posttoday

สวนยางรุกพื้นที่ป่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงกว่าคาดการณ์ 3 เท่า

19 ตุลาคม 2566

วิจัยเผย การสูญเสียพื้นที่ป่าที่เกิดขึ้นจากการปลูกยางพาราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 2-3 เท่า ซึ่งนับเป็นความท้าทายของผู้นำเข้าภายใต้แรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน

ความต้องการยางที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ป่าสูญเสียพื้นที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันความหลากหลายทางชีวภาพก็ได้รับผลกระทบตาม ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีส่วนในการผลิตยางถึง 90% และได้รับผลกระทบหนักที่สุด

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์โดยวารสาร Nature เผยว่าสำหรับการสูญเสียพื้นที่ป่า เดิมการปลูกยางถือว่าส่งผลน้อยมาก เมื่อเทียบกับสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์ม

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากดาวเทียม ซึ่งช่วยระบุพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย แสดงให้เห็นว่าการสูญเสียพื้นที่ป่าจากการปลูกยางสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า 

ตั้งแต่ปี 1993 สวนยางรุกพื้นที่ป่าไปแล้วมากกว่า 4 ล้านเฮกตาร์ โดย 2 ใน 3 ของพื้นที่เป็นป่าในประเทศอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย

โดยพื้นที่มากกว่า 14 ล้านเฮกตาร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกใช้ไปกับการปลูกสวนยาง ซึ่งรวมถึงมณฑลยูนนานและมณฑลไห่หนานที่เป็นแหล่งผลิตยางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของจีน 

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าโดยรวมที่สูญเสียไปจากการทำสวนยางอาจมีตัวเลขที่สูงกว่านี้ เนื่องจาก 20 ปีก่อนเป็นช่วงที่ยางพาราได้รับความนิยม พื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งถูกปรับให้เป็นพื้นที่ปลูกยางโดยเฉพาะ แต่หลังจากราคายางตกต่ำในปี 2011 พื้นที่ดังกล่าวถูกแปลงไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น

ส่วนทางฝั่งสหภาพยุโรปได้เตรียมออกกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้สิ้นปีหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้นำเข้าสินค้าที่รุกพื้นที่ป่า

เดิมกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้กับสินค้าประเภทถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้ และกาแฟ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้เพิ่มยางพาราเข้าไปในรายการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปรับ ผู้นำเข้าจะต้องให้ข้อมูลที่พิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าหลังปี 2020