posttoday

หลังพิชิตดวงจันทร์ อินเดียฝันไกลไปยังดวงอาทิตย์

01 กันยายน 2566

ไม่กี่วันหลังจากยานอวกาศ Chandrayaan-3 สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ อินเดียก็เตรียมเปิดตัวโครงการอวกาศครั้งต่อไป ซึ่งเป็นภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์และศึกษาผลกระทบต่อสภาพอากาศในอวกาศ

ข้อมูลต่อไปนี้คือจุดเด่นของภารกิจที่กำลังจะมาถึงและภารกิจที่ผ่านมาขององค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย (ISRO):

ADITYA-L1

ยานอวกาศ ADITYA-L1 มีกำหนดส่งยานขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 2 กันยายน ถือเป็นภารกิจอวกาศแรกของอินเดียที่จะทำการศึกษาดวงอาทิตย์ (ADITYA หรือ อาทิตยา มีความหมายถึงดวงอาทิตย์ในภาษาฮินดี) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจว่าดวงอาทิตย์ส่งผลต่อสภาพอากาศในอวกาศอย่างไร

ยาน ADITYA-L1จะเดินทางไปยังจุดมุ่งหมายที่ชื่อว่า Lagrange Point (L1) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร โดยเป็นพื้นที่ที่แรงโน้มถ่วงอยู่ในสภาวะคงที่ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงของยานอวกาศลงได้ รวมถึงเป็นตำแหน่งเหมาะสมที่สุดในการติดตามดวงอาทิตย์

ทั้งนี้ ในปี 2019 รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติงบประมาณราว 46 ล้านดอลลาร์สำหรับภารกิจ ADITYA-L1 แต่จนถึงขณะนี้ ISRO ยังไม่ได้อัปเดตอย่างเป็นทางการถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมด

GAGANYAAN

ภารกิจ GAGANYAAN เป็นภารกิจสำรวจอวกาศของอินเดียที่จะส่งมนุษย์ขึ้นไปพร้อมยานด้วย โดย ISRO  มีแผนที่จะส่งลูกเรือ 3 คนขึ้นสู่วงโคจรที่มีระยะกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อปฏิบัติภารกิจเป็นเวลา 3 วันก่อนจะกลับสู่โลกบริเวณน่านน้ำอินเดีย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Jitendra Singh กล่าวว่าได้จัดสรรงบประมาณราว 1.08 พันล้านเหรียญสหรัฐสำหรับโครงการ Gaganyaan ขณะที่ ISRO ระบุว่าหลังเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะมุ่งเน้นไปที่การหาวิธีอาศัยในอวกาศอย่างยั่งยืนสำหรับมนุษย์

อย่างไรก็ตาม สำหรับภารกิจ GAGANYAAN ยังไม่มีกำหนดอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มดำเนินงานช่วงไหน แต่ ISRO ระบุว่าภารกิจดังกล่าวน่าจะพร้อมในปี 2024

ดาวเทียม NISAR จากความร่วมมือของ NASA

ดาวเทียม NISAR (NASA-ISRO SAR) เป็นดาวเทียมถ่ายภาพด้วยเรดาร์ของ NASA ที่ร่วมมือกับองค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย (ISRO) ที่จะส่งข้อมูลภาพถ่ายเปลือกโลกทุก 12 วัน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ มวลน้ำแข็ง มวลชีวภาพของพืช ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น น้ำใต้ดิน รวมถึงประเมินความเสี่ยงของภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น

ดาวเทียม NISAR มีขนาดพอๆกับรถ SUV 1 คัน และคาดว่าจะเปิดตัวช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า

ภารกิจที่ผ่านมา

* Chandrayaan-3 - เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม อินเดียกลายเป็นประเทศแรกที่สามารถจอดยานอวกาศบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยภารกิจนี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และ ISRO เผยว่าจากการสำรวจขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์นั้นมีแร่อย่างกำมะถัน เหล็ก ออกซิเจน และองค์ประกอบอื่นๆอยู่เช่นกัน

* Chandrayaan-2 - ในปี 2019 ISRO ได้เปิดตัวภารกิจสำรวจดวงจันทร์เป็นครั้งที่สอง ซึ่งเป็นความพยายามในการศึกษาขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ครั้งแรก โดยหลายฝ่ายคาดหวังกับภารกิจนี้เป็นอย่างสูง แม้การส่งยานอวกาศจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นแต่ระหว่างการลงจอดนั้นกลับเป็นอันต้องล้มเหลวจากการที่ Chandrayaan-2  ชนเข้ากับพื้นผิวดวงจันทร์

* Mars Orbiter Mission (MOM) - ในปี 2013 ISRO กลายเป็นหน่วยงานอวกาศแห่งที่ 4 ที่ส่งยานอวกาศสำรวจดาวอังคาร โดยยาน Mars Orbiter Mission: MOM ถูกกำหนดไว้ให้ปฏิบัติภารกิจราว 6 เดือน แต่ยานไม่ได้ติดต่อกลับมายังโลกเลย

* Chandrayaan-1 - นับเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของอินเดียที่ประสบความสำเร็จ โดยยาน Chandrayaan-1 ได้โคจรรอบดวงจันทร์มากกว่า 3,400 รอบและส่งข้อมูลยืนยันว่าบนดวงจันทร์มีน้ำแข็งอยู่จริง ทั้งนี้ภารกิจได้สิ้นสุดลงในวันที่ 29 สิงหาคม 2008 เนื่องจากการสื่อสารของยานขาดหายไป