posttoday

การใช้เอไอ สร้างประโยชน์สังคมไทย

18 ธันวาคม 2561

หลายปีก่อนผมได้ฟังการบรรยายของ Hans Rosling นักสถิติชื่อดังชาวสวีเดน ที่ทำงานด้านการนำเสนอแผนภาพข้อมูล

เรื่อง เคนท์ วอล์กเกอร์ Senior Vice President กูเกิล แอฟแฟร์ส

หลายปีก่อนผมได้ฟังการบรรยายของ Hans Rosling นักสถิติชื่อดังชาวสวีเดน ที่ทำงานด้านการนำเสนอแผนภาพข้อมูล เขาฝันถึงแดชบอร์ดสำหรับวิกฤตทั่วโลก เขากล่าวว่า “เรามีแดชบอร์ดสำหรับรถยนต์แล้ว แต่เรายังไม่มีแดชบอร์ดสำหรับปัญหาใหญ่ๆ ที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่”

วันนี้แดชบอร์ดที่ว่านั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เรากำลังผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมและพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการประมวลผลข้อมูล เครื่องมือเหล่านี้เริ่มช่วยให้เราเข้าใจวิกฤตที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา นอกจากนี้ยังช่วยระบุรูปแบบต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อม เยียวยา หรือแม้กระทั่งป้องกันวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราอยู่ในจุดที่เอไอกำลังพัฒนาความสามารถของมนุษยชาติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่ Hans Rosling คิดไว้

แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากเอไอและป้องกันผลกระทบของมันไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร?

ก่อนอื่นเราต้องมีการพัฒนาเอไออย่างครอบคลุม บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายมีหน้าที่ในการเพิ่มจำนวนพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งกูเกิลด้วย และพวกเขาควรเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่อยู่นอกองค์กรได้ใช้เครื่องมือในการสร้างเอไออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นประโยชน์ต่อสังคม สำหรับกูเกิลมี TensorFlow แมชีนเลิร์นนิ่งเฟรมเวิร์กแบบโอเพ่นซอร์สที่ให้บริการฟรีสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ เรายังมีความมุ่งมั่นที่จะใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีด้วยความรับผิดชอบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทีมงานของเราได้เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบนี้ต้องมาก่อนการพัฒนาเอไอและเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ เราต้องการที่จะสร้างกฎบัตรจริยธรรมเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในองค์กร และแบ่งปันค่านิยมของเราสู่สังคม ในปีนี้เราได้ประกาศหลักการในการพัฒนาเอไอซึ่งเป็นกฎบัตรจริยธรรมสำหรับการพัฒนาเอไอ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ของกูเกิล

หลักการเหล่านี้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเภทของฟีเจอร์ที่ควรต้องสร้างและการค้นคว้าวิจัยต่างๆ ที่ควรดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าอาจมีประโยชน์เช่นเดียวกับเทคโนโลยีและเครื่องมืออํานวยความสะดวกใหม่ๆ ที่ช่วยตามหาคนหาย รวมทั้งแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์

ขณะเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบในเชิงลบ เรายังได้ร่วมมือกับองค์ต่างๆ เพื่อระบุและแจกแจงความท้าทายเหล่านี้ ที่กูเกิลพิจารณาข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนโยบายที่สำคัญต่างๆ ก่อนที่จะอนุญาตให้ใช้ API สำหรับการจดจำใบหน้าบนกูเกิลคลาวด์

หลักการในการพัฒนาเอไอ ประการแรกของกูเกิลคือ เทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอยู่จะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม ปัจจุบันเอไอได้ผนวกรวมเข้ากับแอพพลิเคชั่นและบริการต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก อีกทั้งยังสามารถใช้ในการแก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้ด้วย

เราตระหนักดีว่ามีความคิดที่ยอดเยี่ยมมากมายที่ไม่ได้รับการต่อยอดให้เกิดประโยชน์ขึ้นจริงเนื่องจากขาดทรัพยากรที่จำเป็น ด้วยเหตุนี้กูเกิลจึงได้เปิดตัวโครงการ Google AI Challenge Impact ที่เปิดโอกาสให้องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร องค์กรทางสังคม และสถาบันการวิจัยทั่วโลก ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้เอไอในการแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ในสังคม พร้อมด้วยเงินทุนสนับสนุน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากกูเกิล

การพัฒนาเอไอให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม หมายถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการนิยามความหมายของสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ความร่วมมือของรัฐบาลมีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากบทบาทสำคัญของรัฐในการจัดหาสินค้าสาธารณะและการควบคุมอุตสาหกรรมต่างๆ

สำหรับในประเทศไทยกำลังเริ่มโครงการที่น่าตื่นเต้นในการใช้เอไอเพื่อป้องกันภาวะตาบอดในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวาน 5 ล้านคน และ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แต่ในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาเพียง 1,400 คน เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยผู้ป่วยจากการสูญเสียการมองเห็นได้มากขึ้น เราได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการนำร่องที่ใช้เทคโนโลยีเอไอในการตรวจหาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรองผู้ป่วยได้มากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง

ประการสุดท้าย เราจำเป็นต้องมีกรอบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาเอไอจะต้องอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่เปิดโอกาสให้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมีการเติบโต ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบและการประยุกต์ใช้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เพื่อแก้ไขปัญหาความกังวลทั้งหมดในสังคม กรอบการกำกับดูแลเหล่านี้ต้องเกิดจากกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคอุตสาหกรรม

การใช้เอไอ สร้างประโยชน์สังคมไทย