posttoday

รธน.ซ่อนกลตั้งนายกฯเสี่ยงเกิดสุญญากาศ

25 มีนาคม 2562

หลังการเลือกตั้ง มีหลากหลายความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตากันเป็นพิเศษ เพราะมีผลต่อการกำหนดทิศทางทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ผ่านไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของประเทศไทยในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 (ไม่นับการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะเมื่อปี 2557) ภาพของคนไทยหลายสิบล้านคนที่ไปต่อแถวเข้าคิวเพื่อใช้สิทธิออกเสียง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยตื่นตัวกับประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ไปมีหลากหลายความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตากันเป็นพิเศษ เพราะมีผลต่อการกำหนดทิศทางทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อย 3 เรื่อง

1.การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ หรือไม่ เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว โดยเฉพาะเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากสงสัยว่าจะนำมาสู่ความเป็นโมฆะของการเลือกตั้งหรือไม่ เช่น การแจกบัตรเลือกตั้งให้กับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผิดเขตเลือกตั้ง เป็นต้น

จากนี้ไปคงต้องรอดูว่าจะมีนักร้องไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เด็ดขาดหรือไม่

2.การรับรองผลการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 85 กำหนดให้ กกต.ต้องรับรองผลการเลือกตั้งให้ได้ สส.จำนวน 95% หรือ 475 คน จาก สส.ทั้งหมด 500 คน ภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

ในระหว่างการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้ง สส. กกต.มีอำนาจจะแจกใบเหลืองและใบส้ม เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในบางเขตเลือกตั้งได้ เนื่องจากพบว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

การแจกใบเหลืองหรือใบส้มที่ นำมาซึ่งการเลือกตั้งใหม่นั้น เท่ากับว่าจะมีผลต่อการนับคะแนนเพื่อคำนวณหาจำนวน สส.บัญชีรายชื่อด้วย หมายความว่าจำนวน สส.ของแต่ละพรรคอาจจะยังไม่นิ่งจนกว่า กกต.จะ ยุติการสอยผู้สมัคร สส.

3.การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นวาระแห่งชาติที่คนไทยทุกคนรอคอยว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเป็นใคร ซึ่งคงหนีไม่พ้นแคนดิเดตนายกฯ จาก 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคภูมิใจไทย

นอกจากนี้ เรื่องชวนหัวของการเลือกนายกฯ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังจะเป็นปัญหาเช่นกัน

การเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างที่ทราบกันดีว่าจะเป็นการลงมติโดยที่ประชุมรัฐสภาจำนวน 750 คน ประกอบด้วย สส.จำนวน 500 คน และ สว.จำนวน 250 คน คนที่จะได้เป็น นายกฯ จะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ  376 เสียงจากทั้งหมด 750 คน

แต่ปัญหาของการเลือกนายกฯ คือ การที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ว่าประเทศจะต้องมีนายกรัฐมนตรีใหม่ภายในเวลาเท่าใด

กรอบเวลาภายหลังการเลือกตั้ง หาก กกต.ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งและได้ สส.อย่างน้อย 95% แล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง สส. ซึ่งจะนับเป็นวันแรกของสมัยประชุมรัฐสภาสามัญทั่วไป หลังจากนั้นไปแล้วรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดกรอบเวลาใดๆ ทั้งสิ้น

โดยเมื่อเปิดสมัยประชุม จะต้องมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาฯ ซึ่งตำแหน่งประธานสภาฯ นอกจากจะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งแล้ว ยังมีความสำคัญอีกระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หากเลือกประธานสภาฯ ไม่ได้ การเลือกนายกฯ ย่อมไม่เกิดขึ้น

ในกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ประธานรัฐสภา จะเข้าสู่ขั้นตอนของการเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา

ลำดับแรก ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบจากแคนดิเดตของพรรคการเมืองก่อน โดยแคนดิเดตของพรรคการเมืองจะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อกลางที่ประชุมรัฐสภาได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองนั้นมี สส.อย่างน้อย 25 คน หากรัฐสภามีมติเห็นชอบ 376 เสียง บุคคลนั้นจะได้เป็นนายกฯ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น จะเข้าสู่ขั้นตอนการยกเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ บางมาตรา โดยมีขั้นตอนดังนี้

1.สส.และ สว.จำนวน 375 คน เข้าชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชี รายชื่อของพรรคการเมือง

2.ประธานรัฐสภาเรียกประชุมโดยพลัน การเสนอนายกฯ จากบุคคลนอกบัญชีพรรคการเมืองได้นั้นจะต้องใช้เสียงของรัฐสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 500 คนจากสมาชิกรัฐสภา 750 คน

3.เมื่อรัฐสภามีมติดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมรัฐสภาจะดำเนินการพิจารณาเลือกนายกฯ จากบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่อไป โดยบุคคลนั้นจะต้องได้เสียงจากที่ประชุมรัฐสภา 376 คะแนน ถึงจะได้รับการดำรงตำแหน่งให้เป็นนายกฯ

ถ้าทุกพรรคตกลงกันทุกอย่างน่าจะจบลงได้ไม่ยาก แต่หากคุยกันไม่รู้เรื่อง การเมืองย่อมเสี่ยงต่อการเกิดสุญญากาศ อย่างยิ่ง ซึ่งนั่นหมายความว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด