posttoday

"มีชัย"ชี้ข้อเสนอ "สมศักดิ์" เป็นไปได้แต่ลำบาก

14 ธันวาคม 2560

"มีชัย" อัดแนวคิดแก้ พรบ.พรรคการเมือง หวังเลื่อนเลือกตั้งแค่พวกเพ้อฝัน มอง ข้อเสนอ “สมศักดิ์” แก้รธน.เปิดทางให้สส.ไม่สังกัดพรรคเป็นไปได้แต่ลำบาก

"มีชัย" อัดแนวคิดแก้ พรบ.พรรคการเมือง หวังเลื่อนเลือกตั้งแค่พวกเพ้อฝัน  มอง ข้อเสนอ “สมศักดิ์” แก้รธน.เปิดทางให้สส.ไม่สังกัดพรรคเป็นไปได้แต่ลำบาก

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า แนวคิดที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง นั้น การจะแก้กฎหมายเหตุอาจจะแก้เพราะใช้ไม่ได้ หรือเวลาไม่พอ ถ้าเวลาไม่พอก็แก้เพื่อขยายเวลาได้ หรือแก้เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือถ้าอยากจะเซ็ตซีโร่ แล้วกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ก็ไปแก้ให้เซ็ตซีโร่ได้ ไม่เป็นไร

อย่างไรก็ตาม ตอนที่ร่างไม่มีข้อเสนอเรื่องเซ็ตซีโร แต่เมื่อคนที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนใจก็ไม่เป็นไร แต่ในขณะนั้นกรธ.ทำในสิ่งที่คิดว่าทำดีที่สุด  เมื่อคนที่จะใช้บอกว่าไม่เอา จะเอาอีกอย่างก็จะไม่โต้เถียง ส่วนจะถูกวิจารณ์ว่าร่างไม่ดีจนต้องแก้ก็ไม่ขอตอบโต้

ส่วนที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ระบุว่า การแก้กฎหมายต้องใช้เวลาอย่างน้อย2เดือน อาจกระทบกับโรดแมปเลือกตั้ง นายมีชัยกล่าวว่าต้องไปถามนายพรเพชร แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าจะแก้อะไรบ้าง ซึ่งส่วนตัวไม่ติดใจเพราะเราทำเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ในความรับผิดชอบของคนอื่น หากมีการแก้ไขจนกระทบกับโรดแม็ปเลือกตั้งก็ไม่เกี่ยวกับกรธ.แล้ว เพราะเราทำทุกอย่างตามโรดแม็ป

“คนที่ออกมาตั้งข้อสังเกตว่ามีขบวนการสมคบคิดแก้กฎหมายเพื่อเลื่อนเลือกตั้งเป็นคนที่เพ้อฝันไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง สังคมอย่าไปเพ้อฝันตาม”

นายมีชัย กล่าวว่า  กฎหมายปัจจุบันได้ให้ความเท่าเทียมกับทุกพรรคการเมืองเท่าที่จะทำได้ โดย พรรคเก่าอาจได้เปรียบพรรคใหม่อยู่บ้าง แต่กรธ.ไม่ได้คิดเรื่องเซตซีโร เวลานี้ก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะแก้อย่างไร อย่าเอาความระแวงไปถามคนนั้นคนนี้แล้วเอาคำตอบไปวิจารณ์ต่อเพราะไม่เป็นธรรม

นายมีชัย กล่าวว่า ข้อเสนอของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตสส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองเป็นเวลา1 ปี ว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้ แต่ลำบากเหมือนจะทำให้ผู้หญิงเป็นผู้ชาย ทำได้แต่ลำบาก การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก ซึ่งตามช่องทางขณะนี้อำนาจของคนที่จะเสนอแก้ไขได้คือสนช. แต่ถ้ากระทบบางเรื่องต้องไปทำประชามติ ซึ่งต้องไปดูด้วยว่าประเด็นที่จะแก้ไขเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องทำประชามติด้วยหรือไม่