posttoday

กรธ.กางแผนสู้ศึกประชามติ หวังให้ผ่านเพื่อเดินหน้า

09 พฤษภาคม 2559

"แน่นอนว่าคนทำร่างรัฐธรรมนูญก็อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการที่ประชาชนได้เรียนรู้ในทางการเมือง และได้เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญเพราะประชาชนจะมีบทบาทในการดูแลบ้านเมืองต่อไป"

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ถนนการเมืองทุกสายกำลังมุ่งหน้าไปที่การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. ทว่าระหว่างทางกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลังจากฝ่ายที่เห็นต่างกับร่างรัฐธรรมนูญทยอยออกมาปรากฏตัวให้เห็น ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงก็เริ่มปฏิบัติเล่นจริงจับจริงให้เห็นแล้ว

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ว่ามาทำให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ถึงกระนั้นเอง กรธ.ก็ได้เตรียมแนวทางชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าใครจะมีชุดความคิดและความเชื่ออย่างไรก็ตาม

ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการ กรธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นประชาชน ใน กรธ. ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดทำแผนที่การเดินทางบนถนนสายประชามติให้กับ กรธ. เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไว้อย่างน่าสนใจ

“ความคาดหวังของเรา คือ ต้องการให้ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงประชามติเห็นความสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นการบ้านการเมืองจะได้เริ่มต้นในเรื่องของการบริหารราชการและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาพื้นฐานหลักๆ รวมถึงได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนแข็งแรง”

“แน่นอนว่าคนทำร่างรัฐธรรมนูญก็อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการที่ประชาชนได้เรียนรู้ในทางการเมือง และได้เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนจะมีบทบาทในการดูแลบ้านเมืองต่อไป”

สำหรับแผนการดำเนินการของ กรธ.โดยสังเขป อาจารย์ชาติชาย แจกแจงว่า จากเป้าหมายตรงนี้เราก็ได้วางโครงความคิดและงานไว้ ว่านอกเหนือไปจากการใช้สื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจแล้ว ส่วนสำคัญที่สุด คือ ต้องมีคนเข้าไปอธิบายให้ประชาชน แบบจับเข่าคุยกัน โดยได้วางแนวทางไว้ 3 แนวทาง ได้แก่

1.ผ่านส่วนราชการตามพื้นที่ในทุกหมู่บ้าน เช่น กรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กรรมการกองทุนหมู่บ้าน ทั้งหมดมีประมาณ 8 หมื่นหมู่บ้าน คิดเป็นจำนวนราว 3.2 แสนคน ซึ่งจะทำหน้าที่เคาะประตูบ้าน

2.กลุ่มสภาองค์กรชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เราจะขออาสาสมัครตำบลละหนึ่งคน เพื่อคุยเรื่องรัฐธรรมนูญกับสมาชิกขององค์กรที่อยู่ในตามแต่ละตำบล และ

3.กลุ่มพื้นที่เฉพาะ อย่าง กทม.ซึ่งเป็นเขตเมืองใหญ่ เราได้ขอให้มีอาสาสมัครที่ชุมชน ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ กทม.ประมาณ 2,063 ชุมชน โดยจะให้มีตัวแทนอาสาสมัครชุมชนละ 2 คน เมื่อเป็นอย่างนี้จะมีอาสาสมัครใน กทม.ราว 4000 คน

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเมื่อมีการลงสนามจริง อาจารย์ชาติชาย คาดว่าประชาชนจะสอบถามเนื้อหาสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ การศึกษาและสาธารณสุข

“การอธิบายร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนเราจะเน้นไปทีละหมวดว่ามีสาระสำคัญเรื่องอะไรบ้าง แต่ละเรื่องนั้นมีความหมายว่าอย่างไร ทำไมต้องเขียนอย่างนี้ มีความแตกต่างจากอดีตอย่างไร ถ้าเป็นบทบัญญัติที่เขียนขึ้นมาใหม่ จะเป็นการบัญญัติมาเพื่ออะไร อย่างเรื่องการศึกษา เราต้องบอกว่าต่างกับของเก่า เพราะเราเริ่มตั้งแต่เด็ก ของเก่าและของเราให้การศึกษาฟรี 12 ปีเหมือนกัน แต่ของเก่าเริ่มจาก ป.1 ของเราเริ่มจากเด็กเล็กมาถึง ม.3 บางคนอาจถามว่าแล้ว ม.4-ม.6 และอาชีวศึกษา ฟรีหรือไม่ เราบอกว่าไม่ได้ฟรีก็จริง แต่ไม่ได้ห้าม เพราะถ้ารัฐบาลไหนก็ตามมีเงินและอยากจะให้ฟรี ก็ทำได้ แต่เราเขียนกำชับว่าเมื่อพ้น ม.3 ไปแล้ว เด็กคนไหนอยากเรียนอะไร รัฐต้องจัดให้ได้เรียนตามความถนัด”

“อีกเรื่องที่น่าจะมีประชาชนถามมาก คือ เรื่องสาธารณสุข เช่น อาจถามว่าบัตรทองหายไปไหน เพราะในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเอาไว้ ซึ่งจริงๆ แล้วยังไม่มีการยกเลิก เพราะยังให้ทำต่อไปได้ แต่เราไปเน้นย้ำว่าต้องดูแลการบริการให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดให้ฟรีทุกคน คนยากไร้ต้องได้รับการดูแล ซึ่งจะต้องอธิบายกันไป”

กรธ.กางแผนสู้ศึกประชามติ หวังให้ผ่านเพื่อเดินหน้า

อาจารย์ชาติชาย ระบุว่า เขาเป็นชาวบ้านค้าขาย หรือประกอบอาชีพรับจ้าง ถ้าเราไปพูดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ เขาก็คงไม่ฟังหรอก เพราะไม่ได้เป็นเรื่องใกล้ตัวเขา เราต้องพูดอะไรที่ใกล้ตัวเขาให้เขาฟัง เพราะเราต้องการให้เขาได้มีการอ่านออกเขียนได้ในเรื่องรัฐธรรมนูญ      

“คนไทยเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญไปต่างๆ นานา และไม่เข้าใจจริงๆ ว่าคืออะไร บางคนไปเข้าใจว่ามันคืออะไรสักอย่าง ถ้ามีเมื่อไหร่ก็ได้เลือกตั้ง บางคนไปเข้าใจว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ก็ไม่ได้เป็นเผด็จการแล้ว เข้าใจไปคนละที่คนละทาง เราก็จะอาศัยการพูดให้เขาเข้าใจ และได้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างไร ทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพ อำนาจของประชาชน อำนาจของภาครัฐ คือ จะทำให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันต้องมีกติกา เหมือนกับการเล่นกีฬาต้องมีกติกาและยอมรับกันและกัน”

พอถามอาจารย์ชาติชายว่าได้ประเมินหรือไม่ ว่าการตัดสินออกเสียงประชามติของประชาชนจะอยู่บนเนื้อหาหรือบรรยากาศทางการเมือง ณ เวลานั้น ก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจว่ายิ่งความขัดแย้งทางการเมืองมีมากเท่าไหร่ การตัดสินใจของประชาชนที่อาจจะไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล

“ต้องมองเป็นสองระดับ ในระดับพื้นฐาน พวกผมต้องการให้ประชาชนเข้าคูหาโดยมีข้อมูลพอสมควร พอแก่การตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และตอบตัวเองถูกว่าฉันรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉันชอบหรือไม่ชอบเรื่องอะไร นี่คือสิ่งที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้น”

“อีกระดับ คือ เป็นเรื่องที่มีพลังทางการเมืองเข้ามา เป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด คือ การต่อสู้ดังกล่าวนับวันทวีความรุนแรง รัฐธรรมนูญมันกลายเป็นเหยื่อ กลายเป็นกระดานที่เขาจะล้มจะตีเพื่อเอาชนะกัน เพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหน้า ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหมดความชอบธรรม”

“ยิ่งในระดับการเมืองมีการเถียงกันมากเท่าไหร่ จะทำให้เกิดเสียงรบกวน พื้นที่ความสนใจของคนที่จะไปลงประชามติจะถูกแย่งไป เขาจะถูกปลุกด้วยอารมณ์”

“ส่วนตัวผมเสียดายเงินนะ 3,000 ล้านบาท ที่ใช้ในการทำประชามติ แต่ไม่เสียดายเท่ากับทำให้คนทั้งแผ่นดินพลาดโอกาสที่จะเข้าใจถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร เพราะจะไปถูกปลุกด้วยอารมณ์ของคนเพียงสองถึงสามกลุ่มเท่านั้น ด้วยการยกวาทกรรมว่ากันไปว่ากันมา สุดท้ายก็ตีกันในเข่งเหมือนเดิม ประเทศก็ช้าไปเรื่อยๆ อันนี้น่าเป็นห่วง”

การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของประชามติยอมรับหรือไม่ยอมรับ คสช.หรือไม่? อาจารย์ชาติชาย ตอบว่า “มันก็มีว่าจะส่อไปทางนั้นโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เอา คสช.ตั้งแต่วันแรก เขาย่อมอาศัยตรงนี้เป็นประเด็นได้ เพราะยิ่งทำให้ คสช.อ่อนแรงทางการเมืองเท่าไหร่ เขาก็จะแข็งแรงขึ้น แต่ถ้า คสช.แข็งแรงมากเท่าไหร่ เขาก็จะอ่อนลง เขาก็มองอนาคตทางการเมืองเขา ประโยชน์ที่จะได้ในทางการเมืองในวันข้างหน้า เขาก็ต้องลดความน่าเชื่อถือวันยังค่ำ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งก็ตาม ต้องโชว์ให้ชาวบ้านเห็นว่าเขาเด่นกว่า คสช.”

สุดท้าย อาจารย์ชาติชาย สรุปว่า มีความคาดหวังว่าประชาชนจะเริ่มตื่นตัว เริ่มอ่านร่างรัฐธรรมนูญและเกิดกระบวนการพูดคุยในระดับครอบครัวหรือระดับอื่นๆ และถ้าจะไปลงคะแนนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะอะไร อย่างน้อยเขาจะได้ตอบตัวเองได้เวลามีใครมาถาม จะได้สมศักดิ์ศรีกับความเป็นพลเมือง นานทีปีหนจะมีการทำประชามติ เพราะไม่มีทุกวัน ดังนั้นไปลงประชามติทั้งทีคุณก็ควรตอบตัวเองได้ว่าฉันลงคะแนนช่องนี้เพราะอะไร กลับมาจะได้นอนหลับสบายใจ