posttoday

จินดามณี (9)

03 กันยายน 2562

น.พ.วิชัย  โชควิวัฒน

โดย..น.พ.วิชัย  โชควิวัฒน

มีเพลงอมตะเพลงหนึ่งของสุนทราภรณ์ คือ เพลง “พรานล่อเนื้อ” แต่งเนื้อร้องโดยครูแก้ว อัจฉริยะกุล นักประพันธ์เพลงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต มีผลงานอัดแผ่นเสียงราว 3,000 เพลง เป็นงานที่ทำคู่กับ ครูเอื้อ    สุนทรสนาน เจ้าของวงสุนทราภรณ์ ราว 1,000 เพลง มีเพลงดังๆ มากมาย โดยครูเอื้อแต่งทำนอง ครูแก้วแต่ง   เนื้อร้อง จนเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “ทำนองเอื้อ - เนื้อแก้ว” และ “แก้วเนื้อ - เอื้อทำนอง”

เนื้อร้องเพลงพรานล่อเนื้อ คือ “เจ้ายักคิ้วให้พี่ เจ้ายิ้มในทีเหมือนเจ้าจะมีรักอารมณ์ ยั่วเรียมให้เหงามิใช่เจ้าชื่นชม อกเรียมก็ตรมตรมเพราะคมตาเจ้า เรียมพะวักพะวง เรียมคิดทะนงแล้วเรียมก็คงหลงตายเปล่า ดั่งพรานล่อเนื้อเงื้อแล้วเล็งเพ่งเอา ยั่วใจให้เมาเมาแล้วยิงนั่นแล น้าวศรเล็งเพ่งเอาทุกสิ่ง หากเจ้ายิงก็ยิงซิแม่ ยิงอกเรียมสักแผล เงื้อแล้วแม่อย่าแปรอย่าเปลี่ยนใจ เรียมเจ็บช้ำอุรา เจ้าเงื้อแล้วง่าแล้วเจ้าก็ล่าถอยทันใด เจ็บปวดหนักหนาเงื้อแล้วราเลิกไป เจ็บยิ่งสิ่งใดใยมิยิงพี่เอย”

เนื้อเพลงนี้น่าจะมาจากโคลง 2 บทใน จินดามณีฉบับขุนนิมิตอักษรที่ อ.ฉันทิชย์ นำมาเป็นต้นฉบับหลักในการชำระ โคลง 2 บทนี้ไม่มีในฉบับที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ทั้งเล่ม 1 และฉบับใหญ่ บริบูรณ์

 บทหนึ่งว่าดังนี้

เจ้าอย่าชายเนตรให้              เรียมเหงา

ดุจนายพรานเขา                   ฬ่อเนื้อ

จะยิงก็ยิงเอา                       ทรวงพี่ เถิดแม่

 บ่เจ็บเท่าเจ้าเงื้อ                  เงือดให้เรียมตรอม

อีกบทหนึ่งว่าดังนี้

เจ้าอย่าย้ายคิ้วให้                เรียมเหงา

ดูดุจกลพรานเขา                  ล่อเนื้อ

 จักยิงเร่งยิงเอา                    อกพี่ ราแม่

เจ็บไป่ปานเจ้าเงื้อ               เงือดแล้วคลายคืน

การนำบทกวี 2 บทนี้ไปแต่งเป็นเพลง เป็นรูปแบบหนึ่งของงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ ที่นำเอางานวรรณกรรมไปพัฒนาร่วมกับคีตกรรมให้คนร่วมสมัยได้เสพสุนทรีย์ได้อย่างงดงาม ซึ่งเพลงพรานล่อเนื้อได้รับความนิยมยาวนานข้ามหลายทศวรรษ และเชื่อว่าแม้ในปัจจุบันก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยรำลึกถึงเพลงนี้

เรื่องสุดท้ายที่จะกล่าวถึงงานชิ้นนี้ของ อ.ฉันทิชย์ ก็คือเรื่อง วรรณยุกต์ ตรี และจัตวา อ.ฉันทิชย์อธิบายไว้ในโคลง “นโมนมัสการ” 10 บท ในหัวข้อที่ 139 ว่า “ โคลงนโมนมัสการ 10 บทนี้ ตั้งแต่บทที่ 1 ถึงบท ที่ 10 พิเคราะห์เห็นว่าเป็นโคลงที่แต่งขึ้นในรัชกาลที่ 4 หรืออย่างล่าก็ต้องรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ อาศัยเหตุผลหลายประการ ซึ่งจะกล่าวเพียงย่อๆ พอให้เป็นที่สังเกตไว้ทั่วกัน คือคำ ‘ชนอเนกนับนิกร’ ในโคลงบทที่ 5 คำนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดชอบใช้ และคำ ‘สยามประเทศ’ ในโคลงบทที่ 6 ก็เป็นคำที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยมและใช้อยู่เสมอในการเขียนสัญญาทางพระราชไมตรี และคำ ‘เอก โท ราชปักษี กากะบาท’ ในโคลงบทที่ 10 นั้น ชี้ให้เห็นชัดเลยว่า เป็นโคลงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เกินหรือเก่าไปกว่ายุคที่กล่าวนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า วรรณยุกต์ ‘เอก โท ตรี จัตวา’ นั้นเฉพาะไม้ตรี  (  ?)  หรือ ‘ราชปักษี’ และจัตวา (  ?) กากบาท เพิ่งมาคิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งที่นิยมแปลพงศาวดารจีน ในรัชกาลที่ 1-2-3 นี้เอง ก่อนหน้าขึ้นไปในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่ปรากฏไม้ตรี  (  ?)  และจัตวา (  ?) กากบาท ใช้เลย”

ในหนังสือจินดามณี มีโคลงบทหนึ่ง ดังนี้

O สมุหเสมียนเรียนรอบรู้               วิสัญ

พินธุ์เอกพินธุ์โททัณฑ                 ฆาตคู้

ฝนทองอีกฟองมัน                      นฤคหิต

 แปดสิ่งนี้ใครรู้                          จึ่งให้เป็นเสมียน

แปลว่า ผู้ใดจะเป็นสมุห์ เสมียน เขียนหนังสือได้นั้น จะต้องศึกษาให้รู้จักเครื่องหมาย 8 สิ่งที่ใช้ประกอบในการเขียน ได้แก่ (1) วิสัญชนี (2) พินธุ์เอก หรือไม้เอก (3) พินธุ์โท หรือไม้โท (4) ทัณฑฆาต หรือการันต์ (5) ไม้ตายคู้ ที่ใช้สะกดคำให้สั้น (6) ฝนทอง หรือฟันหนู หรือ “มุสิกทันต์” (7) ฟองมัน และ (8) นฤคหิต เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าสมัยนั้นยังไม่มีพินธุ์ตรี หรือไม้ตรี และพินธุ์จัตวา หรือไม้จัตวา

โดยสรุป หนังสือจินดามณี เป็นสมบัติมีค่าแต่โบราณของไทย แต่ยากที่คนรุ่นปัจุบันจะเข้าถึงได้โดยง่าย เพราะฉบับที่มีการรวบรวมแต่งเติมตกทอดและเผยแพร่ต่อๆ มาเป็น “เดนจากไฟไหม้” ครั้งกรุงแตก เมื่อ       พ.ศ. 2310 การรวบรวมก็ทำแบบรวบรวมกันขึ้นใหม่เท่าที่จะหาต้นฉบับได้ เมื่อได้อะไรมาก่อนก็จดจารลงไว้ การจดจารทำโดยคนที่ไม่เก่งอักขรวิธี บ้างลอกตามคำบอกของอีกคน จารไปตามเสียงที่ได้ยินจึงอาจผิดไปจากต้นฉบับ ฉบับที่รวบรวมไว้ได้จึงกระท่อนกระแท่น ปะปน สับสน และวิปลาสคลาดเคลื่อนไปมากจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นตำราสอนกุลบุตรกุลธิดาชั้นต้นได้เลย และแม้คนที่รู้หนังสือดีแล้วในปัจจุบัน หากไปเพียรพยายามอ่านจากต้นฉบับก็ยากจะเข้าใจได้ถ่องแท้ จำเป็นต้องมีคำอธิบาย ขยายความโดยผู้รู้จริง และกล้าจริง การที่ อ.ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์      ได้ชำระและทำคำอธิบายไว้ นับเป็นคุณูปการอันทรงคุณค่ายิ่ง สมควรจะมีผู้มาศึกษาและพัฒนาต่อเพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้โดยง่าย โดยเฉพาะสำหรับอนุชนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ได้ทั้งประโยชน์และความภาคภูมิใจในสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้

ในหนังสือ “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ” ซึ่งแปลจาก Teach Like Your Hair’s on Fire ของครูเรฟ เอสควิธ (Rafe Esquith) ครูประจำชั้นประถม 5 ในชุมชนแออัดของมหานครลอสแอนเจลิส นครแห่งเทพธิดา แต่ย่านดังกล่าวเต็มไปด้วยอาชญากรรม มีคดีข่มขืนแทบจะทุกสัปดาห์ และเด็กนักเรียนมาจากครอบครัวที่พ่อแม่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ครูเรฟ สอนที่โรงเรียนแห่งนั้นเป็นเวลากว่า 30 ปี และประสบความสำเร็จอย่างสูง จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ได้รับรางวัลระดับสูงมากมาย หนึ่งในกิจกรรมที่ครูเรฟใช้คือการสอนให้เด็กเล่นละครเชคสเปียร์

ละครเชคสเปียร์เป็นวรรณกรรมคลาสสิก เขียนขึ้นเมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว ถ้านับอายุก็เก่ากว่าจินดามณีด้วยซ้ำ เนื้อหาก็ลึกล้ำเพราะเป็นเรื่องของชีวิตผู้คนที่มีความซับซ้อนมาก หลายเรื่องมากไปด้วยเล่ห์เพทุบาย       คนโดยมากจึงไม่เชื่อว่าเด็กระดับประถม 5 จะเข้าใจแก่นสารและภาษาของละครเชคสเปียร์ได้ แต่ครูเรฟก็ทำได้ และทั้งผู้รู้เรื่องละครเชคสเปียร์ นักวิจารณ์ และบุคคลทั่วไปที่ได้ไปดูละครที่เด็กลูกศิษย์ครูเรฟเล่นต่างยอมรับและชื่นชม ความสำเร็จดังกล่าว นอกจากระบบการคัดเลือกเรื่อง ตัวละคร การเตรียมปูพื้น การซ้อม อย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบ โดยให้เด็กมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน รวมทั้งการเลือกเพลงประกอบโดยประยุกต์ให้สมสมัยด้วยแล้ว พื้นฐานสำคัญยังมาจากบทละคร       เชคสเปียร์มีการศึกษา และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้คนรุ่นต่างๆ รวมทั้งเด็กที่เรียนเพียงชั้นประถม 5 ก็สามารถ เข้าถึง เข้าใจ และสามารถนำมาแสดงเป็นละคร โดยการเข้าถึงแก่นสาร เนื้อหา อารมณ์ ความรู้สึก ของบทเจรจาทุกประโยค ทุกคำได้อย่างแท้จริง

จินดามณี ของเราก็มีคุณค่าสูง สมควรมีการศึกษา และพัฒนาให้คนทุกรุ่น ทุกวัย ในปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง โดยแน่นอนว่า มิใช่โดยการให้ไปเลือกท่องโคลงบทใดบทหนึ่งมาจากต้นฉบับที่ยังต้องการชำระสะสาง และอธิบายอีกมาก

.................................