posttoday

"ก้าวไกล"ลั่นไม่หวั่นยุบพรรคห่วงความขัดแย้งในสังคมมากกว่า

11 พฤศจิกายน 2564

เลขาพรรคก้าวไกลชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.ปมล้มล้างจะยิ่งทำให้สังคมไทยหนีห่างออกจากเส้นทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงในสังคมได้ในอนาคต ซึ่งศาลรธน.และเครือข่าย ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 11ก.ย.2564 นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค นำทีม ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงที่รัฐสภากรณี นายณฐพร โตประยูร จะเดินหน้านำหลักฐานยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)พิจารณายุบพรรคก้าวไกล ที่เข่าข่ายล้มล้างการปกครอง นั้นว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลให้ถูกวิพากษ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในข้อกฎหมาย รวมไปถึงการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกวินิจฉัยว่าล้มล้างการปกครองเป็นการกระทำเเบบใดบ้าง ซึ่งไม่ดีต่อสังคมระบอบประชาธิปไตยเลย

ทั้งนี้พรรคก้าวไกล เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะส่งผลให้การหาทางคลี่คลายทางการเมืองในปัจจุบันนี้ยิ่งแคบลง เพราะหลังจากนี้ รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม จะนำเอาคำวินิจฉัยนี้ไปเป็นฐานในการกล่าวหาโจมตีการเเสดงออกของประชาชนและเยาวชนจำนวนมากแบบเหมารวมว่า เป็นขบวนการล้มล้างการปกครอง และอาจเกิดการขีดเส้นแบ่งทางการเมืองแบบสุดขั้ว รุนแรงขึ้น ระหว่างขบวนการล้มล้างการปกครองปีกหนึ่ง กับอีกขั้วหนึ่งปกป้องระบอบการปกครอง ซึ่งพรรคเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา นอกจากนั้น กระบวนการยุติธรรมจะถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางและรุนแรงขึ้นกว่าปัจจุบันว่า มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนกับคดีทางการเมืองหรือไม่

“พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า การคลี่คลายปัญหาความเห็นแตกต่างทางเมืองในปัจจุบัน ต้องอาศัยการเปิดความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจแห่งยุคสมัยอย่างถูกต้อง อย่ามองว่านี่เป็นภัยของชาติ อย่ามองอนาคตของชาติเป็นศัตรู และต้องพยายามแสวงหากุศโลบายที่ดี ในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ให้ได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้จะยิ่งทำให้สังคมไทยหนีห่างออกจากเส้นทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงในสังคมได้ในอนาคต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นศาลรัฐธรรมนูญและเครือข่าย ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ” ชัยธวัช กล่าว

สำหรับข้อกล่าวหาในการยุบพรรคก้าวไกล ทั้งในกรณี ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ไปร่วมสังเกตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และใช้หลักทรัพย์ประกันตัวช่วยเหลือผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีทางการเมือง รวมถึงการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฐานความผิดหมิ่นประมาท รวมทั้งมาตรา 112 ก็ตาม พรรคก้าวไกล ยังยืนยันว่าไม่เข้าเหตุในการยุบพรรค เพราะเป็นการใช้สิทธิและทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ที่ดีของประชาชน เป็นการประกันสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า หากการไปประกันตัวผู้ที่ถูกกล่าวตามคดี ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง หลังจากนี้สังคมไทยต้องระบุให้ชัดเจนว่า ข้อหาไหนบ้างต้องไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวโดยเด็ดขาด เพราะถือเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ปัจจุบันไม่ว่าประชาชนจะถูกเเจ้งข้อกล่าวหาใดก็ตาม ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่จะได้รับการประกันตัวออกมาจนกว่าจะมีคำพิพากษาไปถึงที่สุด และการเสนอกฎหมายก็เป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ในระบบปกติอยู่แล้ว ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นการกล่าวหาเท็จ และมีเจตนาที่จะทำลายล้างทางการเมือง

"ไม่กังวลต่อการยุบพรรค แต่ไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อม และมองว่าสังคมไทยก็ต้องเตรียมตัวเช่นกัน ต้องไม่อนุญาตให้ยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุจูงใจเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้ากระบวนการทางยุติธรรมทางการเมืองยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตนคิดว่าจะเป็นระเบิดลูกใหญ่ในอนาคตต่อสังคมไทย เป็นคำถามว่าสังคมไทยจะเตรียมตัวยังไง และใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบของการกระทำนั่นในอนาคต เราจะต่อสู้อย่างถึงที่สุดไม่ว่าจะมีแรงเสียดทาน"นายชัยธวัช กล่าว

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยังยืนยันที่จะต่อต้านการปกครองของเผด็จการคณะรัฐประหาร และฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเรายืนยันที่จะสู้เพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของประชาชน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการสร้างชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ หากเราถอยห่างจากหลักการแบบนี้ ก็คงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะมีพรรคการเมืองอย่างพวกเราอยู่ เรายืนยันที่จะต่อสู้เคียงข้างพี่น้องประชาชน” เลขาธิการพรรค กล่าว

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กหลังทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินให้การเคลื่อนไหวของ 3 แกนนำราษฎร เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยตั้งชื่อเรื่องว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะขีดเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงและคับแคบให้แก่สังคมไทย" โดยมีเนื้อหาของโพสต์ดังต่อไปนี้

"ในขณะที่การประชุม Universal Periodic Review หรือ UPR ของสหประชาชาติเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ หลายประเทศตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงถึงท่าทีของประเทศไทยต่อเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยตัวแทนของประเทศไทยพยายามแก้ต่างกับนานาชาติว่าเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นประเด็นที่คนไทยสามารถถกเถียงและแก้ไขกฎหมายได้ผ่านกลไกรัฐสภา

ตัดภาพกลับมาที่ศาลรัฐธรรมนูญในเวลาไล่เลี่ยกัน ศาลได้วินิจฉัยให้การกระทำรวมถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเพื่อขอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง ซึ่งคำวินิจฉัยที่น่ากังขานี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ตัวแทนประเทศไทยได้ชี้แจงกับนานาประเทศ

แต่ที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ ผลของคำวินิจฉัยในวันนี้อาจจะนำพาสังคมไทยมุ่งหน้าไปบนเส้นทางที่น่าเป็นห่วง สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญทำในวันนี้เป็นมากกว่าคำวินิจฉัย แต่เป็นการขีดอนาคตประเทศไทยให้เดินไปตามเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงและคับแคบ