posttoday

กู้หมดตัว เทหมดหน้าตัก สู้โควิดกู้เศรษฐกิจเหลว

27 พฤษภาคม 2564

การออกพ.ร.ก.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการสู้โควิดและการกู้เศรษฐกิจของรัฐบาลอาการสาหัส

ในที่สุด รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 2 วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า โดยการกู้เงินต้องทำภายใน 30 กันยายน 2565

พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 2 จะนำไปใช้ 3 แผนงาน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท ด้านเยียวยา 3 แสนล้านบาท และด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาท

พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 2 เหมือนกับ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 1 วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ออกมาต้นปี 2563 ซึ่งใช้ใน 3 แผนงานเช่นกัน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ด้านเยียวยา 5.5 แสนล้านบาท และด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท

พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 1 วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อยู่บนพื้นฐานมองโลกในแง่ดี ว่าคุมโควิดรอบแรกอยู่ จะไม่เกืดการระบาดโควิดรอบใหม่ที่รุนแรงกว่ารอบแรก

แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 รอบ 2 ในปลายปี 2563 และรอบ 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 2564 ที่ผ่าน ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจรุนแรงทำให้รัฐบาลต้องโยกเงิน พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 1 ในส่วนของการฟื้นฟูไปใช้เพื่อการแจกเงินเยียวยาเกือบ 3 แสนล้านบาท จนวงเงินกู้หมด 1 ล้านล้านบาท

ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 2 วงเงิน 5 แสนล้านบาท แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการหาเงินมาสู้โควิด-19 ในด้านอื่นมาถึงทางตัน

กระทรวงการคลังให้เหตุผลในการทำเรื่องขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการออก พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 2 ว่า พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 1 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท มีโครงการที่จะใช้เงินหมดแล้ว

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2564 มีความเสี่ยงแพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีความรุนแรง ไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และความไม่แน่นอนของการฉีดวัคซีน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปี 2564 ต่ำกว่าเป้า เหมือนปี 2563 ที่ 3.4 แสนล้านบาท ทำให้ไม่มีเงินรายได้ไปดูการแก้ไขปัญหาโควิด-19

สำหรับงบกลางปี 2564 และวงเงินเพื่อใช้การแก้ไขปัญหาโควิดก็มีการใช้ไปจำนวนมากแล้ว และใกล้หมดเช่นกัน

ขณะเดียวกัน งบประมาณ 2565 มีกระบวนการและใช้เวลาดำเนินการ ไม่ทันต่อการแก้ปัญหาระบาดของโควิด -19 ประกอบกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใกล้เต็มกรอบวงเงินแล้ว ไม่สามารถกู้ชดเชยเพิ่มมาแก้ปัญหาโควิด-19 เพิ่มเติมได้

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 รัฐบาลต้องมีสภาพคล่องสำรอง จากการออก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด ฉบับที่ 2 วงเงิน 5 แสนล้านบาท รองรับความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมที่คาดการณ์ไม่ได้ เพื่อให้ทันต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวและยากต่อการแก้ไข

ทั้งนี้ ถือว่ารัฐบาลเทหมดหน้าตัก กู้สุดซอยแล้วเพื่อสู้โควิด จากเดิมที่คาดว่าจะกู้ 7 แสนล้านบาท แต่ต้องยอมหั่นเหลือ 5 แสนล้านบาท เนื่องจากกลัวสัดส่วนเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเกิน 60%

ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 8.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54.28% ของจีพีพี เมื่อรวมกับการออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะกู้ในปีนี้ 1 แสนล้านบาท รวมกับการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ 2564 กู้เงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 1 ส่วนที่เหลือทั้งหมด จะส่งผลให้หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 58.56% ของจีดีพี เรียกได้ว่าใกล้ทะลุเพดานเต็มที

แม้ว่า รัฐบาลจะกู้มาสุดซอยแล้ว แต่การแก้ปัญหาโควิดยังเหลว กระทบเศรษฐกิจทรุดลงอย่างรวดเร็วไม่เห็นโอกาสฟื้นตัวได้ในระยะ 1-2 ปีนี้ ทำให้รัฐบาลหนีไม่พ้นที่จะกู้เงินทะลุซอยตันเลยในอนาคต จนสัดส่วนหนี้ทะลุเพดานอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาโควิด-19 ล้มเหลวอย่างที่เป็นทุกวันนี้