posttoday

จีนเร่งกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไร้คนขับ ดันประเทศเป็นผู้นำเทคโนโลยี

03 ตุลาคม 2566

จีนเตรียมหนุนห่วงโซ่อุปทานยานยนต์อัจฉริยะเพื่อเผยแพร่นวัตกรรม พร้อมเร่งการเจรจามาตรฐานยานยนต์ไร้คนขับภายในปี 2025

จีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานสำหรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสร้างนวัตกรรม Intelligent Connected Vehicles  (ICVs) หรือยานยนต์อัจฉริยะที่สามารถขับเคลื่อนได้แม้ไร้ซึ่งคนขับ โดยจะเป็นแผนเชิงกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อผลักดันให้ประเทศกลายเป็นแนวหน้าในอุตสาหกรรมเกิดใหม่นี้

สำนักข่าวซินหัวซึ่งเป็นสื่อของทางการ ระบุว่า จีนจะสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในการจัดตั้ง "สมาคมนวัตกรรม" ที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้จุดแข็งของกันและกัน เพื่อบรรลุความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

 นอกจากนี้ ซินหัวยังเผยว่า Xin Guobin รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายหลักของจีนในการเร่งกระบวนการกำหนดและแก้ไขมาตรฐานของยานยนต์ไร้คนขับด้วยเช่นกัน

จีนได้แบ่งหมวดหมู่ยานยนต์ไร้คนขับออกเป็น 5 ระดับ โดยระดับที่ 1 คือยานยนต์ที่ฉลาดน้อยที่สุดหรืออยู่ในระดับพื้นฐาน ขณะที่ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ราว 42% ของรถยนต์ใหม่ในประเทศได้พัฒนาก้าวขึ้นสู่ระดับที่ 2 แล้ว

ยานยนต์ที่อยู่ในระดับนี้สามารถจัดการฟังก์ชันการขับขี่ได้ แต่ผู้ขับต้องเตรียมพร้อมรับมือเสมอหากสภาพถนนเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

ขณะที่ปัจจุบัน จีนกำลังเร่งผลักดันให้ยานยนต์ไร้คนขับก้าวขึ้นสู่ระดับที่ 3 ซึ่งยานยนต์สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด Apollo Go รถแท็กซี่ไร้คนขับจาก Baidu ถือว่าครองตำแหน่งผู้นำอยู่ในระดับนี้ โดยบริษัทได้รับใบอนุญาตเมื่อเดือนมิถุนายนให้สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในบางพื้นที่ของเมืองเซินเจิ้น

จีนตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ และสามารถนำมาใช้บนท้องถนนได้จริง เพื่อผลักดันให้แผ่นดินใหญ่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในระดับโลก

ทั้งนี้ ปัญหาที่จีนยังต้องเผชิญคือปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ จากการโดนสหรัฐฯ ควบคุมการส่งออกด้านเทคโนโลยี รวมถึงยังมีคู่แข่งทางเทคโนโลยีรายใหญ่จากฝั่งตะวันตกอย่าง Tesla

จีนเร่งกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไร้คนขับ ดันประเทศเป็นผู้นำเทคโนโลยี

 5 ระดับหมวดหมู่ยานยนต์ไร้คนขับ

  • ระดับที่ 1 (Driver Assistance)

ถือเป็นระดับเริ่มต้นของยานยนต์แบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งจะมีฟังก์ชันช่วยเหลือผู้ขับขี่เพียงระบบเดียว เช่น ควบคุมความเร็ว หรือการรักษาระยะห่างกับรถคันหน้า โดยในระดับนี้ ผู้ขับขี่ยังต้องจดจ่อกับการขับตลอดเวลา

  • ระดับที่ 2 (Partial Driving Automation)

ตัวรถสามารถควบคุมทั้งคันเร่งและระบบพวงมาลัยได้ ผู้ขับขี่สามารถปล่อยพวงมาลัยได้ชั่วคราว และสามารถควบคุมรถเองได้

  • ระดับที่ 3 (Conditional Driving Automation)

รถสามารถตัดสินใจเองได้ในบางสถานการณ์เนื่องจากมีการตรวจจับสภาพแวดล้อมรอบคัน ถึงอย่างนั้นผู้ขับยังต้องเข้าควบคุมรถเองในบางสถานการณ์ที่รถตัดสินใจเองไม่ได้

  • ระดับที่ 4 (High Driving Automation)

รถสามารถควบคุมและตัดสินใจกับสถานการณ์บนท้องถนนได้เอง  ผู้ขับไม่ต้องเข้าควบคุม แต่ตัวรถยังมีฟังก์ชันให้ผู้ขับสามารถเข้าควบคุมด้วยตัวเองได้

  • ระดับที่ 5 (Full Driving Automation)

นับเป็นระดับสูงสุดของระบบยานยนต์แบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่สามารถพาผู้โดยสารไปยังจุดหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยผู้ขับไม่จำเป็นต้องควบคุมรถเลย ในตัวรถจะไม่มีการติดตั้งพวงมาลัยและคันเร่ง