posttoday

พรรคการเมืองสะเทือน คสช.เล่นแง่บีบทุกทาง

28 มีนาคม 2561

หากจะบอกว่าไม่เคยมีช่วงไหนที่พรรคการเมืองไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้มาก่อน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หากจะบอกว่าไม่เคยมีช่วงไหนที่พรรคการเมืองไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้มาก่อน

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งการรัฐประหาร 2549 แม้จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พร้อมด้วยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่เช่นเดียวกัน แต่พรรคการเมืองก็ไม่เคยถูกแรงกดดันเหมือนกับที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังดำเนินการเหมือนอยู่ในปัจจุบัน

ในปี 2549 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นและลงประชามติเมื่อทุกอย่างผ่านฉันทามติของประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในเวลานั้นก็เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จนสิ้นสุดกระบวนการโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ไม่เคยใช้อำนาจพิเศษหรือกำลังภายในเข้ามาแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านสภาไปแล้ว 

ทว่า เวลานี้พุทธศักราช 2560 คสช.กลับใช้อำนาจในการล้วงลูกกฎหมายเลือกตั้งอย่างน่ากังขาโดยเฉพาะการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

สาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวที่เป็นอุปสรรคของพรรคการเมืองคือ การกำหนดให้พรรคการเมืองปัจจุบันต้องทำการให้สมาชิกพรรคการเมืองเข้ามายืนยันสถานะความเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคการเมือง

การกำหนดเช่นนี้ หมายความว่าในทางปฏิบัติหัวหน้าพรรคต้องทำหน้าที่รับการยืนยันของสมาชิกพรรคการเมืองทุกคน ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่มาแสดงตนจะมีผลให้สมาชิกพรรคคนนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็นพรรคการเมืองทันที ภาระตกอยู่ที่พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่มีสมาชิกพรรครวมกันมากกว่าล้านคน

ตัวเลขสมาชิกพรรคการเมืองที่หดหายไปนั้น อีกด้านหนึ่งย่อมหมายถึงสิทธิในการขอเงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ มองลงไปที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งประกาศใช้มาได้สักระยะ กลับพบว่ามีเนื้อหาหลายส่วนที่กำลังสร้างปัญหาให้กับพรรคการเมือง

ดังจะเห็นได้จากกรณีของการกำหนดให้ทำไพรมารีโหวต หากพรรคการเมืองใดไม่ได้ทำไพรมารีโหวตในเขตเลือกตั้งไหน พรรคการเมืองจะถูกตัดสิทธิในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในเขตดังกล่าว แม้ในเชิงหลักการจะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายสนับสนุน แต่ภายใต้เวลาที่เหลือไม่มาก ย่อมเป็นเรื่องยากที่พรรคการเมืองจะทำไพรมารีโหวตได้ทัน

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้จัดเวทีเพื่อเชิญพรรคการเมืองมาหารือในวันนี้ เพื่อให้มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกติกาใหม่ที่เกิดขึ้น

“กกต.จะได้ชี้แจงถึงแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายในหลายเรื่อง ทั้งการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเป็นสมาชิก การจ่ายเงินบำรุงพรรค การทำไพรมารีโหวต รวมถึงแนวทางการยื่นหนังสือขออนุญาต คสช.ในการจัดประชุมพรรค

ส่วนกรรมการบริหารพรรคหากพรรคยังจะใช้ชุดเดิมก็สามารถยืนยันได้ แต่กรรมการบริหารที่จะดำรงตำแหน่งต่อต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายใหม่กำหนด เชื่อว่าการดำเนินการของพรรคการเมืองเก่าจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน หรือทำให้เกิดปัญหา” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. ชี้แจง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาตามมาว่าเวทีที่ กกต.จัดในวันนี้จะเป็นทางออกให้กับพรรคการเมืองได้หรือไม่

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าหัวใจสำคัญของการที่จะทำให้กิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเดินหน้าไปได้คือ การปลดล็อกให้พรรคการเมืองประชุมพรรค แต่ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร คสช.ก็ยังไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของพรรคการเมือง ภายใต้เหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเท่าไหร่นัก

การแสดงออกของ คสช.นั้น ราวกับว่าไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น ถ้าจะเรียกว่าเป็นจระเข้ขวางคลองก็คงไม่แปลกแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่บรรยากาศในตอนนี้เอื้ออำนวยไปสู่การเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัดเจน ภายหลังเปิดโอกาสให้มีการจดแจ้งเพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่

ท่าทีของ คสช.ที่แสดงออกมายิ่งเป็นเชื้อไฟการเมืองเริ่มระอุอีกครั้ง เนื่องจากเริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันได้เป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น อย่างการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สามารถเดินขบวนไปถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ คสช.ต้องกลับมาให้ความสนใจมากขึ้น

แต่กระนั้น คสช.กลับต้องการดึงอำนาจไว้กับตัวเองให้นานที่สุด พร้อมกับใช้กติกาและกฎหมายที่ตัวเองออกแบบเพื่อบีบและสร้างแรงกดดันให้กับพรรคการเมืองให้มากที่สุด

การสร้างแรงกดดันของ คสช.ก็เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว เช่น การโดดเรือหนีของกลุ่มก๊วนในพรรคเพื่อไทยบางกลุ่มที่ออกมาตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง เพราะมองว่าถ้าอยู่กับพรรคเพื่อไทยจะทำให้ถูกเหมารวมด้วย การเอาตัวรอดตอนนี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เป็นต้น

ที่สุดแล้ว หากจะบอกว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมปหรือไม่  ต้องบอกว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อ คสช.รู้สึกว่าตัวเองได้เปรียบทุกฝ่าย และพรรคการเมืองโดนบีบจนไม่มีแรงที่จะลุกขึ้นมาสู้ได้อีก