posttoday

"หมอเลี้ยบ - สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" ย้ำชัด 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์เกิดได้จริง

05 ตุลาคม 2566

นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ย้ำชัดเจนถึงโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์นั้นเกิดได้จริง เน้นสร้างทักษะอาชีพพาคนไทยพ้นความยากจน พัฒนาทักษะฝีมือสู่เวทีโลก

“1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” (One Family One Soft Power) เป็นนโยบายที่รัฐบาลที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ผลักดันชูธงนำเป็นโครงการต้นๆที่ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพื่อผลักดัน ซอฟท์ พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก

โดยนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) จะเริ่มบ่มเพาะคนไทย 20 ล้านคนให้มีทักษะระดับสูง มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร, กีฬา-ฟุตบอล มวยไทย, ดนตรี, แฟชั่น, นักร้อง มาฝึกอบรมฟรี และพัฒนาพร้อมที่จะออกสู่เวทีระดับโลกได้
 

นพ.สุรพงษ์มองว่าส่งเหล่านี้เป็นขุมทรัพย์และภูมิปัญญาที่เรามีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้บริหารจัดการให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วโลก

"เราเพิ่งเริ่ม Kick off กันเมื่อวันที่ 3 ต.ค.66 เองนะครับ ซึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้นหลังรัฐบาลชุดนี้มารับผิดชอบในหน้าที่นี้แค่ 3 สัปดาห์ แต่ก็เห็นความตื่นตัวเปลี่ยนแปลงเยอะมาก พอเราได้คุยกับทางภาคเอกชนซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทำเวิร์คช็อป พูดคุยบ้างแล้ว ทางภาคเอกชนก็มีความรู้สึกอยากเข้ามาช่วยกันผลักดัน"  สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เผย

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

"เวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ตั้งรัฐบาล) มีการจัดอันดับ ปัญหาหรืออุปสรรคคืออะไร แล้วข้อเสนออะไรที่อยากให้รัฐฯได้ช่วย ผมว่าจากวันนี้เรามีอีกหลายอย่างที่ต้องเร่งทำ การที่นายกรัฐมนตรีอยากให้มี Quick Win มันไม่ใช่ประเด็นเรื่องทางการเมือง แต่ประเด็นว่าถ้าหากเราสร้างการแข่งขันให้ได้เร็วที่สุดแล้วต่อยอดไปได้มากกว่านี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยยืนอยู่บนเวทีโลกได้ เพราะคนอื่นเขาทำมานานแล้ว เราเสียเวลาไป 17 ปี ดังนั้นเราคงต้องรีบทำ"

ซึ่งโครงการนี้วางกรอบไว้ ใน 100 วันหรือ 3 เดือนเศษๆจะต้องเริ่มเห็นผลและเป็นรูปเป็ยร่าง เริ่มจากการพัฒนาศักยภาพของคนที่มีความสามารถให้เด่นขึ้นมาก่อน เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่วเคยเกิด แต่หลายประเทศอย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ทำมาแล้ว

"จากนี้ไปคงเห็นว่า 100 วันที่เราได้พูดในที่ประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม หลายๆเรื่องคงจะออกมา แล้วเราจะคิดต่อไปในเรื่องคน อย่างเรื่อง 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์ พาวเวอร์ ซึ่งเรามองว่าปัญหาเรื่องซอฟท์พาวเวอร์ที่คุยกันมากมายก่อนหน้านี้"
 

"ที่พูดว่าซอฟท์พาวเวอร์ไม่ใช่สินค้า อันนี้ใช่ มันไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่บริการ ซอฟท์ พาวเวอร์ที่แท้จริงคือคน บางคนไม่เข้าใจว่าการ ReSkill (เพิ่มทักษะใหม่ๆ) ให้คนนี่เกี่ยวอะไรกับซอฟท์ พาวเวอร์ แต่คนนี่แหละคือพื้นฐานของ ซอฟท์พาวเวอร์ ทุกอย่างของซอฟท์พาวเวอร์ มาจากความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของคน ถ้าหากเราไม่เริ่มที่คนก่อนเราจะไปติดกับ กับเรื่องของการสร้างความสำเร็จเดิมๆ เรื่อง 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์ พาวเวอร์ คือเรื่องที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ" 

มวยไทยซอฟท์พาวเวอร์ที่เข้าสู่ระดับสากลนานแล้ว

พัฒนาศูนย์บ่มเพาะให้ความรู้วิทยากร

"เราจะมีการเร่งลงทะเบียนภายใน 100 วันจากนี้ ซึ่งเราได้พูดคุยกับกองทุนหมู่บ้านแล้ว กองทุนหมู่บ้านจะเป็นตัวเริ่มของการรับสมัคร เดี๋ยวเราก็จะใช้ระบบลงทะเบียนออนไลน์เพื่อสำรวจให้ได้เร็วที่สุดครับ"

"ขณะเดียวกัน ช่วงสำรวจระหว่าง 3 เดือนแรกเราก็จะพัฒนาศูนย์บ่มเพาะไปด้วย ศูนย์บ่มเพาะที่ว่าคือโรงเรียนมัธยม อาชีวศึกษา ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการแล้วว่าให้ดำเนินการ ทำเรื่องของบประมาณในการผลักดันเรื่องซอฟท์พาวเวอร์ "

"ที่ต้องทำก่อนแน่ๆคือพัฒนาศูนย์บ่มเพาะ พัฒนาโรงเรียนอาชีวศึกษา เครื่องมือที่ทันสมัยที่จะรองรับได้ รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับการที่จะให้ครู วิทยาการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นครูในระบบโรงเรียน แต่เป็นครูที่เขาเชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆอยู่แล้ว ให้เข้ามาช่วยกันฝึกอบรมให้เร็วที่สุด" 

"อย่างเรื่องอาหารนี่เราได้คุยกับเชฟชุมพลแล้ว (ชุมพล แจ้งไพร : เชฟกระทะเหล็ก) เชฟชุมพลพร้อมทันที ฉะนั้นเราลุยกันได้แล้วครับ" 

"เราตั้งเป้าไว้ว่า 1 ครอบครัวต้องมีอย่างน้อย 1 คน เพราะฉะนั้นเราอยากให้อย่างน้อย 1 ครอบครัว มีสักคนที่มีความสามารถมีทักษะสูง มีความคิดสร้างสรรค์ที่เขาอยากจะทำ อย่างน้อยก็เป็นฐานรายได้ของครอบครัวที่มากพอที่จะทำให้พ้นจากความยากจน"

"บางคนอาจจะบอกว่า ต้องเป็นเด็กนักเรียนไหม ? บอกเลยว่าไม่ใช่ครับ เป็นแม่บ้านอายุ 40 - 50 ปี ก็ได้ แต่เขาอาจจะมีความฝันที่อยากจะทำหรือเป็นในอยากที่เขาอยากเป็น ที่ผ่านมาพวกเขาอาจจะใช้แรงงานกันไปโดยที่ได้ผลตอบแทนต่ำ เขาอาจจะฝึกฝนเป็นเชฟ เป็นนักเขียน หรืออะไรก็ได้ที่เขาอยากทำ" 

นโยบายนี้ มีเป้าหมายที่ที่จะทำให้คนไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยจะทำให้คนไทยอย่างน้อย 20 ล้านคนมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนบาทต่อปี หรือ 20,000 บาทต่อเดือน 

"ที่เราตั้งเป้าไว้ที่ 2 แสนบาทต่อปี หรือ เดือนละ 16,000 บาท นั่นเป็นขั้นต่ำ ซึ่งเรามองแล้วว่านี่เป็นเชิงอนุรักษ์ ไม่ว่าจะยังไงเราทำได้แน่ แต่เราไม่คิดว่าคนที่มาอบรมแล้วมีความคิดสร้างสรรค จะได้รายได้เพียงเท่านี้ เพราะรายได้ของคนที่เป็นเชฟทำอาหารบางคนไปหลัก 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน หรือเชฟบางคนอาจจะไปถึงแสนบาท ขึ้นอยู่กับควงามสามารถของเขาหลังจากได้รับการฝึกอบรมไปแล้ว"  กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติปิดท้าย