posttoday

130 ปี ศิริราช โรงพยาบาลเพื่อแผ่นดิน รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์

19 พฤษภาคม 2561

ศิริราชเป็นโรงพยาบาลเก่าแก่แห่งแรกในประเทศไทย เปิดรักษามาแล้วกว่า 130 ปี ตั้งแต่ตอนที่รัชกาลที่ 5

เรื่อง : อณุสรา ทองอุไร/จุฑามาศ นิจประพันธ์ ภาพ : อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์

ศิริราชเป็นโรงพยาบาลเก่าแก่แห่งแรกในประเทศไทย เปิดรักษามาแล้วกว่า 130 ปี ตั้งแต่ตอนที่รัชกาลที่ 5 สมัยนั้นยังไม่มีลักษณะเป็นโรงพยาบาล เรียกว่าโรงหมอ หรือโรงพยาบาลวังหลัง  เกิดก่อนโรงเรียนแพทย์เพียง 2 ปี อาจารย์ผู้ก่อตั้งเป็นอาจารย์จากต่างประเทศ

รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า นโยบายของศิริราชปีที่ 131 นั้น ตั้งไว้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของแผ่นดินบนมาตรฐานสากล บนพื้นฐานของการเอามาตรฐานมาเป็นที่ตั้ง ต้องการส่งมอบให้คนทั้งแผ่นดิน มีปณิธานที่จะส่งมอบคุณค่าทั้งหลายให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดที่เป็นคนของประเทศไทย คือประชาชน ผู้ป่วยและญาติ ให้การรักษาที่ดี รักษาแล้วหาย ให้รู้สึกได้ถึงความเอื้ออาทร ความปรารถนาดีที่จะดูแล

ปีที่ 131 มุ่งสู่มาตรฐานระดับโลก

“ให้คำมั่นว่าจะให้การรักษาที่ได้ผลและการบริการที่ดีและเหมาะสม โดยไม่ได้หวังกำไร จะให้การรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานสากล และคำว่ามาตรฐานนั้นประชาชนสามารถเข้าถึง ถ้ามีมาตรฐานระดับโลกแต่ประชาชนคนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าไม่ถึง อันนี้ก็ไม่ใช่โรงพยาบาลของแผ่นดินแล้ว อยากให้คนเข้าได้ถึง และยังคงรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน รักษาแล้วหาย มีการดูแลที่ดี ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผล นี่คือเป้าหมายหลักของศิริราช

มีความหลากหลายให้เลือก เช่น คลินิกนอกเวลาสำหรับคนไข้ที่พอมีกำลังจ่ายเพราะไม่อยากรอคิวนานๆ เหมือนคนไข้เช้า และมีส่วนของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ สำหรับคนไข้ที่มีกำลังทรัพย์ต้องการความเป็นส่วนตัวไม่ต้องรอคิว แต่ภาพรวมของการรักษานั้นก็มีมาตรฐานเดียวกันในทั้ง 3 ส่วน เพียงแต่การเข้าถึงมันมีหลายช่องทาง แล้วแต่ความสะดวกที่จะเข้าถึง

130 ปี ศิริราช โรงพยาบาลเพื่อแผ่นดิน รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์

ตอนเย็นก็จะแน่นแต่ยังดีกว่าเช้า สามารถเลือกหมอได้ ยอมจ่ายแพงขึ้นหน่อยหนึ่ง ไปปิยมหาราชการุณย์ ก็เลือกการบริการได้อีกแบบ การมีหลายรูปแบบของการให้บริการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึง แต่บนพื้นฐานนี้อยู่บนมาตรฐานการรักษาพยาบาลแบบเดียวกัน”

ศิริราชมีวันนี้ได้เพราะมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยในการรักษาตลอด รศ.นพ.วิศิษฎ์ ชี้ว่าเพราะเป็นทั้งโรงเรียนแพทย์ ดังนั้นแพทย์ที่ทำการรักษาก็เป็นทั้งหมอทั้งอาจารย์

“แปลว่าต้องพยายามให้มีความตื่นตัวทางวิทยาการสมัยใหม่ มีเหตุมีผล มีหลักฐานทางเชิงประจักษ์ หลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ การรักษาก็จะไม่ล้าสมัย และต้องสอน ต้องถ่ายทอด แพทย์ที่ทำการรักษาที่นี่ ต้องรักษาและต้องวิเคราะห์ เพราะว่าต้องอธิบายสอนลูกศิษย์ว่าทำไมถึงรักษาแบบนี้ ต้องมีเหตุผล เพราะเป็นโรงเรียนแพทย์

เราทำการวิจัยด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูล มีหลักฐานยืนยัน เพราะงานวิจัยทั้งหลายที่อ่านจากต่างประเทศ เขารักษาต่างชาติ รักษาคนประเทศอื่น ฝรั่ง แขก อินเดียเมียนมา แต่มันไม่ใช่ของคนไทย เพราะงั้นก็ควรศึกษาวิจัยเพื่อจะได้ตอบสนองกับปัญหา เราไม่ได้นำหมอและความรู้มาจากเมืองนอกเพียงอย่างเดียว แต่เราตามและศึกษาและวิจัยเพื่อตอบปัญหาของเรา

ในบางเรื่องมันเป็นปัญหาเฉพาะของเราเลย เช่น ไข้เลือดออก ฝรั่งอาจจะไม่มีหรือเรามีเยอะกว่า ซึ่งมันเป็นเรื่องของภูมิภาค เป็นโรคเฉพาะถิ่น แม้แต่โรคมะเร็ง มันก็ไม่เหมือนกัน พวกที่มันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ลักษณะการใช้ชีวิต เรื่องของพยาธิไม่เหมือนกัน ต่างชาติกินเนื้อมาก กินผักน้อยก็เป็นมะเร็งลำไส้ และเรื่องของกรรมพันธุ์คนเราไม่เหมือนกัน เหล่านี้เราไปจำเขามาทั้งหมดไม่ได้

130 ปี ศิริราช โรงพยาบาลเพื่อแผ่นดิน รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์

เพราะที่ศิริราช เป็นโรงเรียนแพทย์ด้วย เลยมีการศึกษาวิจัยและสอนแพทย์ เพราะงั้นการที่คนไทยมาเป็นคนไข้ของศิริราช บางครั้งก็จะมีคนที่เข้าดูแล ทั้งอาจารย์ ทั้งแพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ เป็นเรื่องปกติ นี่คือภาพที่ทำให้เห็นว่าเราอยู่มา 130 ปี และจะก้าวต่อไปเรื่อยๆ ได้อย่างไร”

แม้จะมีคนไข้ที่ขาดทุนทรัพย์ในภาคเช้าอยู่เป็นจำนวนมาก ก็มีเงินอยู่ที่ศิริราชมูลนิธิ เป็นเงินสังคมสงเคราะห์ ที่ช่วยเหลือเป็นค่ารถกลับบ้านซึ่งมีผู้บริจาค โดยผู้ที่มีจิตศรัทธา เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วย

“ตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หมายถึงช่วยเหลือค่ารถ มีกองทุนแบบนี้ แต่โดยมากคนที่บริจาคให้กับศิริราช เขาจะบริจาคที่มูลนิธิส่วนหนึ่ง หรือบางทีคนป่วยกลับไปบ้านไม่มีคนดูแล ก็ต้องเอาเขาไปฝากไว้ที่บ้านที่ดูแลหรือบ้านพึ่งพิง แล้วค่ารถจะไปยังไม่มี ศิริราชก็ต้องใช้เงินที่มีคนบริจาค นี่เป็นส่วนที่เรียกว่าไม่ได้อยู่ในระบบการจัดการของโรงพยาบาล แต่เป็นมูลนิธิคอยช่วยเหลือสิ่งเหล่านี้”

รักษาคนไข้แบบไร้รอยต่อ

ศิริราชมีอาจารย์ที่เก่งทุกด้าน แต่สิ่งที่คิดว่าจะเพิ่มเติม เข้าไปในปีที่ 131 รศ.นพ.วิศิษฎ์ บอกว่า การแพทย์ทุกวันนี้มันเปลี่ยนแนวเป็นการแพทย์ในเชิงผสมผสานหรือบูรณาการ

“เมื่อก่อนนี้คนไข้เป็นอะไร เมื่อไปหาหมอก็จะแยกส่วนออกไป ทุกวันนี้หมอดูองค์รวม พยายามจัดการดูแลที่เป็นองค์รวม หมอผู้เชี่ยวชาญหลายๆ แผนกที่เข้ามาร่วมกัน เช่น ถ้าพูดถึงหลอดเลือดสมอง โรคนี้ไม่ใช่หมออายุรกรรมคนเดียวที่รักษาได้ มีหมอสมอง มีทั้งหมอรังสีที่มีความเชี่ยวชาญในการอ่านภาพรังสี มีหมอผ่าตัดที่สามารถเข้าไปช่วยได้ มีอัมพาตก็มีหมอวิทยาศาสตร์ฟื้นฟูเข้ามาช่วย ตั้งแต่ฝึกกลืน ฝึกยืน ฝึกเดิน ให้ครบวงจร โดยเอาคนไข้เป็นศูนย์กลาง เป็นการทำงานแบบบูรณาการ มันเป็นการดูแลแบบไร้รอยต่อ

130 ปี ศิริราช โรงพยาบาลเพื่อแผ่นดิน รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์

เป็นเรื่องที่ค่อยๆ มุ่งเน้นขึ้นเรื่อยๆ เริ่มทำไปเรื่อยๆ เช่น ศูนย์หลอดเลือดสมอง ศูนย์การนอนหลับ ซึ่งมีศูนย์แบบนี้เยอะ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร มันเป็นการโฟกัสบนสิ่งที่ใช้แพทย์สหสาขาเข้ามาช่วยกัน แนวคิดคือการทำงานที่มีคนไข้เป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดการรักษาที่เร็ว ในเวลาที่เหมาะสมและได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

การดูแลไร้รอยต่อ ไม่ได้แปลว่าคุณอยู่ที่ไหน คุณก็ต้องวิ่งมาที่โรงพยาบาล ไม่ใช่แบบนั้น แต่คือการสร้างเครือข่ายให้เป็นโมเดล ถ้าคุณมีแบบนี้คุณก็เข้าไปที่โรงพยาบาลเครือข่าย เช่น คนหนึ่งเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง บ้านอยู่แถวนครปฐม และเกิดอาการกลางทาง ก็เอาเขามารักษา แต่ถ้าปกติเขารักษาอยู่นครปฐม ก็ต้องส่งข้อมูลกลับไป ไปรับยาที่นครปฐม ถ้ามีปัญหาก็เชื่อมโยงกัน”

‘ศิริราชออนไลน์’ ให้ความรู้ที่ถูกต้อง

การรักษาจากที่บ้าน รศ.นพ.วิศิษฎ์ ย้ำว่าคนไข้ต้องมีองค์ความรู้ มีความรู้ในเรื่องของการรักษาสุขภาพ จะพบว่าความรู้ทางด้านสุขภาพที่กระจายอยู่ในสังคมทุกวันนี้ มันมีเยอะไปหมด

“ไม่รู้จริงหรือไม่จริง ศิริราชจะตั้งศูนย์ในปีที่ 131 เป็นศูนย์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องคือ ‘ศิริราชออนไลน์’ ทำมาตั้งแต่สมัยโซเชียลมีเดียยังไม่นิยม มีทีมงานทำอยู่ แต่ทุกวันนี้โซเชียลมีเดีย ข้อมูลไม่แม่นยำ จึงมีแนวคิดจะทำโครงการให้ความรู้ แบบศิริราชพบปะประชาชน เช่น รายการพบหมอศิริราช 30 ปีแล้ว ทุกวันนี้ยังมีอยู่ เวลาที่สงสัยเรื่องใด เช่น โรคต่อมลูกหมาก หรือปัสสาวะไม่ค่อยออก ก็คีย์ข้อมูลเข้าไปจะรู้ว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ พยายามอัพเดทข้อมูลเพื่อให้ถูกต้องเที่ยงตรง

ตอนนี้มีโปรเจกต์นัดหมอผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น จะพัฒนาร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในการเชื่อมต่อ เริ่มสตาร์ทเวิร์กช็อป การเข้าไปทางนี้มันเข้าได้ทั้งโมบายแอพ และหน้าเว็บไซต์ซึ่งเข้าถึงง่าย ในโทรศัพท์ถ้าใครมี เอสซีบี อีซี่ และเอสซีบี คอนเนก ก็สะดวก เรื่องการแจกยา เดี๋ยวนี้มีคิวอาร์โค้ดตรงซองยาก็โหลดแอพและสแกน ก็จะทราบว่ายามีคุณสมบัติอย่างไร มีผลข้างเคียงอย่างไร กินตอนไหนอย่างไร มันจะเป็นแนวของการเชื่อมโยง นี่คือเรื่องแรกของการรักษาไร้รอยต่อ”

130 ปี ศิริราช โรงพยาบาลเพื่อแผ่นดิน รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์

รับมือสังคมผู้สูงอายุ

คนอายุยืนขึ้น วิทยาการทางการแพทย์ดี รศ.นพ.วิศิษฎ์ บอกว่าอายุขัยเฉลี่ยก็ยาวขึ้น และเป็นโรคมากขึ้น

“เพราะเมื่อก่อนเป็นสองโรคต่อคน ตอนนี้ในหนึ่งคนมีหลายโรค ซับซ้อน ศิริราชก็จะทำศูนย์วิทยาการผู้สูงอายุ ของศิริราชจะทำที่บางใหญ่คือการดูแลระยะท้าย ความหมายคือคนนี้ไม่ได้มีการรักษาใดๆ ที่จะทำให้ยืดชีวิต โรคดำเนินมาถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่เอาคนที่ใกล้ตายไปทิ้ง แต่เป็นศูนย์ที่ทำให้ช่วงชีวิตสุดท้าย เป็นช่วงที่มีคุณค่า มีการดูแลทั้งด้านกาย จิตวิญญาณและสังคม ซึ่งก็มีญาติไปดูแล ถ้าไม่สะดวกก็มีคนดูแล ทำให้จากไปโดยไม่มีห่วงกังวล เรียกว่าตายดี ชื่อศูนย์ว่าศิริราช Hospice เป็นชื่อที่
ทั่วโลกเขาใช้กัน จะจัดตั้งแถวบางใหญ่

ส่วนการดูแลผู้สูงอายุ ก่อนจะเอาคนไข้ไปไว้ที่บ้าน ต้องมีช่วงรอยต่อ การฝึกฝน จะไปอยู่ที่บ้านได้อย่างไร? ต้องปรับสถานที่อยู่ ต้องปรับการดูแล ถ้าจะให้คนไข้ช่วยตัวเองได้ ต้องรู้วิธีกินยา จัดยา ต้องรู้ว่าต้องวัดความดันอะไรทั้งหลาย ก็ต้องมีศูนย์ที่เรียกว่าศูนย์วิทยาการผู้สูงอายุ เพื่อศึกษา เรียกว่าเป็นการดูแลในเรื่องของรอยต่อพยายามทำให้คนไข้กลับไปอยู่ด้วยตัวเขาเองได้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่อยากให้มันเป็น อยู่ที่สมุทรสาคร ชื่อศูนย์วิทยาการผู้สูงอายุ จะเริ่มก่อสร้างปี 2562 เป็นศูนย์เตรียมตัวผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน”

สมาร์ท ฮอสพิทัล (Smart Hospital)

คือการเชื่อมโยงของข้อมูลทั้งหลายภายในโรงพยาบาล รศ.นพ.วิศิษฎ์ ขยายภาพว่า ข้อมูลนี้ไม่ว่าจะมีการรักษาหรือตรวจวินิจฉัยใดๆ ข้อมูลจะอยู่ในฐานข้อมูลโรงพยาบาล

“ถ้าเป็นสมัยก่อน ข้อมูลจะอยู่ในแฟ้มคนไข้ จะมีเอกซเรย์เป็นซองเป็นฟิล์มเต็มไปหมด มันมีผลการตรวจที่แยกกัน ไม่ออนไลน์ ในอนาคตตอนนี้กำลังทำโครงการที่เอาข้อมูลทั้งหมดมาใส่รวมกัน เชื่อมโยงกัน

ส่วนเป้าหมายในปีถัดไป ก็จะทำฐานเวชระเบียนให้อยู่ในฐานเดียวกันให้สำเร็จ ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางการตรวจวินิจฉัย เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง และในการแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้ ต้องมีการรักษาความลับของผู้ป่วยและมีความมั่นคงทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่ใครก็เข้ามาดูได้

130 ปี ศิริราช โรงพยาบาลเพื่อแผ่นดิน รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์

รวมทั้งใช้หุ่นยนต์จัดยา เมื่อก่อนเราต้องเขียนและให้เภสัชกร เภสัชกรก็จะไปสั่ง ไปหยิบ และมาจ่าย แต่ต่อไประบบนี้จะใช้หุ่นยนต์จัดยา คือการนำข้อมูลมาและใช้เครื่องกลไปดึงยามาจากชั้นที่เก็บยา มาในปริมาณที่ถูกต้อง เหมาะสม แม่นยำ

การใช้เครื่องมือเหล่านี้ เป็นเครื่องมือที่ไฮเทค แต่หัวใจอยู่ที่ไฮทัช คือการที่มนุษย์กับมนุษย์ได้เจอกัน มันจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าเอาเทคโนโลยีมาใช้แล้วทำให้มนุษย์กับมนุษย์อยู่ห่างไกลกัน มันไม่ใช่การรักษาพยาบาลที่อยากจะให้เกิดขึ้น แต่อยากให้คนกับคนได้มีเวลาปฏิสัมพันธ์มากขึ้น

โดยที่ไม่ต้องเอาเวลาไปทำงานเหล่านี้ เพราะมันกินเวลาและผิดพลาดได้ง่าย สู้เอาเทคโนโลยีมาทำเพื่อให้คนได้สะดวก ได้มีเวลาไปพูดคุย เช่น หมอไปเยี่ยมคนไข้ ไม่ต้องไปเปิดแฟ้ม พลิกแฟ้มเยอะแยะเสียเวลา ข้อมูลพร้อม เพื่อที่จะได้มีเวลาพูดคุยกับคนไข้ แทนที่จะใช้เวลาพูดคุย มัวแต่ไปโฟกัสการจดเขียนตลอด จึงใช้เทคโนโลยีมาเพื่อเพิ่มคุณค่า นี่คือเป้าหมายของสมาร์ท ฮอสพิทัล (Smart Hospital)”

การรักษาแบบพอเพียง

รศ.นพ.วิศิษฎ์ เปิดให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่าตั้งเป้าการรักษา หรือต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ทุกอย่าง การลงทุน การทำทั้งหลายทั้งปวง ไม่ได้มาแบบลอยๆ

“มันได้ประโยชน์มากไหม มีเหตุมีผลไหม พอประมาณไหม บางทีลงทุนไปเยอะแยะมันคุ้มค่ากับสิ่งที่ทำหรือไม่ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ เราเป็นโรงเรียนแพทย์ ก็ต้องคิด แล้วมีเงินบริจาคมาช่วยทำ เรียกว่าการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงค่าใช้จ่ายสูง ก็มีคนบริจาคมา

การรักษาต่างๆ จะหารือกับคนไข้ ให้มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจ ในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นจากการใช้วิทยาการที่มากเกินไปก็จะพิจารณาว่าเหมาะสมควรจะต้องใช้หรือไม่ คุ้มค่ากับที่ต้องเสียไป แบบนี้ก็คือเรื่องของการก้าวไปถึงความเป็นเลิศและเป็นการแพทย์พอเพียง เมื่อไรก็ตามที่คนไข้รักษาและไม่มีทางหาย เป็นการรักษาประคับประคอง จะเริ่มพูดคุยเรื่องนี้”

ไฮเทค ไฮทัช ไฮแวลู

ศิริราชต้องการส่งมอบคุณค่ากับคนไทยทั้งหมด โดยที่คุณค่านั้นก็คือว่าการรักษาพยาบาลอย่างมีมาตรฐานในระดับโลก รศ.นพ.วิศิษฎ์ บอกว่าต้องทำให้มีการเข้าถึงให้มากที่สุด

“เข้าถึงไม่ได้แปลว่าต้องมาที่ศิริราช สามารถเชื่อมโยงกับศิริราชได้ทุกรูปแบบ และพยายามที่จะดูแลรักษาต่อเนื่อง
วิธีการทั้งหลายก็จะใช้เทคโนโลยีเพราะอยู่ในยุคเทคโนโลยีไฮเทค ก็จะนำตรงนี้มาช่วยให้เกิดไฮทัช และที่สำคัญต้องการให้เกิดไฮแวลู คือสิ่งที่เสียไป ทั้งเวลา เงินทองที่เสียไป ต้องได้คุ้มค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งของคนไข้และของสังคม

เพราะฉะนั้นถึงมาคำพูดของ “การแพทย์พอเพียง” อันนี้สำคัญมาก การแพทย์ไม่พอเพียง เจ๊งไปหมด เพราะค่าใช้จ่ายในเรื่องของการรักษาพยาบาลมันสูงมาก ดังนั้น ต้องมีจุดที่พอเพียง และได้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่าง นั่นคือการแพทย์พอเพียง วางแผนให้คนไข้เลือกและอธิบายให้ฟัง ทำแพงก็ทำได้ ถ้าคุณเลือก เราก็ให้เลือก”

รศ.นพ.วิศิษฎ์ จบที่ศิริราชและอยู่ที่นี่มาเกือบ 30 ปี บอกว่าศิริราชเปลี่ยนไปเยอะมาก ภาพในสมัยก่อนจะนึกว่าหมอโรงพยาบาลศิริราชก็คงมีแต่แก่ๆ หอบตำรา แต่สมัยนี้มีหมอหนุ่มมีประสบการณ์ พร้อมที่จะเรียนรู้ เปิดกว้างและมุ่งมั่นที่จะไปหาอะไรที่มันดีที่สุด เพื่อพัฒนาการที่ดี

“คือจิตวิญญาณของคนศิริราช คือทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในทุกกรณี ได้รับรางวัลมากมาย ต่อจากนี้ศิริราชจะเดินก้าวต่อไปอย่างไม่ยอมหยุด เป้าหมายคือสร้างคุณค่าให้กับผู้รับบริการ สร้างคุณค่าให้กับสังคม และสร้างคุณค่าให้กับประเทศชาติ เชื่อว่า 130 ปีที่ผ่านมา หากมองย้อนหลังไปเห็นการก้าวพัฒนามาจนถึงวันนี้ ถ้ามองไปข้างหน้า มันต้องก้าวไปกว่านี้เยอะ คิดว่าอีก 100 ปีต่อไป ศิริราชจะต้องดีมาก มั่นใจในทีมงาน มั่นใจในจิตวิญญาณของศิริราช

หลักการบริหารงานคือ “คน” บริหารคนให้มีเป้าหมายร่วมกัน ทำงานร่วมกันและวางเป้าหมายให้ชัดเจน สร้างทีมงานที่เข้มแข็ง ให้ทำงานในสิ่งที่ถนัด สนับสนุนให้ทรัพยากรทุกเรื่อง ให้เป้าหมายชัด มอบหมายงาน อยู่บนความสามารถของทีมงาน ให้อำนาจในการตัดสินใจ และช่วยแก้ไขปัญหา แต่เป้าหมายต้องชัดมาก คนสำคัญที่สุด”