posttoday

คู่มือโรคพิษสุนัขบ้า รวมสาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน วัคซีน

03 ตุลาคม 2562

"พิษสุนัขบ้า" โรคติดเชื้อร้ายแรงที่ยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ช่วยกันหยุด! ก่อนระบาดเพิ่ม

"พิษสุนัขบ้า" โรคติดเชื้อร้ายแรงที่ยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ช่วยกันหยุด! ก่อนระบาดเพิ่ม

ขณะนี้กรมปศุสัตว์ จังหวัดนนทบุรี เผยแพร่ประกาศ เรื่อง ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หลังพบว่าในพื้นที่ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี มีสุนัขเกิดโรคระบาดชนิดโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ซึ่งโรคนี้เป็นโรคระบาดร้ายแรง อาจระบาดไปยังสุนัขและแมว ตลอดจนประชาชนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ได้

คู่มือโรคพิษสุนัขบ้า รวมสาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน วัคซีน

พิษสุนัขบ้า คืออะไร?

โรคพิษสุนัขบ้า หรือบางครั้งเรียก โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว วัว ควาย หนู กระต่าย ค้างคาว และสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ ความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้าคือ มีอาการต่อระบบประสาท เช่น เส้นประสาท สมอง มีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ที่สำคัญปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษามีแต่วัคซีนป้องกันโรคเท่านั้น

สาเหตุของพิษสุนัขบ้า: เชื้อพิษสุนัขบ้าติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร?

โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจาก เชื้อไวรัส (Rabies) ซึ่งเชื้อนี้อยู่ในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นโรค ส่งผลให้โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกข่วน กัด หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล ผิวหนังถลอก หรือถูกเลียบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น นอกจากนี้การรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้

สำหรับประเทศไทยพบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขมากที่สุด รองมาเป็นแมว ถ้าโดนสุนัขกัดและไม่รู้ว่าสุนัขตัวนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ให้คิดไว้ก่อนว่า สุนัขตัวนั้นเป็นโรค โดยอัตราการเป็นโรคหลังถูกกัดอยู่ที่ 35% และบริเวณที่ถูกกัดก็ส่งผลแตกต่างกัน ถ้าถูกกัดบริเวณขามีโอกาสเป็นโรคประมาณ 21% ถ้าถูกกัดที่บริเวณใบหน้าจะมีโอกาสเป็นโรคถึง 88% ถ้าเป็นแผลตื้น หรือแผลถลอกจะมีโอกาสเป็นโรคน้อยกว่าแผลลึก

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคน

หลังจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปี ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บ เสียวแปลบคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน

ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง อาการจะมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว น้ำตาตาไหล น้ำลายไหล เหงื่ออกมาก มีอาการกลัวลม เพียงแค่ลองเป่าลม หรือโบกลมผ่านเบาๆ ก็จะผวา จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต รวมถึงมีอาการกลัวน้ำ เวลาดื่มน้ำจะปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอ ทำให้กลืนลำบาก ไม่กล้าดื่มน้ำ แต่ยังรู้สึกตัว มีสติ พูดคุยได้ ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน

ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจหมดสติและเป็นอัมพาตก่อนจะมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

แนวทางการดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำ ฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้งทันที ล้างทุกแผลและลึกถึงก้นแผลนานอย่างน้อย 15 นาที อย่าให้แผลช้ำ เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน หรือฮิบิเทนในน้ำ หากไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70%

การให้ยาปฏิชีวินะ ผู้ที่ถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัดควรพบแพทย์ เนื่องจากอาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาการติดเชื้อหรือเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

การให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

  • หากเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง และเข็มสุดท้ายนานกว่า 5 ปี มาแล้ว ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก กระตุ้น 1 เข็ม
  • หากไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน หรือได้รับไม่ครบ 3 เข็ม ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก 3 ครั้งหรือ 1 คอร์ส

ระดับการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าขององค์การอนามัยโลก

  • สัมผัสโรคระดับ 1 สัมผัสสัตว์โดยผิวหนังปกติ ไม่มีบาดแผล
  • สัมผัสโรคระดับ 2 สัตว์กัด หรือข่วน เป็นรอยช้ำ เป็นแผลถลอก สัตว์เลียบาดแผล บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่ทำให้สุก
  • สัมผัสโรคระดับ 3 สัตว์กัด หรือข่วนทะลุผ่านผิวหนัง มีเลือดออกชัดเจน น้ำลายสัตว์ถูกเยื่อบุ หรือบาดแผลเปิด รวมทั้งค้างคาวกัด หรือข่วน

การให้วัคซีนแบบก่อนการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า สามารถฉีดได้ในกรณีที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการสัมผัสโรคคลอดเวลา หรือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

คู่มือโรคพิษสุนัขบ้า รวมสาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน วัคซีน

การตรวจสมองสัตว์

  • การส่งตรวจสมองในกรณีที่สัตว์ตาย ควรนำซากสัตว์ส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง และแช่แข็งเพื่อไม่ให้สมองเน่า
  • ในกรณีซากสัตว์เน่า หรือสัตว์ที่กัดมีประวัติอาการคล้ายโรคพิษสุนัขบ้า แม้ว่าผลการตรวจสมองสัตว์ได้ผลลบ อาจได้รับการรักษาแบบภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การรักษาภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

จะฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าในกรณีสัมผัสโรคระดับ 2 และกรณีสัมผัสโรคระดับ 3 และจะให้ rabies immuneglobulin เพิ่มเติมในกรณีที่เป็นการสัมผัสโรคระดับ 3 เนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง ทั้งนี้รายละเอียดวิธีการฉีดวัคซีนขึ้นอยู่กับประวัติการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเดิมของผู้ป่วยด้วย กล่าวคือ หากไม่เคยได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อนเลยให้เริ่มฉีดวัคซีนใหม่ให้ครบ 1 คอร์ส แต่หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายภายใน 6 เดือน ให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็ม ส่วนกรณีที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน ให้ฉีดกระตุ้น 2 เข็มในกรณีที่ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน หรือฉีดวัคซีนเข้าในหนังบริเวณต้นแขน อีกทั้งหากเป็นผู้ป่วยที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนแม้จะเป็นการสัมผัสโรคระดับ 3 ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฉีด rabies immune globulin เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาและให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาอย่างเร่งด่วน

โรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว

เราคงรู้กันอยู่แล้วว่าโรคพิษสุนัขบ้านั้นเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ และเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่บางคนอาจจะชะล่าใจคิดว่าโดนสุนัขและแมวจรจัดข่วนนิดหน่อยอาจจะไม่เป็นอะไร แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะแพร่ผ่านทางน้ำลายโดยการกัดเสียส่วนมาก แต่การถูกสุนัขและแมวที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผล ก็สามารถทำให้เราติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าโดนสุนัขและแมวจรจัดข่วน โดยเฉพาะข่วนจนเลือดออก ห้ามใจเย็นเด็ดขาด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที

อาการของสุนัขและแมวที่ต้องสงสัยว่า เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เริ่มแรกเชื้อจะอาศัยที่กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัด เข้าสู่กระแสเลือด และค่อย ๆ ลามไปสู่ระบบประสาทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นประสาทส่วนปลาย หรือระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมอง เป็นต้น ภายหลังจากถูกกัด โรคอาจใช้เวลาเป็น 1-3 เดือนในการพัฒนา แต่เมื่อพ้นภาวะเบื้องต้นไปแล้ว อาจพัฒนาเข้าสู่ระยะแพร่เชื้อที่สัตว์จะแสดงอาการโกรธ (furious stage) และระยะท้ายที่สัตว์จะเป็นอัมพาต (paralytic stage) โดยทั้งสองระยะอาจเป็นพร้อมกันได้

อาการที่สำคัญของสัตว์ที่ติดโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ หลบซ่อนตัวตามุมมืด ไม่กินอาหาร จากนั้นราว 48 ชั่วโมง จะมีอาการกระสับกระสาย นิสัยเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มีความดุร้ายกัดคนไปทั่ว ต่อมาจะเริ่มมีอาการทางประสาท เช่น ชักกระตุก มีภาวะอัมพาตทั้งตัว เดินไม่ได้ อ้าปากค้าง กรามล่างห้อย กลืนน้ำ หรืออาหารลำบาก กล่องเสียง หรือกรามล่างเป็นอัมพาต น้ำลายไหลยืด บางตัวอาจพบว่าน้ำลายฟูมปาก กลัวน้ำ และตายภายใน 2-3 วัน

การวินิจฉัยและการตรวจพิษสุนัขบ้า

หากสงสัยว่า สุนัขหรือแมวของท่านเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้กักขังสัตว์ไว้ แต่ถ้าหากแสดงอาการดุมาก อาจต้องติดต่อเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เพื่อวางยาสลบ หรือจับ เมื่อผ่านไป 10 วัน หากอาการปกติดีแสดงว่าไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากมีอาการแสดงตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น สัตว์มักจะตายในเวลา 1 สัปดาห์ต่อมา การวินิจฉัยยืนยันที่สามารถทำได้ในปัจจุบันคงจะเป็นเรื่องของการผ่าซากเพื่อหาเชื้อโรคที่ปรากฏอยู่ในสมองส่วน cerebellum เท่านั้น ส่วนการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อยังไม่สามารถทำได้

คู่มือโรคพิษสุนัขบ้า รวมสาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน วัคซีน

การรักษาและการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

คน หรือสัตว์เลี้ยงที่ถูกสุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นโรคกัด ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและรีบพาไปโรงพยาบาล โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถฉีดวัคซีนภายหลังจากการถูกกัดเพื่อป้องกันโรคได้ เพราะการพัฒนาของภูมิคุ้มกันโรคนั้นเร็วกว่าการแพร่กระจายของเชื้อโรคซึ่งสามารถทำได้ทั้งในสัตว์และในคน แต่จำเป็นต้องไปฉีดยาหลายครั้ง เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่วมกับการป้องกันบาดทะยัก แต่หากสุนัข หรือแมวตัวนั้นแสดงอาการทางระบบประสาท หรือแสดงอาการก้าวร้าว แสดงว่า เชื้อได้เข้าไปยังสมองแล้ว และมักตายภายใน 7-10 วัน ในช่วงนี้ให้กักขังสัตว์เอาไว้ ไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่สัตว์หรือคนอื่น ๆ ต่อไป

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังถูกกัด

สูตรฉีดเข้ากล้าม ฉีดวัคซีน 0.1 มิลลิลิตร หรือ 0.5 มิลลิลิตร ขึ้นกับชนิดของวัคซีนใน 1 หลอดเมื่อละลายแล้ว ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28

สูตรการฉีดเข้าในหนัง ฉีดวัคซีนเข้าในหนังบริเวณต้นแขน 2 ข้าง ข้างละ 1 จุด รวม 2 จุด ปริมาณจุดละ 0.1 มล. ในวันที่ 0, 3, 7 และ 28

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนถูกกัด

1.การทำวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง

คุณสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นวัคซีนราคาถูก เพราะกรมปศุสัตว์มีแผนจะทำให้โรคพิษสุนัขบ้าปลอดจากประเทศไทยให้ได้ บางครั้งอาจมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าฟรี อย่างไรก็ตาม เจ้าของควรพาสุนัขหรือแมวไปฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 3 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งที่ 6 เดือน ถึงแม้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าจะสามารถป้องกันโรคได้นานกว่า 5 ปี แต่เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นถิ่นที่มีการระบาดอยู่จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนทุกปีจึงจะปลอดภัย หลายคนมักเข้าใจว่า โรคพิษสุนัขบ้าระบาดเฉพาะในฤดูร้อน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว แต่สามารถติดเชื้อได้ทุกฤดู จึงควรฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงทุกตัว

2.การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในคน

วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า (Rabies Vaccine) ควรฉีดในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์และเด็ก และควรฉีดก่อนสัมผัสสัตว์ การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสสัตว์ มีวิธีการฉีดแตกต่างกัน

ประชาชนทั่วไป

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 1 เข็ม ในวันที่ 0 และ 7
  • ฉีดเข้าในหนังบริเวณต้นแขน 0.1 มิลลิลิตร /จุด จำนวน 2 จุด ในวันที่ 0 และ 7 หรือ 21

ผู้ที่มีปัจจัยสูงในการสัมผัสโรคตลอดเวลา หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 1 เข็ม ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28
  • ฉีดเข้าในหนังบริเวณต้นแขน 0.1 มิลลิลิตร /จุด จำนวน 1 จุด ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28

ผู้ที่สัมผัส หรือถูกสัตว์กัดและไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาก่อน ให้ฉีดอิมมูโนโกลบูลิน ถ้าเป็นแค่รอยฟกช้ำ แผลไม่มีเลือดออก ก็ไม่จำเป็นต้องให้อิมมูโนโกลบูลิน ส่วนอาการข้างเคียงของอิมมูโนโกลบูลินอาจเกิดปฏิกิริยารุนแรงหรือ serum sickness

อาการข้างเคียงของวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่พบ คือ บวม เจ็บ คันบริเวณที่ฉีด อาการทั่วไปที่พบคือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้และปวดกล้ามเนื้อ