posttoday

PM2.5 ถึงวันที่เราต้องซื้อ ‘อากาศ’ หายใจ

22 เมษายน 2566

นับเป็นข่าวดีที่มีพายุฤดูร้อนพัดผ่านจังหวัดเชียงราย ทำให้สถานการณ์ PM 2.5 ที่เคยแตะ 300 ไมโครกรัมบรรเทาลง แต่ก็ยังคงหลงเหลือความกังวลในพื้นที่ถึงอนาคตทั้งอันใกล้และอันไกลว่า หากวิกฤตฝุ่นกลับมาอีกครั้งพวกเขาจะรับมือและผ่านไปได้อย่างไร?

ฝนตกเป็นข่าวดีสำหรับชาวเชียงราย แต่มองอีกมุมหนึ่งก็เหมือนตลกร้าย เพราะเท่ากับว่าในยามที่เกิดค่าฝุ่นวิกฤตซึ่งอาจกลับมาอีกได้เมื่อไหร่ก็ยังไม่ทราบนั้น มีความหวังเดียวที่จะ ‘รอด’ คือต้องรอให้ฝนตกลงมาเพียงหนทางเดียว  ในขณะที่ชาวเชียงรายก็ต้องวางแผนปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาฝุ่นที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เพราะเมื่อวิกฤตกลับมาอีกครั้งพวกเขาต้องมีหน้ากากอนามัยที่ราคาแพงขึ้นเพื่อป้องกันค่าฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการซื้อเครื่องฟอกอากาศมาติดตั้งในบ้านเสมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น จนเกิดคำถามขึ้นว่า ต้นทุนของการซื้ออากาศบริสุทธิ์เป็นต้นทุนที่ควรจะเสียหรือไม่?

 

มองย้อนกลับไป ตั้งแต่ช่วงวันที่ 24 มีนาคมเป็นต้นมา เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่จังหวัดทางภาคเหนือเผชิญกับวิกฤตค่าฝุ่น PM 2.5 และทำให้คุณภาพอากาศในพื้นที่เข้าสู่ระดับอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ  การสูบบุหรี่หนึ่งมวนซึ่งมีค่าเท่ากับ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็เท่ากับว่าประชาชนในพื้นที่จะสูบบุหรี่วันหนึ่งอยู่ที่ 13-27 มวน!!!  แน่นอนว่าหากเหตุการณ์นี้ยืดเยื้อออกไปนานกว่านี้สุขภาพของประชาชนทั้งร่างกายและจิตใจก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และได้รับผลกระทบทุกคนตั้งแต่ทารกวัย 1 วันไปจนถึงผู้สูงอายุ

 

ในช่วงเวลาดังกล่าว ทางฝั่งประชาชนทั้งระดับครอบครัวและระดับผู้ประกอบการจึงดิ้นรนหาวิธีเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ ซึ่งราคาสูงกว่าหน้ากากอนามัยปกติเฉลี่ยกว่า 5 เท่า รวมไปถึงการซื้อเครื่องฟอกอากาศมาติดตั้ง โดยทั้งหมดนี้ใช้สัพพะกำลังของแต่ละบุคคล เนื่องจากวิกฤตที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาที่ชัดเจนจากภาครัฐเมื่อเทียบกับมาตราการเชิงรุกเช่นการดับไฟป่า

 

เมืองชียงรายตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาภายใต้ฝุ่น PM2.5

 

เมืองในหมอกควัน สู่วันที่เราต้องซื้ออากาศหายใจ

เป็นเวลากว่า 1 เดือน ที่คนเชียงรายสู้กับปัญหาฝุ่น โดยเฉพาะจากการเผาป่าและเผาพื้นที่ทางการเกษตร แม้ช่วงหลังจะสามารถทำให้จุด Hot Spot จากพื้นที่เกษตรลงลดแตะระดับ 0 แต่ไฟป่ายังคงโหมกระหน่ำและแม้ว่าตอนนี้จะมีพายุเข้ามาให้ชุ่มชื่นได้บ้าง แต่ก็ยังคงมีจุด Hot Spot หลงเหลือและต้องมีการเฝ้าระวังไฟป่าต่อไป .. แต่ที่ต้องจับตาดูคือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ รวมไปถึงมาตรการดูแลประชาชนในพื้นที่ ในฐานะที่ฝุ่นควันจะกลายเป็นภัยพิบัติที่กลับมาได้ในทุกๆ ปี

 

คุณภาธรธฤต สีธิแก้ว Co-founder โรงแรม Bed Friend Poshtel ในจังหวัดเชียงราย ได้แสดงความเห็นในฐานะผู้ประกอบการว่า  ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติต่างขอยกเลิกห้องเป็นจำนวนมาก โดยในช่วง 18 วันของเดือนเมษายนที่ผ่านมามีอัตราการจองล่วงหน้าลดลงกว่าร้อยละ 40 และมีอัตราการเข้าพักแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจากที่เคยมีการเข้าพักเกือบ 4.7  คืนต่อคนเหลือเพียงแค่ 1.5 คืนต่อคน โดยจะเดินทางมาเพื่อต่อรถไปที่อื่น เท่านั้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราการเข้าพักโรงแรมที่เปิดเผยโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่าในช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำสุดเมื่อเทียบกับทั้งประเทศเนื่องจากปัญหาฝุ่น  ..

นอกจากนี้คุณภาธรธฤตยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของราคาห้องยังมีการปรับลดราคา ทำโปรโมชั่นต่างๆ รวมไปถึงการปิดตึกบางส่วนเพื่อคุมค่าใช้จ่ายในการดูแล  รวมไปถึงมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในส่วนของพื้นที่ส่วนรวม แต่ถ้าหากจะติดตั้งในห้องพักก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จนถึงขั้นที่ว่าหากปัญหายังคงลากยาวนานไปต่อไปก็จะตัดสินใจเลย์ออฟพนักงานในเดือนพฤษภาคม  ซึ่งในทุกวันนี้ก็มีการชะลอแผนการลงทุนบางส่วนออกไปบางแล้ว  รวมไปถึงบางโฮสเทลที่มีขนาดเล็กซึ่งเจ้าของดูแลเองในตัวเมืองเชียงรายก็ทยอยปิดกิจการชั่วคราวบางส่วน  และมองว่า ‘สิ่งที่อยากได้ยินเมื่อเจอปัญหาเป็นอย่างแรก คือ ทุกคนอยากรู้ว่าปัญหานี้จะอยู่กับเราไปอีกกี่เดือน กี่สัปดาห์ เพื่อจะได้วางแผนธุรกิจ หรือแม้กระทั่งวางแผนชีวิตได้ เพราะบางครอบครัวบางคนมีลูกน้อย ก็ต้องขังลูกอยู่แต่ในห้องและเปิดเครื่องฟอกอากาศ  ก็อยากสามารถวางแผนว่าหนักถึงขั้นจะอพยพออกไปจากพื้นที่หรือไม่'

 

ก่อนหน้านี้ จังหวัดเชียงรายได้ประกาศขยายเวลาห้ามเผาจากวันที่ 15 เมษายนไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน เนื่องจากยังคงมีจุด Hot Spot เกิดขึ้นอีกหลายจุดจากไฟป่าที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ หากฝนยังไม่ตกลงมา

 

อัพเดท 18 เมษายน 2566  จุด Hot Spot พื้นที่ป่า 241 จุด พื้นที่การเกษตร 4 จุด ก่อนจะมีฝนตก

 

คุณกีรติ วุฒิสกุลชัย ผู้ประกอบการ Grow home โฮมสเตย์และโรงเรียนพัฒนาการสำหรับเด็กในจังหวัดเชียงราย ได้รับผลกระทบอย่างจังเพราะผู้ปกครองไม่อยากพาลูกออกจากบ้านเพื่อมาทำกิจกรรมที่โรงเรียนในช่วงที่ผ่านมา จึงได้ตัดสินใจติดตั้งระบบ Positive pressure คือ ระบบแรงดันบวก ซึ่งเป็นการเติมอากาศจากภายนอกที่ผ่านการกรองเข้ามาในห้องปิด โดยจะช่วยเพิ่มออกซิเจนภายในห้องและช่วยดันฝุ่นขนาดเล็กออกตามช่องต่างๆ  โดยสนนราคาการติดตั้งในพื้นที่เพียง 60 ตารางเมตรใช้งบประมาณกว่า 120,000 บาท  นับเป็นต้นทุนของการซื้ออากาศโดยไม่สามารถเรียกเก็บจากผู้ปกครองได้ และต้องทำเพราะจำเป็นจะต้องให้กิจการดำเนินต่อไปได้  คุณกีรติได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ‘มันเหมือนคนในจังหวัดนี้มีต้นทุนการซื้ออากาศมาหายใจ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ควรจะเสีย’

 

นอกจากนี้ในช่วงเวลาสงกรานต์ที่ผ่านมา มีการขอความร่วมมือเรื่องการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศให้กับนักท่องเที่ยว อันที่จริงแล้วมาตรการนี้สามารถนำไปใช้ได้ในบางร้านอาหารซึ่งเป็นพื้นที่แบบปิดเท่านั้น เพราะร้านอาหารจำนวนมากในจังหวัดเป็นร้านอาหารเปิดโล่งจึงยากต่อการปรับเปลี่ยน  และบางร้านก็ได้มีการปิดร้านชั่วคราวเป็นที่เรียบร้อย ในระดับครัวเรือนเองก็ประสบกับปัญหาเช่นกัน เพราะถ้าบ้านไหนอยากจะมีอากาศดีก็ต้องเสียเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศ และต้องเสียค่าไฟเพิ่มเติม ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลักพันถึงหลักหมื่นแล้วแต่จำนวนเครื่องที่ใช้และคุณภาพของเครื่องฟอกอากาศ  และยังไม่นับรวมค่าหน้ากากกันฝุ่น PM2.5 ที่ราคาสูงกว่าปกติที่ต้องใช้ในทุกวัน

 

เมื่อดูจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2565 ระบุว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนน้อยที่สุดในประเทศ โดยอยู่ที่ 13,497 บาทต่อเดือนเท่ากับ 161,964 บาทต่อปีเท่านั้น เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายเพื่อให้ได้อากาศบริสุทธิ์เหล่านี้จึงเป็น ‘ภาระ’ เพิ่มเติมและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่กระทบต่อเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน หากไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ภาระเหล่านี้ก็จะตกไปอยู่ที่ประชาชนแทบทุกปี

 

จะแก้ไขไม่ใช่แค่ดับไฟ

เสียงจากภาคประชาชนยังสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่ออนาคตของจังหวัดเชียงรายที่อาจเจอกับผลกระทบในอีกหลายมิติทั้งในระยะสั้นและระยะยาวหากยังมีวิกฤตฝุ่นเช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี  อย่างเช่นในด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก-กลาง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเมื่อเจอกับวิกฤตฝุ่นในสองสามเดือนที่ผ่านมา   ธุรกิจมีแนวโน้มจะขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อรายได้และการจ้างงานต่อไป   หรือในภาคแรงงานที่ต้องทำงานในที่เปิดโล่งซึ่งไม่สามารถทำได้หากยังมีฝุ่นควัน  อาจมองรวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของเด็กเล็กที่ไม่สามารถเผชิญกับฝุ่นได้ดีเท่าผู้ใหญ่และเด็กบางคนก็ต้องอยู่แต่ในห้องไม่สามารถออกไปไหนได้ รวมไปถึงเด็กนักเรียนจะเรียนอย่างไร?   โดยเฉพาะบางโรงเรียนที่เปิดเรียนพิเศษช่วงซัมเมอร์ ในเมื่อโรงเรียนในเชียงรายหลายแห่งไม่ได้มีเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศรองรับ หรือแม้แต่ปัญหาสุขภาพของประชาชนในระยะยาว เพราะเราได้เห็นรายงานจากสาธารณสุขเชียงรายที่ออกมาเมื่อต้นเดือนมีนาคมระบุว่า  ฝุ่นพิษดังกล่าวทำให้มีผู้ป่วยที่เข้ามารักษาจากกลุ่มโรคทางเดินหายใจกว่า 29,275 ราย ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน

 

สิ่งสำคัญคือ ภาพลักษณ์ของตัวเมืองเชียงรายที่เข้าสู่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เมืองเป็นฐานของทรัพยากรด้านสุขภาพและนวัตกรรม โดยใช้เศรษฐกิจแบบ Wellness เป็นหัวหอกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะไปต่ออย่างไร? ในเมื่อเมืองยังคงเจอค่าวิกฤตฝุ่นที่ทำลายสุขภาพปอดของผู้คนในระดับนี้   

 

คุณกีรติกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า หลายคนอาจจะยังไม่ออกมาเรียกร้องถึงมาตรการตรงนี้ เพราะภาคประชาชนส่วนหนึ่งยังคงไม่เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาที่จะเกิดขึ้น และมองว่าการอยู่กับฝุ่นแบบนี้จะกลายเป็น ‘ความเคยชิน’ เดี๋ยวฝนตกก็หายไป แต่นี่คือความเคยชินที่สามารถทำลายคุณภาพชีวิตของผู้คน และเมืองเชียงรายในระยะยาว

 

ภาพอ.แม่สาย อำเภอชายแดนของจังหวัดเชียงรายซึ่งได้รับผลกระทบจากการเผาพืชผลทางการเกษตรจากประเทศใกล้เคียงมากที่สุดในทุกปี

 

ต้นตออากาศแย่ไม่ใช่แค่ที่นี่

‘ปัญหาของคนภาคเหนือตอนบนมันไม่กระทบพอเหรอ   จึงไม่สามารถขับเคลื่อนกระแสสังคมและกลายเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องรีบแก้ไขได้’ คือความในใจส่วนหนึ่งของคุณภาธรธฤตที่อยากจะให้ทุกภาคส่วนในประเทศส่งเสียงเพื่อให้เกิดเป็นกระแสสังคมที่จะผลักดันให้เกิดการจัดการกับปัญหาอย่างเด็ดขาด

 

แม้ต้นตอของปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นนี้มีความซับซ้อนและมาจากหลายสาเหตุ  แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งคิดเป็นปริมาณร้อยละ 30 ของจุดความร้อนที่เกิดขึ้น การเผาดังกล่าวส่งผลให้เกิดฝุ่นพิษตามมา  อย่างไรก็ตามชาวไร่ชาวสวนในพื้นที่ควรตกเป็นแพะรับบาปในกรณีนี้เพียงฝ่ายเดียวหรือไม่?  เพราะผู้ประกอบการหรือโรงงานต่างๆ  ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตนี้   ส่วนผลผลิตที่เกิดขึ้นก็อาจจะอยู่ในบ้านของทุกคนก็เป็นได้  เพียงแต่ผู้ที่ต้องรับผลกระทบอย่างหนักตกอยู่แค่คนเพียงกลุ่มหนึ่งในประเทศ ที่ต้องดิ้นรนเพื่อมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ ..  การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงมีหนทางอีกยาวไกล ฤดูกาลก็แค่เข้ามาแวะพักปัญหา แต่มันจะกลับมาอีกในทุกๆ ปีหากทุกคนไม่ร่วมกันแก้ไขและมองว่ามันคือปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันส่งเสียง

 

และท้ายที่สุด การเผชิญกับวิกฤตเช่นนี้ ก็ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า   อากาศบริสุทธิ์ควรจะเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับหรือไม่? อย่าให้คุณค่าของ ‘ลมหายใจ’ ของคนไม่เท่ากันเพราะคุณภาพของมลพิษในอากาศ.

 

ขอขอบคุณ

คุณภาธรธฤต สีธิแก้ว Co-Founder & General Manager Bestiinatio ONE Co., Ltd  โรงแรม BED Friends Poshtel, Chiang Rai

คุณกีรติ วุฒิสกุลชัย Co-Founder Grow home โฮมสเตย์และโรงเรียนพัฒนาการสำหรับเด็กในจังหวัดเชียงราย