posttoday

เศรษฐกิจเอเชียฟื้นแค่ลวงตา ปัจจัยเสี่ยง โตช้า-หนี้ยุโรป-เงินเฟ้อ ยังอยู่ครบ

04 เมษายน 2555

บรรดากิจกรรมการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียที่กลับมาคึกคักสดใส

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

บรรดากิจกรรมการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียที่กลับมาคึกคักสดใส ซึ่งพิสูจน์ได้จากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เรียกรอยยิ้มและความเชื่อมั่นทั้งจากผู้ประกอบการและนักลงทุนทั่วโลกให้หวนคืนสู่เอเชียอีกครั้ง

เป็นความไว้วางใจที่มาพร้อมกับความโล่งใจ เพราะมีเหตุปัจจัยให้นักลงทุนเชื่อได้แล้วว่า ภาคอุตสาหกรรมหลักของภูมิภาคเอเชียกำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวอย่างแข็งขัน

ท่ามกลางสถานการณ์ดีๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์วิกฤตหนี้ในยุโรปที่เริ่มจะคลี่คลาย ขณะที่เศรษฐกิจในสหรัฐก็กำลังส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ

อย่างไรก็ตาม บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง ซึ่งจับตามองความเคลื่อนไหวของเอเชียอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด กลับไม่วายออกมาเตือนว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของเอเชียยังไม่ถึงเวลาที่จะจุดพลุระเบิดประทัดฉลองชัยด้วยความยินดีปรีดา

เศรษฐกิจเอเชียฟื้นแค่ลวงตา ปัจจัยเสี่ยง โตช้า-หนี้ยุโรป-เงินเฟ้อ ยังอยู่ครบ

 

เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวที่ปรากฏออกมาเป็นเพียงภาพลวงตาที่ปกปิดความเป็นจริงของปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นบาดแผลเรื้อรังบอบช้ำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหายขาดในช่วงปีสองปีนี้แน่นอน

ทั้งนี้ ความมั่นอกมั่นใจที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มาจากตัวเลขดัชนีพีเอ็มไอ ที่สะท้อนให้เห็นว่าบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมในเอเชีย โดยเฉพาะ 3 ประเทศผู้ส่งออกสำคัญของภูมิภาคอย่าง จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งมียอดการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.

ตัวเลขดังกล่าวระบุชัดว่า ลำพังเฉพาะประเทศจีนยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งทางเศรษฐกิจของเอเชีย ดัชนีพีเอ็มไอปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 53.1 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 11 เดือน แถมสูงเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ ส่วนเกาหลีใต้และไต้หวันก็ถือว่าเขยิบเพิ่มขึ้นมาเป็นเดือนที่สองของปีต่อเนื่องจากเดือน ก.พ. โดยเป็นผลมาจากปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นทั้งจากตลาดภายในและภายนอกประเทศ

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสักเท่าไรนัก หากนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งตลอดจนนักลงทุนจะนึกกระหยิ่มยิ้มย่องกับสัญญาณบวกหลอกๆ ที่เกิดขึ้น จนหลงลืมข้อเท็จจริงเลวร้ายที่ยังคงคุกคามสถานะทางเศรษฐกิจของเอเชีย

อย่างไรก็ตาม อานูจา เด็บนาธ นักวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจของรอยเตอร์สสอดที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ว่า การเชื่อว่าตัวเลขภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นคือ การก้าวเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวของเอเชียนับเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นผลมาจากกำลังซื้อของตลาดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากกว่าจะมาจากประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักจากยุโรปและสหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบขนาดตลาดกันแล้วลำพังกำลังซื้อจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ย่อมไม่เพียงพอต่อการเติบโต และการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคเอเชียอย่างยั่งยืนถาวรไปได้

ขณะเดียวกัน การมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงภาพลวงตาของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียดูจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากกว่า สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันของภูมิภาค

เนื่องจากเมื่อพินิจพิจารณาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ มาประกอบกันแล้ว แม้แต่นักวิเคราะห์มือสมัครเล่นก็ยังมองออกว่า การฟื้นตัวของภาคการผลิตที่กำลังเป็นประเด็นเกรียวกราวอยู่ในขณะนี้ยังมีจุดอ่อน และไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะถือเป็นข่าวดีได้อย่างถนัดใจ

ประเด็นแรกสุดก็คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งนิยมวัดจากผลิตผลมวลรวมภายในประเทศ หรือที่รู้จักกันดีในนามจีดีพี ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาการเติบโตของจีดีพีของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียไม่ได้คักคักมากเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปจนฉุดเศรษฐกิจโลกให้ซบเซา

ตัวอย่างยืนยันที่เห็นได้ชัดที่สุดจีดีพีของจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ที่สวนทางกับการขยายตัวของดัชนีพีเอ็มไออย่างสิ้นเชิง โดยนักวิเคราะห์ต่างพากันคาดว่า การขยายตัวของจีดีพีจีนในไตรมาสแรกนี้น่าจะน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่รัฐบาลจีนได้ออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ให้เหลือเพียง 7.5% เท่านั้น

นอกจากนี้ จากการสำรวจดัชนีพีเอ็มไอของธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งประกาศออกมาในวันเดียวกับที่รัฐบาลจีนระบุตัวเลขพีเอ็มไอประจำเดือน มี.ค. โดยธนาคารเอชเอสบีซีมุ่งเน้นบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่าโรงงานขนาดใหญ่ที่ภาครัฐมีหุ้นส่วนด้วยนั้น พบว่าการสั่งซื้อและยอดการผลิตน่าผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ดัชนีพีเอ็มไอโดยรวมของจีนอยู่ที่ 48.3 ในเดือน มี.ค.

ทั้งนี้ สำหรับค่าวัดอย่างคร่าวๆ ของดัชนีพีเอ็มไอก็คือว่า หากต่ำกว่า 50 ก็แสดงว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ปราศจากความคึกคักและการขยับขยายเติบโตใดๆ

เศรษฐกิจเอเชียฟื้นแค่ลวงตา ปัจจัยเสี่ยง โตช้า-หนี้ยุโรป-เงินเฟ้อ ยังอยู่ครบ

 

แน่นอนว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนีพีเอ็มไอย่อมเป็นเรื่องดีอย่างไม่ต้องสงสัย โดยอย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ความวิตกกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของจีนลดลง (ฮาร์ดแลนดิง) แต่ วิษณุ วาราทัน นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารมิซูโฮของสิงคโปร์ก็เตือนว่า ยังไม่ควรหลงดีใจและยกให้เป็นข่าวดี เพราะสภาพการณ์ของเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะกับยุโรปและสหรัฐ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม

แม้ข่าวคราวล่าสุดจากฟากยุโรปจะช่วยให้ตลาดคลายความวิตกกังวลลงได้เปลาะหนึ่งว่า กรีซพ้นสภาพการผิดนัดชำระหนี้อย่างหวุดหวิด ตลอดจนประนีประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ลุล่วง ขณะที่สถานการณ์โดยรวมอื่นๆ ก็กำลังเดินไปสู่ทิศทางที่ดี ทั้งการที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงินไม่อั้นอัดสภาพคล่องแบบเต็มที่ ก่อนตามด้วยความเคลื่อนไหวล่าสุดของบรรดาผู้นำในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ที่เห็นชอบเพิ่มเงินงบประมาณในกองทุนแก้หนี้

แต่ความจริงที่ไม่อาจลืมได้ก็คือ จำนวนหนี้มหาศาลยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน และเศรษฐกิจของยุโรปยังซบเซาและอ่อนแอจนน่ากลัว

ยิ่งเมื่อประกอบกับอัตราคนว่างงานที่สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) ซึ่งออกมาเผยว่า 17 ชาติยูโรโซนมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นแตะ 10.8% ในเดือน ก.พ. และนับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี ก็ยิ่งให้หวั่นใจว่า เศรษฐกิจของยุโรปยังเปราะบางมากจนภูมิภาคเอเชียไม่สามารถพึ่งพาให้ยุโรปเป็นตลาดส่งออกสำคัญ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคอีกต่อไป

สำหรับเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่เกือบทุกประเทศใช้การส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ข่าวคราวจากภูมิภาคยุโรปย่อมเป็นข่าวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย โดยตัวเลขการส่งออกของเกาหลีใต้ปรับตัวลดลง 1.4% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันจากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่แม้ความตึงเครียดจะผ่อนคลาย เนื่องจากดัชนีพีเอ็มไอของสหรัฐก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานชะลอตัวลง แต่จีดีพีของสหรัฐก็ขยายตัวอย่างเชื่องช้า ตามด้วยยอดการส่งออกและปริมาณความต้องการสินค้าที่เริ่มปรับตัวลดลง

จนน่ากลัวว่า หากเศรษฐกิจของสหรัฐยังเติบโตช้าต่อไป และหากว่ายอดการสั่งซื้อภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าจะชะลอตัว หรือหดน้อยลง สิ่งที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้น กิจการการผลิตที่ลดลง และตามด้วยการปลดคนงานเพื่อลดภาระของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าจะกลายเป็นการขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย

อีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ภาวะเงินเฟ้อของประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งมีเหตุปัจจัยจากราคาน้ำมันที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจะส่งผลต่อกำลังซื้อและปริมาณความต้องการสินค้าของตลาดในประเทศ เพราะประชาชนเลือกจะหันมาประหยัดอดออม ชะลอการใช้จ่ายเนื่องจากสินค้าราคาแพง โดยในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ หลายประเทศของเอเชียในตอนนี้ยังคงต้องเผชิญหน้ากับการหลอกหลอนของภาวะเงินเฟ้อไม่สร่างซา เพราะรัฐบาลหลายประเทศไม่อาจแบกรับภาระจากนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน จนยอมปล่อยให้ราคาน้ำมันแพงและบานปลายกลายเป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม เหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย และไต้หวัน

แถมยังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกในหลายๆ ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมประเทศไทยเข้าไปด้วย

เรียกได้ว่า ของแพง คนก็ไม่อยากซื้อ อุตสาหกรรมก็เดินต่อไม่ได้ เพราะผลิตสินค้าแล้วขายไม่ออก สุดท้ายก็ต้องปลดคนงานเพื่อรักษาโรงงานไว้

กลายเป็นวงจรอุบาทว์ขวางการฟื้นตัวของเอเชีย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ตราบใดที่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้อง วิกฤตหนี้ยุโรปยังอยู่ เศรษฐกิจสหรัฐยังซบ และเงินเฟ้อยังตามติด แถมยังไม่มีนโยบายรับมือจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังเด็ดขาด สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียก็ยังคงอยู่อีกไกลจากสภาวะฟื้นตัว