posttoday

การตายของนักคิด

15 กุมภาพันธ์ 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร         

************************

นักคิดก็เป็นคน ยังไงก็ต้องตาย แต่การตายของนักคิดแต่ละคนก็มีที่โด่งดังบ้าง ไม่ดังบ้าง ที่โด่งดังที่สุดก็คงไม่พ้นการตายของ โสกราตีส บางคนถึงกับกล่าวว่า ถ้าไม่นับการตายของพระเยซูแล้ว การตายของโสกราตีสถือว่าเป็นที่รู้จักรับรู้กันมากที่สุด โสกราตีสตายเพราะถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการดื่มยาพิษ เขาเข้าสู่เส้นทางแห่งความตายอย่างไม่สะทกสะท้าน ขณะที่มิตรสหายของเขาต่างพากันร่ำไห้โศกเศร้า

  

การตายของนักคิด

คดีความที่โสกราตีสถูกฟ้องตกเป็นจำเลยก็ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่คนจำนวนไม่น้อยในโลกเคยได้ยินได้ฟัง เขาถูกฟ้องว่าในข้อหามอมเมาเยาวชนและหมิ่นเทพเจ้าของบ้านเมือง ซึ่งข้อหาในลักษณะเดียวกันนี้-หมิ่นเทพเจ้าของบ้านเมือง-ก็มาเกิดกับ อริสโตเติล ผู้มีศักดิ์เป็นหลานศิษย์ของโสกราตีส แต่อริสโตเติลไม่ยอมรับชะตากรรมอย่างโสกราตีส ผู้มีศักดิ์เป็นอาจารย์ปู่ของเขา อริสโตเติลให้เหตุผลดูน่าฟังว่าเขา “ไม่อยากให้ชาวเอเธนส์ต้องทำผิดซ้ำสองต่อ ‘ความรักในความรู้’” นั่นคือ เขาไม่อยากให้ชาวเอเธนส์ต้องตกเป็นจำเลยในประวัติศาสตร์มากกว่าหนึ่งครั้ง หลังจากที่ศาลประชาชนเอเธนส์ตัดสินลงโทษโสกราตีสผู้เป็นบิดาแห่งปรัชญาไปแล้วครั้งหนึ่ง ว่าแล้วอริสโตเติลก็โกยอ้าวหนีคดีไปนั่นเอง! เขาหนีไปอยู่กับญาติข้างแม่ และก็โชคดีที่แก่หรือเจ็บป่วยตายไปเอง ไม่ต้องตายเพราะถูกประหารชีวิต

การตายของนักคิด

ยิ่งโสกราตีสตายแบบให้คนต้องจดจำฉันใด สายธารแห่งความคิดของเขาก็มีผู้คนศรัทธาสืบสานเรื่อยมาจนถึงยุคโรมัน ซิเซโร (106-73 ก่อนคริสตกาล) ก็เป็นหนึ่งในผู้คนเหล่านั้น อีกทั้งการตายของซิเซโรก็ดูสง่างามไม่แพ้โสกราตีส เพราะเขายื่นคอให้มือสังหารตัดอย่างไม่สะทกสะท้าน ซิเซโรเป็นคนตรง มีหลักการ มีความกล้าหาญทางจริยธรรมทางการเมือง ปราศจากซึ่งภยาคติ เขาจึงมีศัตรูทางการเมืองมาก หลังจากที่เขาถูกตัดหัวแล้ว ยังถูกตัดมือประจานอีกด้วย เพราะศัตรูเขาเคียดแค้นข้อเขียนของซิเซโรอย่างหนัก แถมเมียของศัตรูยังลากลิ้นออกจากหัวที่ถูกตัดของเขา แล้วเอาปิ่นปักผมทิ่มๆๆๆๆๆๆๆๆ เพราะแค้นกับปากกล้าและโวหารอันคมกริบของเขา

  

การตายของนักคิด

แม้การตายของซิเซโรจะสง่างาม แต่หลังจากตายแล้ว หัว มือ ลิ้น ของเขาถูกทึ้งขนาดนั้น จินตนาการแล้วสุดสยองพองขน

เล่าถึงการตายแบบหนักๆ ของนักคิดไปแล้ว ลองไปดูการตายแบบเบาๆ ก็น่าจะผ่อนคลายลงไปได้บ้าง นักคิดที่ตายแบบเบาๆ ก็คือ นักบุญอไควนัส อยู่ในช่วงปลายยุคกลาง เล่ากันว่า ตอนบั้นปลายของชีวิต แกขี่ลาเดินทางไปเมืองอะไรก็จำไม่ได้ ระหว่างที่ขี่อยู่นั้น กิ่งไม้เกิดหักตกใส่หัว แกเลยปวดหัวไม่สบาย เหล่าพระสานุศิษย์พยายามดูแลพยาบาลบีบนวดกันอยู่หลายวัน แต่ก็เอาไม่อยู่ อไควนัสก็เลยมรณภาพไป แต่แกก็คงไม่คิดอะไรมาก เพราะในระบบคิดของแก ทุกอย่างล้วนกำหนดมาแล้วโดยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เพียงแต่ว่า การตายของแกดูไม่ยิ่งใหญ่ให้น่าจดจำอะไรนักเมื่อเทียบกับโสกราตีสหรือซิเซโร

ส่วนอริสโตเติล ไม่รู้จะพูดยังไง ท่าทางเป็นพวกนกรู้ชอบกล

ที่กล่าวมายังไม่มีการกล่าวถึงการตายของนักคิดด้วยอาการเจ็บป่วยเลย โสกราตีสดื่มยาพิษ ซิเซโรถูกตัดหัว อไควนัสถูกกิ่งไม้หล่นใส่กบาลขณะขี่ลา ส่วนอริสโตเติล ไม่มีใครรู้ว่าตายเพราะอะไรแน่! (คงไม่น่ากล่าวถึงเท่าไร)

นักคิดที่ป่วยเป็นโรคตายและผู้คนมักจดจำกันได้ก็คงไม่พ้น นิทเช นักคิดชาวเยอรมัน เพราะตามชีวประวัติกล่าวว่า เขามีอาการป่วยทางจิต คล้ายๆ จะบ้าว่างั้นเถอะ บางหมอก็บอกว่าเป็นซิฟิลิส บางหมอก็ว่าเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง บางหมอก็ว่าเป็นโรคโน่นนี่นั่น มากหมอมากความ เอาเป็นว่าแต่ละหมอก็บอกคนละอย่าง แต่รวมๆ แล้วก็ออกแนวบ้านั่นเอง นิทเชเองก็ดูเหมือนจะรู้ล่วงหน้า เขาจึงเขียนข้อความอันเป็นปริศนาเกี่ยวกับความตายของเขาไว้ว่า “คนเหนือคนคือผู้ที่ไม่ลดละที่จะปลดแอกจากศีลธรรมทุกประเภทเพื่อที่จะสร้างกฎระเบียบใหม่ ถ้าเขาไม่ได้บ้าจริงๆ ก็ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะต้องทำตัวเขาให้บ้า หรือไม่ก็แกล้งบ้า!”   

     

การตายของนักคิด

ไม้นี้คนไทยเขาก็รู้กันมานานแล้วว่า คนบ้ามักจะบอกว่าตัวเองไม่บ้า แต่นิทเชซ้อนเข้าไปอีกชั้นจนงง คือ ไม่รู้ว่าเขาแกล้งบ้า หรือพยายามทำตัวให้บ้า หรือบ้าจริงๆ แต่ที่ต้องเป็นเช่นนี้ ก็เพราะตัวเองคิดว่าเป็นคนเหนือคน

นักคิดที่ป่วยตายและเป็นที่โจษจันอีกคนหนึ่งก็คือ ฟูโกต์ เขาตายเพราะเป็นเอดส์ ซึ่งตอนแรกๆ ที่เขามีอาการ ฟูโกต์ไม่ยอมรับว่าเป็นเอดส์ และเอดส์เป็นเพียงวาทกรรม แต่หลังจากที่เขาตายไปได้ครบสองปี คู่ขาของเขาออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า การตายของฟูโกต์นั้นเกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ เรื่องนี้จึงมีคติสอนใจว่า วาทกรรมเป็นมายา แต่โรคเอดส์เป็นของจริง!

จากข้างต้น ถ้าจะนับว่านักคิดคนใดตายโหดสุด ก็ต้องยกให้ซิเซโร แต่ถ้าสืบค้นมาจนถึงศตวรรษที่ 20 ก็ต้องยกตำแหน่งตายโหงตายโหดให้ ลีออง ทรอตสกี (Leon Trotsky: 1879-1940)  นักคิดแนวมาร์กซิสต์ เจ้าของตำรับการปฏิวัติถาวรที่มีแก่นคิดว่า แม้งานเลี้ยงจะมีวันเลิกรา แต่การปฏิวัติต้องไม่มีวันละเลิก                 

   

การตายของนักคิด

แล้วใครจะไปทนแกได้ พวกที่ร่วมปฏิวัติรัสเซียกันมา พอได้อำนาจ เขาก็พากันหยุดปฏิวัติกันทั้งนั้น ไม่มีใครจริงจังกันขนาดนั้นหรอก แต่ทรอตสกีไม่ยอม จนสตาลินผู้ครงอำนาจโซเวียตขณะนั้น ต้องส่งมือสังหารไปตามล่าถึงเม็กซิโก มือสังหารได้ใช้ขวานเจาะน้ำแข็งที่นักปีนเขาชอบใช้ จามเข้าไปที่กบาลของทรอตสกีเข้าให้ แต่ทรอตสกีก็เหนียวจริงๆ แม้เลือดและมันสมองจะทะลักไหลออกมามากมาย แต่ก็ยังไม่ยักตายทันที แถมยังทนอยู่ได้เกือบสองวันแล้วค่อยตาย เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว การตายของทรอตสกีนี้น่าจะเหนือกว่าซิเซโร เพราะทรมานกว่ามาก

สุดท้ายขอกล่าวถึงการตายดีของนักคิดบ้าง มีบันทึกกล่าวว่า ในขณะที่เด็กสาวคนหนึ่งกำลังเป่าขลุ่ยบรรเพลงที่ไพเราะเจื้อยแจ้วอยู่ เพลโตนอนอยู่บนเตียงและเคลิ้มหลับไป...และไม่ตื่นอีกเลย แต่อีกคำบอกเล่าก็ว่า เพลโตตายในงานเลี้ยงแต่งงาน และคำบอกเล่าสุดท้ายบอกว่า เพลโตนอนหลับและตายอย่างสงบบนเตียงของเขา (โดยไม่มีเด็กสาวเป่าขลุ่ย!) สิริอายุได้ 76 ปี (บ้างบอกว่าตายตอนอายุ 80) ....ถือว่า ตายดี ตายสบาย ไชโย !

การตายของนักคิด