posttoday

เลเซอร์อัจฉริยะที่ช่วยวินิจฉัยอาการบาดเจ็บทางสมอง

15 ธันวาคม 2566

อาการบาดเจ็บทางสมอง อีกหนึ่งเรื่องน่าหนักใจเมื่อประสบอุบัติเหตุ เพราะเป็นการบาดเจ็บที่อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตที่ยากต่อการวินิจฉัยจากภายนอก แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้น เลเซอร์อัจฉริยะช่วยวินิจฉัยอาการบาดเจ็บทางสมอง

อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ หนึ่งในอาการบาดเจ็บทั่วไปที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีร้ายแรงเมื่อความเสียหายรุนแรงจนสมองกระทบกระเทือนจากกรณีใดๆ อาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บทางสมองที่สามารถนำไปสู่อาการแทรกซ้อนมากมาย และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน

 

          นี่เป็นอาการร้ายแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การหกล้มหัวฟาดพื้น, ประสบอุบัติเหตุจนหัวถูกกระแทก, ตกจากที่สูงโดยเอาหัวลง หรือบางครั้งเพียงหัวถูกกระแทกอย่างรุนแรงจากวัตถุบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ทั้งสิ้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อเข้ารับการรักษาทันท่วงที

 

          ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดค้นเซอร์อัจฉริยะที่สามารถวินิจฉัยอาการบาดเจ็บทางสมองได้

 

เลเซอร์อัจฉริยะที่ช่วยวินิจฉัยอาการบาดเจ็บทางสมอง

 

แนวทางพัฒนาเลเซอร์อัจฉริยะ

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Birmingham กับการคิดค้นเลเซอร์อัจฉริยะ ที่สามารถตรวจสอบความเสียหายและอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับสมอง อาศัยเพียงการฉายแสงเลเซอร์เข้าสู่ดวงตาก็สามารถชี้วัดอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ

 

          ทุกวันนี้การตรวจสอบอาการบาดเจ็บทางสมองให้แน่ชัดถือเป็นเรื่องยาก เมื่อเกิดการกระแทกหรือแรงปะทะเข้ากับศีรษะหลายครั้งมักไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายทันที หากต้องการตรวจให้แน่ชัดจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่อง MRI หรือ CT scan ที่ได้รับการติดตั้งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งไม่สะดวกต่อการใช้งานต่อผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ ทำให้เราอาจไม่สามารถรักษาผู้ป่วยทันท่วงที จนความเสียหายต่อสมองเกิดขึ้นอย่างถาวร

 

          ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเลเซอร์ชนิดใหม่ที่ใช้ตรวจสอบอาการบาดเจ็บทางสมองโดยเฉพาะ ใช้ในการวินิจฉัยเบื้องต้นต่อผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น และสามารถตอบสนองต่อการรักษาอย่างทันท่วงที

 

          เป้าหมายที่แสงเลเซอร์ต้องการตรวจสอบแท้จริงคือ หลอดเลือดหลังเรตินาและจอประสาทตา เริ่มต้นจากการยิงเลเซอร์ที่มีความปลอดภัยต่อดวงตา ทะลุทะลวงเข้าไปตรวจสอบเนื้อเยื่อสมองซึ่งอยู่ถัดจากดวงตาเข้าไป อาศัยเทคนิค Raman spectroscopy ที่มีจุดเด่นในการตรวจสอบคุณสมบัติสารผ่านแสงโดยไม่ต้องสัมผัสและส่งผลกระทบกับตัวอย่าง

 

          ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เราอาศัยเพียงแสงเลเซอร์เพื่อตรวจสอบโมเลกุลโปรตีนและไขมันที่อยู่ภายใน วัดอัตราการกระเจิงแสงที่เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการระบุและวินิจฉัยความเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อสมองผ่านดวงตา จากนั้นจึงนำข้อมูลอัตราการกระเจิงแสงของวัตถุ มาชี้วัดอัตราการบาดเจ็บทางสมองของผู้ป่วย

 

เลเซอร์อัจฉริยะที่ช่วยวินิจฉัยอาการบาดเจ็บทางสมอง

 

จากเลเซอร์อัจฉริยะสู่การใช้งานบนสมาร์ทโฟน

 

          ในขั้นตอนการทดสอบอุปกรณ์ที่พวกเขานำมาใช้งานคือ สมาร์ทโฟนที่ได้รับการติดตั้งเลเซอร์ชนิดนี้ แล้วจึงทำการจำลองจอประสาทตา ดวงตา ไปจนระบบประสาทเทียมขึ้นมาเพื่อทำการตรวจสอบ จากนั้นพวกเขาจึงฉายเลเซอร์แล้วเก็บภาพแล้วนำไปป้อนเข้าสู่ระบบอัลกอริทึมเฉพาะเพื่อทำการวิเคราะห์

 

          ผลปรากฏว่าการตรวจสอบผ่านเลเซอร์ช่วยตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้อย่างแม่นยำ สามารถใช้งานและทำความเข้าใจได้ง่ายไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญเฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการวินิจฉัยและลดค่าใช้จ่ายในสำหรับตรวจสอบอาการบาดเจ็บทางสมองลงมาก

 

          นั่นทำให้ในอนาคตเราสามารถนำอุปกรณ์เลเซอร์มาติดตั้งเข้ากับสมาร์ทโฟน จากนั้นเพียงถ่ายภาพเราก็อาจจะสามารถประเมินและวินิจฉัยอาการบาดเจ็บทางสมองแบบเรียลไทม์ได้ทันที ช่วยให้เราสามารถประเมินอาการเบื้องต้นได้เมื่อได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ

 

          แน่นอนไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกพึ่งพาหมอ การวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางยังจำเป็น แต่เครื่องนี้จะช่วยทุ่นแรงและเวลาให้กับเจ้าหน้าที่การแพทย์ โดยเฉพาะในสถานการณ์เร่งด่วนอย่างการเกิดอุบัติเหตุหรือใช้งานในห้องฉุกเฉิน เพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยไม่ทำให้เกิดการตกหล่นของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง

 

          คาดว่าเลเซอร์อัจฉริยะนี้จะได้รับความนิยมในการใช้งานในห้องฉุกเฉิน, หน่วยกู้ชีพ, สถานพยาบาลขนาดเล็ก หรือแม้แต่บ้านพักคนชรา เพื่อให้สามารถประเมินเบื้องต้นอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยและสามารถรับมือได้ทันท่วงที ไปจนใช้งานในการประเมินสภาพร่างกายนักกีฬาอย่าง อเมริกันฟุตบอล หรือ มวยสากล ต่อไป

 

          นี่จึงถือเป็นอุปกรณ์อีกชนิดที่จะช่วยลดความเสียหายถาวรและการเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บทางสมองได้อีกมาก

 

 

 

          น่าเสียดายที่อุปกรณ์นี้ยังอยู่ในขั้นทดสอบ จำเป็นต้องตรวจการใช้งานในหลายสภาวะ เช่น ในบริเวณที่มีแสงจ้าภาพที่ได้จะถูกรบกวนหรือไม่ แต่ล่าสุดทางทีมวิจัยยังคงพัฒนาอัลกอริทึมสำหรับตรวจสอบ โดยตั้งเป้าในการพัฒนา AI ที่ได้รับการพัฒนามาเฉพาะ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในขั้นตอนประเมินอาการต่อไป

 

 

 

          ที่มา

 

          https://newatlas.com/medical/handheld-safe-laser-detects-brain-injury-biomarkers-concussion/

 

          https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/traumatic-brain-injury

 

          https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/head-injury

 

          https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Head-Injury

 

          https://www.scispec.co.th/raman.html