posttoday

ทางเปิด พรรคใหม่ “กรณ์ จาติกวณิช”

18 มกราคม 2563

ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

********************

การลาออกของกรณ์ จาติกวณิช แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กระทบกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศอย่างรุนแรงในสถานการณ์ที่พรรคตกอยู่ในภาวะยากลำบากหลังแพ้เลือกคั้ง ตรงกันข้ามนี่ก็เป็นโอกาสทางการเมืองที่เปิดกว้างของ กรณ์ และพรรคใหม่ที่เตรียมเปิดตัวเร็วๆนี้

การตัดสินของกรณ์ ไม่ได้ปัจจุบันทันด่วน แต่วางแผนล่วงหน้ามาระยะหนึ่ง หลังพรรคประชาธิปัตย์ในยุคจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทนอภิสิทธิ์ นำพามติพรรคเข้าร่วมรัฐบาลลุงตู่ ขณะที่กรณ์ถูกลดบทบาทในพรรคลงเพราะอยู่คนขั้วกับจุรินทร์

กรณ์ เป็น“มันสมอง” คนหนึ่งของพรรค เคยเป็น รมว.คลัง สมัยพรรคประชาธิปัตยเป็นรัฐบาลยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนต่างประเทศ เคยยกให้เป็น รัฐมนตรีคลังโลกคนเดียวของประเทศไทยเมื่อปี 2553 และ รัฐมนตรีคลังเอเชียในปีเดียวกันจากสื่อในกลุ่ม Financial Times

การเลือกตั้งที่ผ่านมา กรณ์ได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ทำชุดนโยบาย “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งยุคนายอภิสิทธิ์

ในยุคที่จุรินทร์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคผ่านการเลือกตั้ง กรณ์ เป็น 1 ใน 4 แคนดิเดท ที่ลงแข่งด้วย แต่แพ้ขาดลอย จากนั้นมาดาวรุ่งที่อยู่พรรคประชาธิปัตย์มานาน 15 ปี เคียงคู่หัวหน้าอภิสิทธิ์ ก็ค่อยๆ ถูกดับรัศมีลง พรรคไม่ได้หยิบมาใช้งาน ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล กระทั่ง การคัดเลือกผู้สมัครผู้ว่ากทม.ของพรรคที่คาดว่าจะมีขึ้นปีนี้ซึ่ง กรณ์เองก็สนใจลึกๆ ที่จะเปลี่ยนมาลุยงาน กทม. แต่พรรคก็ไม่ได้สนับสนุน มีเพียงทาบทามให้เป็นแค่รองประธานคัดสรรผู้สมัครผู้ว่ากทม. ของพรรค

พรรคประชาธิปัตย์ยุคปัจจุบันเปลี่ยนกลุ่มอำนาจจากกลุ่มอภิสิทธิ์ ที่มีกรณ์และอดีต สส. เกือบ 30-50 คนเคียงข้าง มาเป็นกลุ่มนายจุรินทร์ ที่มีชวน หลีกภัย และ สส.ภาคใต้ สนับสนุน บทบาทของกลุ่มอภิสิทธิ์ซึ่งคัดค้านไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงลดลงตามลำดับ บางครั้งก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยกัน กลายเป็นฝ่ายค้านในพรรค

การลาออกของกรณ์ อาจเป็นผลดีกับ จุรินทร์ เพราะไม่มีใครมาวัดบารมีแข่งด้วย สะท้อนจากสิ่งที่ “จุรินทร์” บอก ไม่แคร์การลาออกของกรณ์ เพราะถึงจะมีคนลาออก แต่ก็มีคนที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคจำนวนมาก

พรรคประชาธิปัตย์ ยุคจุรินทร์ จึงปิดโอกาส ที่กรณ์จะเติบโต ยิ่งระบบอย่างพรรคประชาธิปัตย์ด้วยแล้ว กลุ่มที่เลือกตั้งหัวหน้าพรรค แพ้แทบไม่มีทางได้แจ้งเกิดอีก

นับตั้งแต่จุรินทร์ชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค สถานการณ์ในพรรคยังคงเลือดไหลตลอด ทีมแอดเวนเจอร์ แทบหายเกลี้ยง แกนนำพรรคลาออกไปแล้วหลายคน ทั้ง พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ลาออกไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ลาออกไปเป็นซีอีโอ พรรคกปปส. ร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ "ไอติม" พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานอภิสิทธิ์ที่มีแฟนคลับคนรุ่นใหม่มากมาย ก็ไขก๊อกเช่นกัน

สิ่งที่ต้องติดตาม ในอนาคต พรรคประชาธิปัตย์ จะฟื้นหรือไม่ อำนาจรัฐที่มีอยู่จากการเข้าร่วมรัฐบาล กับสองเก้าอี้ใหญ่ “รมว.พาณิชย์-รมว.เกษตร” จะช่วยพรรคกลับมาผงาดอีกครั้งได้แค่ไหน หรือจะโคม่าสาหัสกว่าเดิม เพราะวันนี้พรรคที่แย่งฐานเสียงประชาธิปัตย์ ยังโดดเด่นอยู่ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคกปปส.ของลุงกำนัน หรือจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ก็ดีวันดีคืนในพื้นที่ภาคใต้ และยังจะมีพรรคใหม่ของกรณ์ที่จะแย่งส่วนแบ่งจากประชาธิปัตย์อีก โดยเฉพาะฐานเสียงจากกลุ่ม ปัญญาชน คนรุ่นใหม่

อีกด้านหนึ่ง โอกาสของ “กรณ์” ที่เปิดตัวเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เปิดกว้างมากกว่าด้วยสมมติฐานหลายปัจจัย

ปัจจัยแรก รัฐธรรมนูญปัจจุบัน เอื้อให้พรรคเล็กๆ เกิดง่ายมาก ขอเพียงมีคนดัง เป็นที่รู้จักระดับประเทศ ทำตลาด นิชมาร์เก็ตเฉพาะกลุ่ม ก็ยิ่งได้คะแนนเสียงที่ชัดเจน การเลือกตั้งครั้งล่าสุด พบสูตรว่า ถ้าได้คะแนน 33,000 เสียง ก็ได้ ส.ส.แล้ว 1 ที่นั่ง

ดูจากเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดพรรคจิ๋วระดับ 1 เสียง มากมายถึง 12 และพรรคเล็กไม่เกิน 10 เสียง อีก 9 พรรค อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงทำได้ยากมาก ระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดพรรคเล็กมากมายอย่างนี้จะยังใช้ต่อไปอีกระยะ

ปัจจุบันโมเดลตั้งพรรคใหม่ขนาดเล็ก กำลังเกิดขึ้นอีกหลายพรรค ใช้ทุนไม่มาก สร้างกระแสในโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง เช่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ มีมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค เพียงคนเดียว เปิดตัว 7 วันสุดท้าย ก็ได้ ส.ส.แล้ว 6 คน

สถานการณ์ขณะนี้ บรรดากลุ่มทุนใหม่ๆ ก็เข้ามาอยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองหลายพรรค ทั้งกลุ่มทุนพลังงาน ให้การสนับสนุน ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ลงชิงผู้ว่ากทม. ขณะที่ข่าว ชัชชาติ จับมือ กับ กรณ์ ก็ดังมาเป็นระยะ แม้ชัชชาติ จะปฏิเสธ แต่ความร่วมมือทางการเมืองในอนาคตระหว่างชัชชาติ กับ กรณ์ ก็ยังมีอยู่

ปัจจัยที่สอง นอกจากกรณ์ มีฐานเสียงเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง แล้ว ยังได้กลุ่ม เศรษฐกิจ สตาร์ทอัพเกิดใหม่ กลุ่มฟินเทค ที่เจ้าตัวเคยเป็นประธานสมาคมไทยฟินเทค 3 ปี และเขาก็เป็นคนในวงการนี้มาก่อน นอกจากนี้ ในช่วงการเมืองถูกแช่แข็งจากการรัฐประหาร กรณ์ยังเข้าไป เจาะตลาดเกษตรกรทำ “โครงการเกษตรเข้มแข้ง” หรือ “ข้าวอิ่ม” ลุยงานการศึกษาผลักดัน โครงการ “English For All” ให้เด็กไทยในต่างจังหวัดใช้ภาษาอังกฤษ ครอบคลุมไปในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

สรุป หากประเมินคร่าวๆ เฉพาะชื่อชั้นของกรณ์ โดยที่ยังไม่เห็นขุนพล ทีมงาน นโยบาย อาจได้เสียงคร่าวๆ 10-20 เสียง

ปัจจัยที่สาม การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นคาดว่า จะเกิดขึ้นเร็วภายใน 1-2 ปี เพราะปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในรัฐบาล ปัจจัยต่อต้านนอกสภา แต่สภาพการเมืองที่ยังแบ่งขั้ว “ไล่ลุงกับเชียร์ลุง” และ คาดกันว่า ลุงตู่ อาจอยู่ไม่ยาวถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

การเลือกตั้ง ครั้งหน้าจึงอาจเป็นโอกาสให้กับคนที่เบื่อกับการเผชิญหน้า หันมาเลือก พรรคทางเลือกใหม่ ซึ่งพรรคเล็กมีโอกาสได้เข้าร่วมรัฐบาลและได้เก้าอี้รัฐมนตรีแน่นอน แต่ก่อนจะถึงการเลือกตั้งสส. พรรคใหม่ของกรณ์ อาจส่งคนชิมลางในสนามผู้ว่ากทม. ก่อนเพื่อสร้างแบรนด์ นำเสนอนโยบายให้คนรู้จักพรรค

เมื่อถึงการเลือกตั้งใหญ่ ทุกพรรคต้องเสนอรายชื่อผู้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญกำหนด หากการเมืองแบ่งขั้ว ตีบตัน ก็ไม่ปิดโอกาสสมการการเมืองที่กรณ์จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการเป็นนายกรัฐมนตรีที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะรัฐธรรมนูญล็อคให้กับฝ่ายคสช.ไปแล้ว

*******************************