยาหารกลางวัน ทรงสั่งมหาดเล็กให้ระงับการตั้งโต๊ะเสวยพระกระยาหารที่เตรียมมา เพราะมีพระราชประสงค์ที่จะเสวยอาหารพื้นเมืองที่ทางจังหวัดจัดมาทางเรือ เมื่อมหาดเล็กจัดภาชนะที่ใช้บรรจุพระอาหารถวายก็ไม่ทรงโปรด กลับรับสั่งให้แม่ค้าจัดขึ้นมาด้วยชาม และตะเกียบดำๆ และประทับเสวยที่เก้าอี้ มิได้ประทับโต๊ะเสวยที่เตรียมไว้ ทรงยกชามและตะเกียบด้วยพระอิริยาบถเช่นเดียวกับสามัญชน

ผู้ใกล้ชิดเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอารมณ์เบิกบานและเสวยได้มากเป็นพิเศษ ทรงโปรดแกงปลาไหล และไอศกรีม เป็นพิเศษต่อจากนั้นได้พระราชทานเงิน เหรียญทองชนิด 50 สตางค์ ห่อผ้าขาวจำนวน 1 ตำลึง เป็นเงินก้นถุงแก่แม่ค้าทุกคนที่จัดอาหารมา

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์ เสด็จฯ ขึ้นประทับบนบ้าน ประวิทย์ สงวนเงิน และมีพระราชปฏิสันถารกับเจ้าของบ้าน

เจ้าหน้าที่จัดฉีกทุเรียนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทุเรียนที่ทูลเกล้าฯ ถวายมีชนิดต่างๆ เช่น ก้านยาว กบ มะไฟ ซึ่งล้วนแต่เป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียง ทรงโปรดและชมทุเรียนชนิดกบ ว่ามีรสหวานและมันจัดมา

ก่อนเสด็จกลับ ได้เสด็จขึ้นประทับบนบ้านเจ้าของสวนทุเรียน แล้วทรงปฏิสันถารถึงความเป็นอยู่และอาชีพที่กระทำอยู่ แล้วพระราชทานหีบบุหรี่ถมเงินจารึกพระปรมาภิไธยย่อแก่นายประวิทย์ สงวนเงิน 1 หีบ และพระราชทานให้แก่ผู้ที่มาคอยเฝ้าติดตามในการเสด็จครั้งนี้คนละ 100 บาท พร้อมกับเงินเหรียญ 1 ตำลึง

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์ หีบบุหรี่ถมเงินจารึกพระปรมาภิไธยย่อที่พระราชทานให้แก่ประวิทย์ สงวนเงิน

ก่อนที่จะทรงก้าวลงเรือ ได้รับสั่งแก่ผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จและนำเสด็จด้วยประโยคสั้นๆ ว่า ขอบใจทุกคน พร้อมทรงถ่ายภาพผู้มาส่งเสด็จด้วยพระองค์เอง

เมื่อเรือเคลื่อนออกจากท่า ก็ทรงโบกพระหัตถ์ด้วยพระอาการร่าเริงแจ่มใส บรรดาผู้มาเฝ้าบริเวณนั้นเปล่งเสียงไชโยด้วยความปลาบปลื้ม และเต็มตื้นในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์ บ้านแสงประภา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นนทบุรี ที่เสด็จประพาสสวนทุเรียน เมื่อ 17 มิ.ย. 2496

 หมายเหตุ : สำหรับภาพในหนังสือตามรอยจารึกนี้เป็นภาพถ่ายจริงที่ได้บันทึกไว้ในคราวเสด็จประพาสครั้งนั้น ซึ่งโพสต์ทูเดย์สแกนจากหนังสือตามรอยจารึกเล่มดังกล่าว

เมื่อวันเสด็จประพาส สวนทุเรียนเมืองนนท์