posttoday

P-CARE เข็มฉีดยาชนิดอ่อนนุ่มที่ปลอดภัยต่อร่างกาย

04 ธันวาคม 2566

การฉีดยา เรื่องน่าปวดหัวสำหรับคนทุกช่วงวัย ทั้งจากความยุ่งยากและการเจ็บตัวที่เกิดขึ้นหลังรับการฉีด โดยเฉพาะหากผู้ฉีดขาดความชำนาญย่อมทำให้หลายคนขยาดกันไม่น้อย แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้น เข็มฉีดยาชนิดอ่อนนุ่ม ที่จะช่วยลดความเจ็บในการฉีดยา

ตั้งแต่เล็กจนโตเชื่อว่าทุกท่านต้องได้รับการฉีดยามาไม่มากก็น้อย นับจากการฉีดยารับวัคซีนที่จำเป็นตั้งแต่วัยเยาว์เป็นต้นมา ไปจนการรับวัคซีนประจำปีเพื่อป้องกันโรคชนิดต่างๆ แต่เชื่อว่าหลายท่านคงนึกถึงและจดจำประสบการณ์นี้ได้ไม่ยาก เพราะเราเพิ่งผ่านการฉีดวัคซีนโควิดมาไม่นาน

 

          เชื่อว่าเมื่อพูดถึงเข็มฉีดยาและการฉีดยาไม่น่าจะมีใครชื่นชอบ แม้จะเข้าใจว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาแต่คนส่วนใหญ่ย่อมไม่ชอบความรู้สึกตอนเข็มแทงเข้ามาในเนื้อ ย่อมไม่ต้องพูดถึงคนกลัวเข็มอยู่ก่อนที่อาจรู้สึกทุกข์ทรมาน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการฉีดยาสร้างความเจ็บปวดไม่มากก็น้อย

 

          ล่าสุดมีการคิดค้นเข็มฉีดยาชนิดใหม่ที่ปลอดภัยต่อร่างกายมากขึ้น แต่คงต้องมาพูดถึงปัญหาการฉีดยาในปัจจุบันกันเสียหน่อย

 

P-CARE เข็มฉีดยาชนิดอ่อนนุ่มที่ปลอดภัยต่อร่างกาย

 

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับการฉีดยาในปัจจุบัน

 

          การฉีดยาที่ทำกันทั่วไปคือการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ วิธีนี้จะช่วยให้ตัวยาไหลเวียนสู่ร่างกายและออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่นาที ถือเป็นแนวทางการฉีดที่ได้รับความนิยมสูงสุด ส่วนความเจ็บปวดจากการฉีดยานั้นแม้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยในหลายด้าน แต่โดยมากจะขึ้นกับความชำนาญของผู้ฉีดโดยตรง

 

          ที่เป็นแบบนี้เนื่องจากโครงสร้างวัสดุของเข็มฉีดยาที่ใช้งานในปัจจุบันมักทำจากสแตนเลสหรือพลาสติก ตัวเข็มเป็นวัสดุแข็งแตกต่างจากเนื้อเยื่อในร่างกายที่อ่อนนุ่ม อีกทั้งร่างกายแต่ละคนยังมีความแตกต่าง นั่นทำให้หากผู้ป่วยเคลื่อนไหวมากเกินไปหรือผู้ฉีดขาดความชำนาญจึงอาจไม่จบแค่เพียงเจ็บตัว แต่อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

 

          อาการแทรกซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น การจิ้มเข็มลึกเกินไปทำให้หลอดเลือดดำเกิดความเสียหาย, เลือดไหลจากแผลฉีดยาจนทำให้เกิดเลือดคั่งหรือลิ่มเลือด,เกิดการบาดเจ็บบริเวณหลอดเลือดนำไปสู่การอักเสบหรือติดเชื้อ, จิ้มเข็มพลาดจนทำให้ยาที่ฉีดซึมสู่เนื้อเยื่อแทนที่จะเป็นหลอดเลือด ฯลฯ

 

          นอกจากอาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว เข็มฉีดยายังถือเป็นขยะติดเชื้อที่ต้องได้รับการคัดแยกและจัดการอย่างเหมาะสม หากพลั้งเผลอหรือได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกวิธีจนได้รับบาดแผล เข็มฉีดยาอาจกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสและโรคติดต่อจากเลือดของผู้ป่วยได้

 

          อีกทั้งในกรณีสถานพยาบาลบางแห่งขาดจริยธรรมทางการแพทย์ตัดสินใจนำเข็มฉีดยาใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ แม้ปัจจุบันมีการกวดขันและป้องกันเรื่องเหล่านี้กับสถานพยาบาลอย่างเข้มงวด แต่หากเกิดขึ้นก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อเป็นวงกว้างของผู้ป่วยได้เช่นกัน

 

          ด้วยเหตุผลที่ว่ามาข้างต้นนำไปสู่การคิดค้นเข็มฉีดยาชนิดใหม่ที่จะช่วยป้องกันเหตุไม่คาดฝันจากเข็มฉีดยา

 

P-CARE เข็มฉีดยาชนิดอ่อนนุ่มที่ปลอดภัยต่อร่างกาย

 

P-CARE เข็มฉีดยาชนิดใหม่ที่ไม่ทำร้ายหลอดเลือด

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) กับการคิดค้นเข็มฉีดยาชนิดใหม่กับ P-CARE เข็มฉีดยาแบบอ่อน ที่จะไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บภายในหลอดเลือด และช่วยขจัดปัญหาอุบัติเหตุเกี่ยวกับเข็มฉีดยาและการใช้ซ้ำไปพร้อมกัน

 

          ตัวเข็มทำจากโลหะ แกลเลียม ที่ถูกขึ้นรูปเป็นเข็มโลหะกลวงไว้สำหรับส่งผ่านยา โลหะชนิดนี้มีจุดเด่นที่มีจุดหลอมเหลวสูงกว่าอุณหภูมิห้องเพียงเล็กน้อย จุดนี้เองจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ให้เป็นเข็มที่ไม่มีอันตราย โดยจะถูกหุ้มเอาไว้ภายใต้ซิลิโคนที่มีความอ่อนนุ่มไว้อีกชั้น

 

          การใช้งานเข็มฉีดยาชนิดนี้ที่ต้องทำคือ แทงเข็มใส่ผิวหนังผู้ป่วยเหมือนปกติ ตัวเข็มได้รับการออกแบบให้แทงทะลุผ่านผิวหนังได้ เมื่อแทงเข้าไปถึงหลอดเลือดดำและได้รับการถ่ายทอดอุณหภูมิจากร่างกาย แกลเลียมจะเริ่มเสียความแข็งตัวและละลายเป็นของเหลว ทำให้ตัวเข็มมีความยืดหยุ่นไม่ทำอันตรายต่อหลอดเลือดและเนื้อเยื่อโดยรอบ แต่ยังสามารถส่งผ่านยาเข้าสู่ร่างกายตามปกติ จากนั้นเมื่อทำการดึงออกจากร่างกายตัวเข็มจะอยู่ในสถานะนิ่มและไม่กลับมาแข็งตัวอีก

 

          ผลลัพธ์จากการทดลองใช้งานกับหนูพบว่า P-CARE มีประสิทธิภาพในการส่งยาเข้าสู่กระแสเลือดไม่แพ้เข็มฉีดยาทั่วไป แต่สามารถลดอาการอักเสบและบาดแผลที่เกิดกับหนูแต่ละตัว ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดและอุบัติเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการฉีดยาลงมาก

 

          ด้วยคุณสมบัติของเข็ม P-CARE จะช่วยลดและป้องกันการเกิดบาดแผล อักเสบ ไปจนติดเชื้อของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อโดยรอบที่เกิดขึ้นระหว่างการฉีดยา ป้องกันอาการแทรกซ้อนทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการ ช่วยลดภาระที่เกิดกับผู้ป่วย รวมถึงลดภาระการเฝ้าระวังระหว่างฉีดยาแต่ละเข็มของเจ้าหน้าที่การแพทย์อีกด้วย

 

          ตัวเข็มที่อ่อนนุ่มหลังการใช้งานและไม่กลับมาแข็งตัว จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการพลั้งเผลอหรือไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีจนอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อ รวมถึงยังแก้ไขปัญหาการนำเข็มฉีดยากลับมาใช้ซ้ำได้ชะงัด เพราะเข็มชนิดนี้ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกต่อไป

 

          นี่จึงเป็นเข็มฉีดยาที่ช่วยแก้ปัญหาต่อทั้งผู้ป่วย เจ้าหน้าที่การแพทย์ หรือแม้แต่กระบวนการกำจัดขยะไปพร้อมกัน

 

 

 

          อย่างไรก็ตามการพัฒนาเข็มชนิดนี้อาจต้องใช้เวลาพักใหญ่ ทั้งจากข้อจำกัดด้านอุณหภูมิการใช้งานในเขตร้อนที่ต้องได้รับการทดสอบ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้นมาก เพราะแกลเลียมมีราคาอยู่ที่ 261 ดอลลาร์/กิโลกรัม(ราว 9,200 บาท) แพงกว่าสแตนเลสทั่วไปนับ 100 เท่า จึงอาจส่งผลกระทบหากมีการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขต่อไป

 

 

          ที่มา

 

          https://www2.si.mahidol.ac.th/division/nursing/sins/attachments/article/228/nursing%20%20manual%20%20intravenous%20therapy.pdf

 

          https://news.kaist.ac.kr/newsen/html/news/?mode=V&mng_no=32630

 

          https://www.dailymetalprice.com/metalprices.php?c=ga&u=kg&d=20