posttoday

‘เมืองไทย’ ก้าวสู่ยุคดิจิทัล

10 กุมภาพันธ์ 2560

กระแสการไหล่บ่าของเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้หลายหน่วยงานต้องลุกขึ้นมาหารูปแบบการทำธุรกิจแนวใหม่ที่อาศัยดิจิทัลเป็นพื้นฐานเข้ามาวางโครงสร้างองค์กร

โดย...วารุณี อินวันนา

กระแสการไหล่บ่าของเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้หลายหน่วยงานต้องลุกขึ้นมาหารูปแบบการทำธุรกิจแนวใหม่ที่อาศัยดิจิทัลเป็นพื้นฐานเข้ามาวางโครงสร้างองค์กร

สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคที่มี “เจเนอเรชั่น” ของคนที่หลากหลาย แต่ละวัยมีพฤติกรรมการบริโภค ประสบการณ์การใช้ชีวิต การบริหารความเสี่ยงและความต้องการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้รวดเร็วและเข้าถึงความต้องการในแต่ละบุคคล

บริษัทจึงได้มองหา “รูปแบบการเติบโตแนวใหม่มากระตุ้นให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว” หรือ New S-curve ในการทำธุรกิจในอนาคต และสินค้าในความหมายใหม่ไม่ใช่แค่กรมธรรม์ประกันชีวิต แต่เป็นอะไรก็ได้ที่ต้องจับต้องได้ โดยได้มอบภารกิจการกำหนดทิศทางธุรกิจในอนาคตของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ไว้กับ ฟูเชีย หรือ “Fuchsia” ศูนย์นวัตกรรม ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมรูปแบบนี้ ที่เปรียบดั่งห้องทดลองเพื่อหาสูตรธุรกิจรูปแบบใหม่ที่จะผลักดันให้บริษัทสามารถเติบโตได้อีกก้าว

“สำหรับผม ถูกสอนวิถีธุรกิจประกันชีวิตมาตลอดชีวิต ซึ่งในยุคนั้นไม่ผิด และยุคนั้นเราไม่ใช่สินค้าอันดับต้นๆ ที่คนสนใจ การนำเสนอจึงเป็นแบบกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภค แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไป คนเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของประกันชีวิตมากขึ้น และทุกอย่างเปลี่ยน แบบประกันก็เปลี่ยน เราจึงทำธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่ได้ จึงต้องเอาคนนอกเข้ามา โดยเปิดเวทีให้กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล หรือกลุ่มที่เกิดระหว่างปี 2527-2539 เข้ามา” สาระ กล่าว

สาระ กล่าวว่า วันนี้บริษัทต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่ ต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ในองค์กรทั้งหมด ให้เป็นวัฒนธรรมของการสร้างนวัตกรรม หรืออินโนเวชั่น ในทุกส่วนงานให้ได้ จึงจะนำพาบริษัทไปสู่รูปแบบการเติบโตแนวใหม่ หรือ New S-curve เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มาเร็วมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และไม่ได้เน้นแค่ภาพเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะการบริการที่จะทำให้เกิดความประทับใจไม่สามารถถูกเทคโนโลยีทดแทนได้ ดังนั้นนวัตกรรมของเมืองไทยประกันชีวิตจะเป็นทั้งเทคโนโลยีและที่ไม่ใช่เทคโนโลยี

ขณะเดียวกัน บริษัทได้มองหามุมมองหรือไอเดียของคนจากกลุ่มอื่นๆ จากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ และเทคโนโลยีจากบุคลากรทุกวงการ มาพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ

ศูนย์ “Fuchsia” จึงเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่กับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี จากประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ รวมถึงบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ยังให้การสนับสนุนเงินทุนและร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทยและต่างประเทศ รวมถึงร่วมมือกับสถาบันการศึกษาซึ่งมีการทำวิจัย คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จำนวนมากในการสนับสนุนเงินทุนในโครงการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และเปิดให้นักศึกษาได้เรียนรู้ดูงานไปด้วยกัน

สาระได้กำหนดดัชนีชี้วัดไว้ว่าจะต้องมีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ออกมาให้ได้เดือนละ 2-3 โครงการ และนำมาทดลองทำ เพื่อจะได้พิสูจน์ว่าใช้ได้หรือไม่ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความล้มเหลวของโครงการที่ออกมา แต่เน้นการที่ต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาใช้ให้ได้ โครงการต้นๆ ที่จะออกมาให้บริการในเร็วๆ นี้ จะเป็นแอพพลิเคชั่นผ่านมือถือ แต่ไม่เปิดเผยในรายละเอียด รวมถึงนวัตกรรมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ

“วันนี้ไม่มีใครบอกได้ว่า ภาพธุรกิจในอีก 3-5 ปี รูปแบบของนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจประกันชีวิตใหม่ๆ จะเป็นอย่างไร มีแต่ลูกค้าเท่านั้นที่จะทำให้รู้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ผมจึงต้องเอาคนจากหลากหลายวงการมาเติมเต็มภาพธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง ‘Fuchsia’ จะเป็นศูนย์คิดจากมุมมองของลูกค้าแล้วสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาในมุมของลูกค้า” สาระ กล่าว

สาระ สรุปว่า “Fuchsia” ศูนย์นวัตกรรมใหม่นี้ จะเป็นผู้ค้นหาคำตอบและรูปแบบในการทำธุรกิจแบบใหม่ๆ ให้กับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจได้ในระยะยาว