posttoday

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงทะเล แม้ถูกวิจารณ์หนัก

24 สิงหาคม 2566

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่พังยับเยินลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากจีนว่า "เห็นแก่ตัวและขาดความรับผิดชอบ"

การปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติเมื่อ 2 ปีที่แล้วจากรัฐบาลญี่ปุ่น และได้รับไฟเขียวโดยหน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติเมื่อเดือนที่แล้ว ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการรื้อถอนโรงงานฟุกุชิมะ ไดอิจิที่ยาวนานและยากลำบาก ซึ่งรวมถึงเป็นกระบวนการเริ่มต้นเพื่อกำจัดแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่หลอมละลายด้วย

ผู้ดำเนินการโรงงาน Tokyo Electric Power (Tepco) กล่าวว่าการปล่อยน้ำเริ่มต้นเมื่อเวลา 13:03 น. ตามเวลาท้องถิ่น (หรือ 11.03 น. ตามเวลาในไทย) และไม่พบความผิดปกติใดๆ กับทะเลหรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบ

อย่างไรก็ตาม จีนได้แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หน่วยงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ของจีนได้ออกมากล่าวผ่านโฆษก เรียกรัฐบาลญี่ปุ่นว่า "เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง และไม่มีความรับผิดชอบในการดำเนินการ ... โดยยึดผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัวของตนเองไว้เหนือความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ"

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงทะเล แม้ถูกวิจารณ์หนัก

จีนกล่าวว่าจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพของประชาชน และจะเพิ่มการติดตามระดับรังสีในน่านน้ำของตนหลังการปล่อยมลพิษ

ญี่ปุ่นได้โต้กลับจีนที่เผยแพร่ "คำกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลทางวิทยาศาสตร์" โดยยืนยันว่าการปล่อยน้ำนั้นปลอดภัย โดยสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้สรุปว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมนั้น "น้อยมาก" ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจัดสรรเงิน 8 หมื่นล้านเยน (552 ล้านดอลลาร์) เพื่อชดเชยชาวประมงที่สูญเสียธุรกิจเนื่องจากความวิตกกังวลของสาธารณชน และหลายประเทศเริ่มแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่นแล้ว

นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2554 ทำให้เกิดความเสียหายที่โรงงานฟุกุชิมะ เทปโกซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทพลังงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ทางโรงงานได้ใช้น้ำเพื่อหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ถูกทำลายซึ่ งยังร้อนเกินกว่าจะถอดออก เมื่อน้ำไหลผ่านเครื่องปฏิกรณ์ มันจะดูดซับกัมมันตรังสี บริษัทได้ดำเนินการบำบัดน้ำหล่อเย็นผ่านโรงบำบัด ซึ่งจะกำจัดนิวไคลด์กัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่ ยกเว้นทริเทียม ซึ่งสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) ระบุในเดือนกรกฎาคมว่าจะไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงต่อมนุษย์หากปล่อยลงสู่มหาสมุทร

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงทะเล แม้ถูกวิจารณ์หนัก

รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า เนื่องจากมีน้ำเสียมากกว่า 1.34 ล้านตันสะสมอยู่ในไซต์งาน บริษัทผลิตไฟฟ้าจะหมดพื้นที่จัดเก็บในไม่ช้า และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทร

การปล่อยน้ำบำบัดครั้งแรกจำนวน 7,800 ตัน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 17 วัน ทั้งเทปโกและหน่วยงานประมงของญี่ปุ่นกล่าวว่า พวกเขาจะตรวจสอบระดับกัมมันตภาพรังสีในน้ำทะเล และไอเออีเอก็กล่าวว่าจะดูแลกระบวนการนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาต่อเนื่องอีกหลายสิบปี