posttoday

นายกรัฐมนตรีไข่ในหิน

18 มกราคม 2563

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*******************************

เบื่อลุงเบื่อไป แต่จะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้หรือ

ผลพวงจาก “รัฐธรรมนูญฉบับหวงอำนาจ” ทำให้การเมืองไทย “ติดล็อค” อยู่หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ที่มีผลสืบเนื่องมาจากความต้องการที่จะสืบทอดอำนาจของ คสช. จึงจำเป็นที่จะต้องวางกลไกในการเข้าสู่อำนาจในการบริหารคืออำนาจของรัฐบาลนั้นไว้อย่างแน่นหนา เพื่อให้หัวหน้าฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นคนที่ คสช.“กำหนดไว้” เท่านั้น

ผู้เขียนมองย้อนไปในอดีตว่า ประเทศไทยเคยมีปรากฏการณ์แบบนี้บ้างไหม ซึ่งก็ไปเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ตอนที่เรามีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งใน .ศ. 2522 ซึ่งก็ถูกกำกับไว้ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521ที่ได้กำหนดให้ตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ว่า จะต้องเป็นทหารเท่านั้นเช่นกัน และเราก็ได้นายกรัฐมนตรีชื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ สมดังที่ทหารได้วางแผนการดังกล่าวนั้นไว้ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่า “ทหารยังคุยกันรู้เรื่อง” ในสถานการณ์ที่ทหารต้องช่วยกันประคับประคองและรักษาระบบให้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลที่เข้มแข็ง

แต่ยังมีปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลในยุคนั้น ก็คือปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ที่ฝ่ายทหารหัวเก่ายังเชื่อว่าจะต้องใช้กำลังอาวุธเข้าจัดการอย่างเด็ดขาด ในขณะที่ทหารอีกกลุ่มหนึ่งในยุคนั้นที่เรียกว่า “กลุ่มยังเติร์ก” ได้มีมุมมองใหม่ คือเห็นว่าจะต้องใช้ “การเมืองนำการทหาร” แต่ก็คงจะทำให้เกิดความขัดแย้งกับพวกนายทหารหัวเก่า ที่สุดกลุ่มยังเติร์กก็เลยต้องคิดแผนการณ์ใหม่ นั่นก็คือ “เปลี่ยนผู้นำ” อันนำมาซึ่งปรากฏการณ์ “ข้อมูลใหม่” จนกระทั่งเกิดกระแสกดดันเข้าไปในวุฒิสภา รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรนั้นด้วย

“ข้อมูลใหม่” ดังกล่าวนี้ก็คือความต้องการที่จะให้มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ที่รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ยังดำเนินไปตามแนวคิดของรัฐบาลพลเรือนชุดที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ตั้งขึ้นและไล่ลงไปก่อนหน้านี้ โดยที่พลเอกเกรียงศักดิ์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากรัฐบาลพลเรือนชุดดังกล่าว และได้รับการวางตัวจากกลุ่มนายทหารหัวเก่าให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมาภายหลังการเลือกตั้ง ก็ยังดำเนินนโยบาย “ค้อนเหล็ก” หรือการปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วยความรุนแรงนั้น

ที่สุดด้วยแรงบีบทั้งในสภาบนและสภาล่าง โดยการ “ออกแรง” อย่างเต็มที่ของนายทหารกลุ่มยังเติร์ก ได้ทำให้เสียงในสภาส่วนใหญ่เห็นด้วย โดยในสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (ขณะนี้ฝ่ายค้านก็กำลังจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเช่นกัน) เหมือนเป็นการ “ตีปลาหน้าไซ” เป็นสัญญาณเตือนว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างแล้วนะ และดูเหมือนว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ท่านจะเป็น “นกรู้” เพราะในวันที่จะมีการเริ่มอภิปรายไม่ไว้วางใจนั่นเอง ท่านก็ชิงประกาศลาออก ด้วยคำพูดที่สะท้อนถึงความน้อยอกน้อยใจ เหมือนกับว่าท่านจะรู้เรื่องราวทั้งหมดนั้นแล้ว

ผู้เขียนใน พ.ศ. 2523 ได้มาทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นฝ่านค้านที่สำคัญในสภาสมัยนั้น ผู้เขียนได้ติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เข้าไปในสภาทุกๆ ครั้ง และได้คอยช่วยรับโทรศัพท์กับได้ร่วมต้อนรับนายทหารที่มาเยี่ยมเยียนท่านที่บ้านสวนพลูอยู่โดยตลอด จึงพอปะติดปะต่อได้บ้างว่า เหตุการณ์ข้างต้นน่าจะเป็นจริง เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ดูเหมือนจะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี โดยที่ท่านก็ยังได้เขียนบทความซอยสวนพลูในหนังสือพิมพ์สยามรัฐชื่นชมพลเอกเปรม ดังกับว่าท่านรับรู้ถึงแผนการดังกล่าวนั้นด้วย

อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือเหตุการณ์ “เบื่อป๋า” ซึ่งก็หมายถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ใน พ.ศ.2531 โดยคณะนักวิชาการจำนวน 99 คนได้ลงชื่อร่วมกัน เพื่อร้องขอให้พลเอกเปรมฯลาออก ซึ่งรู้จักในชื่อ “ฎีกา 99” ด้วยเหตุผลในฎีกาฉบับดังกล่าว ดังนี้

“1.ความวุ่นวายสับสนในทางการเมือง ความเสื่อมในศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ การแตกแยกสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการและประชาชน เนื่องจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล มิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศ มาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล จนก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนเกินความจำเป็น

2.หากประเทศชาติต้องการดำเนินตามครรลองประชาธิปไตย แบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริงแล้ว การวางตนเป็นกลางของผู้นำทางการเมือง การยึดมั่นในความเป็นธรรม หลักการสันติวิธีในการปรับความเข้าใจและแก้ไขความขัดแย้ง การละเว้นวิธีการปลุกปั่นยุยงหมู่ชน จึงจะเป็นหนทางที่เหมาะสม ในการป้องกันสภาพการณ์ และสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา อีกทั้งจะเป็นบรรยากาศทางการเมือง ที่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและลักษณะของสังคมไทยด้วย”

นั่นก็คือถ้ากลุ่มที่เบื่อลุงตู่ต้องการที่จะให้เกิดกระแสบีบให้พลเอกประยุทธ์ลาออก ก็ต้องทำให้กลุ่มอำนาจที่ปกป้องคุ้มครองลุงตู่ซึ่งก็คือทหารนั้น เห็นด้วยว่าประเทศชาติจะเกิดความเสียหายอย่างไร หากพลเอกประยุทธ์ยังครองอำนาจอยู่ภายใต้ภาวการณ์ที่ปั่นป่วนวุ่นวายเช่นนี้ ซึ่งในตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรบ้าง นอกจากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และการใช้กลุ่มการเมืองเก่ามาค้ำจุนอำนาจให้กับรัฐบาล ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหา “การทำลายระบบ” อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่พลเอกเปรมก็ถูกทำให้เชื่อว่าได้ก่อปัญหานั้น แต่ท่านก็ได้ถอนตัวออกไปเอง โดยที่ยังรักษาชื่อเสียงนั้นไว้ได้

ทหารคือผู้ปกป้องระบบ ไม่ใช่ปกป้องบุคคล และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ใช้ไข่ในหินที่ไม่มีวันแตก ดังนั้นวันใดก็ตามที่ทหารเชื่อว่า บุคคลที่เขาปกป้องเพื่อรักษาระบบนั้นกำลังทำลายระบบ ทหารก็อาจจะเปลี่ยนใจเลิกให้ความคุ้มครองแก่บุคคลนั้น และหันมารักษาระบบไว้ดังเดิม

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีบันทึกไว้ให้เรียนรู้โดยทั่วกัน

*******************************