posttoday

กรธ.โต้"ช่อ"แจงยิบข้อเท็จจริงยกร่างรธน. ยัน เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นประชาชน

17 กันยายน 2562

คณะกรรมการร่างรธน. แจงยิบ ความจริงในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ยัน เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน - จัดทำโพลล์สำรวจ เพิ่มหมวดปฏิรูปครอบคลุมทุกด้าน

คณะกรรมการร่างรธน. แจงยิบ ความจริงในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ยัน เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน - จัดทำโพลล์สำรวจ เพิ่มหมวดปฏิรูปครอบคลุมทุกด้าน

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. เฟซบุ๊ก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 โพสต์ข้อความ ระบุว่า ความจริงในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560: คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งขึ้นมาโดยผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จตามกรอบระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2558 โดยได้ประชุมกันครั้งแรกเมื่อ วันที่ 7 ตุลาคม 2558

ระหว่างจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เพียงแต่จะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป โดยเปิดรับความคิดเห็นโดยตรงจากประชาชนผ่านระบบการสื่อสารในหลากหลายรูปแบบทั้งทางเวปไซต์ อีเมล์ ระบบไปรษณีย์ โทรสารก็มี ซึ่งมีประชาชนทั่วไปเกือบทุกสาขาอาชีพ นักวิชาการ นักการเมือง แม้แต่พรรคการเมืองเอง ส่งข้อเสนอแนะเข้ามาถึง 526 ฉบับ

กรธ. ยังได้นำ “ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน” ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ชุดศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) จัดทำไว้ก่อนนั้นมาประกอบการพิจารณาด้วยเพราะได้มีการรับฟังอย่างเป็นระบบไว้แล้ว

นอกจากนี้ ถ้ายังไม่ลืมกัน กรธ. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ต่ำกว่า 40 เวทีในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีคณะอนุกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายชุดหลายคณะ เช่น อนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ อนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ฯลฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมากในแต่ละเวที ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองของพี่น้องประชาชน

การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายครั้งหลายคราวนี้ รวมทั้งเปิดช่องทางการสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางนี้ จัดขึ้นทั้งก่อนและระหว่างการยกร่าง ไม่เว้นแม้แต่ทั้งขั้นตอนการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการวางรากฐานใหม่ในการยกร่างกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่เน้นหนักเรื่อง “การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย”

นอกจากนี้ กรธ. ยังได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหลากหลายประเด็นในหลายครั้งหลายคราว เกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญด้วย

ในการสำรวจแต่ละครั้งก็ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก เช่น การสำรวจความคิดเห็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2558 เรื่องความเป็นพลเมืองหน้าที่พลเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชนใช้กลุ่มตัวอย่าง 5,800 คน สำรวจครั้งที่สองในประเด็นเดียวกันแต่มีรายละเอียดเพิ่มเติม ได้สำรวจความเห็นของประชาชน 78,160 คน เป็นต้น

นอกจากนั้น เมื่อจัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จแล้ว ก็ได้เปิดเผยและส่งมอบร่างดังกล่าวไปยังสถาบัน หน่วยงานและองค์กรต่างๆเพื่อรับทราบความคิดเห็นเพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น

การรับฟังเสียงสะท้อนนี้ไม่เพียงแต่จะส่งไปหรือมีมาจากองค์สำคัญในขณะนั้น เช่น ศาล องค์กรอิสระ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ฯลฯ แล้วยังมีเสียงสะท้อนจาก “พี่น้องประชาชน” ทั่วไปด้วย

หลังจากนั้น กรธ. ก็ได้นำข้อเสนอแนะต่างๆมาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในหลายประเด็น เช่น การเพิ่มสิทธิให้ประชาชนในการติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการตามบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ประชาชนและชุมชนย่อมมีสิทธิจะติดตาม และเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมทั้งฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 51) หรือการแก้ไขมาตราต่างๆซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชน อีกหลายมาตรา

อีกทั้งยังได้เพิ่มเนื้อหาในหมวดปฏิรูปขึ้นใหม่ตามที่ คสช. ครม. เสนอซึ่งตรงกับข้อเสนอแนะของประชาชนบางส่วนด้วย

เนื้อหาในหมวดปฏิรูปนี้เริ่มตั้งแต่มาตรา 257-261 เนื้อหาครอบคลุมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และอื่น ๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศในระยะต่อไปมีความยั่งยืน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว

ในเรื่องการปฏิรูปมีเนื้อหาที่เป็นการกำหนดให้มีกระบวนการปรับปรุงกระบวนการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมที่มีประชาชนประสบอยู่และสะท้อนผ่านกลไกต่างๆทางสังคมกันอย่างต่อเนื่อง

อาทิ ในด้านการศึกษาที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางปัญญา มุ่งให้ทรัพยากรมนุษย์ของชาติเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเขี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ไม่คิดเห็นแก่ตัว ให้เรียนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตั้งแต่เด็กเล็ก เพื่อลดภาระผู้ปกครอง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

กำหนดให้มีการปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน รวมทั้งให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม

ในด้านกระบวนการยุติธรรมนั้น ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาให้มีการกําหนดระยะเวลาดําเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า

กำหนดให้มีการปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวน กับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กําหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ กําหนดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ เกิดจากการเสนอแนะและรับฟังความคิดเห็นจากสถาบัน หน่วยงานองค์กรต่างๆ และประชาชนทั้งสิ้น

ที่สำคัญ ได้มีการจัดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลง “ประชามติ” ว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ซึ่งเป็นการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ของประเทศ และปรากฏว่ามีผู้เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 16,820,402 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 61.35

จากข้อเท็จข้างต้นนี้ ย่อมบ่งชี้ชัดเจนว่า การที่มีบุคคลกล่าวพาดพิงถึง กรธ.และรัฐธรรมนูญ 2560 หลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าขาดการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนนั้นจึง “ไม่เป็นความจริง” และอาจเข้าข่ายเป็นความประพฤติที่ขาด “สัมมาวาจา” เพราะไม่ได้กล่าว “ความจริง” อันชวนให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิด เกิดความเกลียดชัง ความแตกสามัคคี ขึ้นในหมู่ชน

อดีต กรธ.ทั้งหมดรับฟังและน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะได้ทำเช่นนั้นตลอดมา แต่ปรารถนาให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และประกอบไปด้วยความจริงเป็นสำคัญ เพราะการวิจารณ์โดยอคติและเหมารวมนั้นจะทำให้สังคมเข้าใจผิดซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อความพยายามของทุกฝ่ายที่จะนำบ้านเมืองให้พ้นจากหล่มอคติที่เป็นปัญหามายาวนาน

อีกทั้งจะเป็นปัญหากับผู้กล่าวเองเพราะการบริภาษรัฐธรรมนูญแบบเหมารวม จะทำให้สถาบันและองค์กรต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้รับผลกระทบจากการกล่าวถ้อยคำเหล่านั้นด้วย

จึงเรียนมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน