posttoday

จุดเปลี่ยนประเทศไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับแผนอนาคตที่ต้องมี

31 สิงหาคม 2564

เมื่อวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ แต่เปลี่ยนไปอย่างไร ก็ยังไม่ชัดเจน การเตรียมการเพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ไม่เห็นชัดเจน

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง กระแสเปิดเมืองกลับมาอีกครั้ง ทำให้หลายๆ คนเริ่มคิดแล้วว่า การกระจายตัวของวัคซีนและการเปิดเมืองอีกครั้งหลังโควิดคงจะเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจขาขึ้นรอบใหม่ พร้อมๆ กับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นสีเขียวสดใสเพื่อทำ New High ตามตลาดหุ้นต่างประเทศอีกแน่นอน แต่เดี๋ยวก่อน! ผมคิดว่าสถานการณ์อาจไม่ง่ายแบบนั้น เพราะสื่อหลายกระแสแสดงความเป็นห่วงว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 คงไม่ได้จบลงแบบราบคาบ เราคงต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกสักพักใหญ่ๆ ที่สำคัญ ผมคิดว่าผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศและเศรษฐกิจไทย ผมคิดว่าการล้างไพ่ครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น ประเทศไทยกำลังเดินทางเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน เพราะไม่ใช่ว่าเปิดเมืองแล้ว เศรษฐกิจของประเทศจะกลับไปที่จุดเดิมได้ทันที เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่เราได้พัฒนาขึ้น ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี และการศึกษา ที่ได้ดำเนินการไว้ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 จะไม่ได้เหมาะกับการเปลี่ยนผ่านไปยังโลกหลังวิกฤตโควิด-19 อีกต่อไป

ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจรู้สึกว่าอยู่ได้อย่างสบาย เพราะเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลจากอดีตที่เคยได้สร้างไว้ ผลิดอกออกผล และถูกภาพลวงตาจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ดีในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ทำให้ดูเหมือนเศรษฐกิจเติบโตอยู่ในระดับที่ดีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในครั้งนี้ ผมคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาค และอาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เป็นที่ทราบกันว่า ก่อนวิกฤติโควิด-19 เราได้ถูกคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่แทบจะทำลายล้างบางธุรกิจและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การเติบโตของเงินลงทุนทางตรงก็ลดลงจนน่าใจหายมาสักพักใหญ่แล้ว ประเทศไทยไม่ได้เป็นจุดหมายในการลงทุนในแผนที่การลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอีกต่อไป จึงขาดเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้น ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME กำลังจะหมดแรง กำลังซื้อหาย รายได้ลดลง ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเวลานี้ปรับตัวสูงขึ้น และกำลังจะเข้าตาจนเพราะหมดสภาพคล่อง แถมยังต้องแบกรับต้นทุนอันเกิดจากมาตรการจากภาครัฐ เช่น การทำ Factory Sandbox ปัจจัยเหล่านี้เองที่ผมคิดว่าเป็นตัวกระตุ้นทำให้ภาพอนาคตของประเทศไทยภายหลังวิกฤตโควิด-19 จะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ดังนั้น การเตรียมตัวในการพลิกประเทศด้วย S-Curve ใหม่ที่เคยคิดว่าจะนำมาดำเนินการ ก็อาจไม่ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะโควิด-19 ได้ฝากรอยเท้าเอาไว้ และเป็นรอยเท้าที่ใหญ่ รุนแรง และสะเทือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกกันเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานของประเทศในทุกๆ ด้านไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับโลกหลังโควิด-19 หากประเทศไทยยังไม่ได้ออกแบบยุทธศาสตร์ใหม่ ประเทศไทยอาจไม่สามารถแสวงหาโอกาสและได้ประโยชน์จากความไม่แน่นอนได้อย่างเต็มที่ แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย เริ่มต้นจากการทบทวนข้อมูลที่มีอยู่และการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) กันอย่างจริงจัง

เมื่อวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ แต่เปลี่ยนไปอย่างไร ก็ยังไม่ชัดเจน การเตรียมการเพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ไม่เห็นชัดเจน ไม่อาจพยากรณ์ได้ด้วยเครื่องมือทางสถิติได้อย่างแม่นยำเหมือนในอดีต บทบาทของ Strategic Foresight จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารประเทศควรต้องดำเนินการเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหลังโควิด-19 เพราะอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังวิกฤตโควิด-19 มีความเป็นไปได้หลายกรณี การวางยุทธศาสตร์ชาติที่มองอนาคตและความเป็นไปได้ในอนาคตหลังวิกฤตไว้เพียงกรณีเดียวอาจไม่เหมาะสม อาจทำให้ประเทศเสียโอกาสในการใช้วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ให้เป็นจุดเปลี่ยนในการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ต่อไป เพราะเมื่อวิกฤตได้เกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการก่อหนี้เพื่อกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น อาจไม่เพียงพอในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศภายหลังวิกฤตโควิด-19

สิ่งที่น่าจะต้องดำเนินการต่อไปคือการวางแผนยุทธศาสตร์ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่มีความไม่แน่นอน (Scenario Planning) ว่าเราจะต้องทำอย่างไรกันต่อไปหลังโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทิศทางการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อการสร้างนวัตกรรมหรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี การวางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศหลังโควิด-19 และวางยุทธศาสตร์การทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะทำให้ประเทศสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภายหลังโควิด-19 ที่สูงขึ้น ภายใต้มุมมองอนาคตที่มีความเป็นไปได้ในสถานการณ์อนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลายๆ รูปแบบ (Multiple and Plausible Futures) ซึ่งในภาพอนาคตแต่ละสถานการณ์ จะช่วยทำให้เรามองถึงปัญหา ความท้าทาย รวมถึงโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในมิติต่างๆ ในอนาคตหลังวิกฤตโควิด-19 ได้ดีขึ้น ดังนั้น ทีมงาน Strategic Foresight จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีทั้งในระดับประเทศและระดับหน่วยธุรกิจ เพื่อเตรียมยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศภายหลังที่วิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง และถ้ามีทีมงานนี้แล้ว ก็ควรเร่งดำเนินการวางแผนยุทธศาสตร์สำหรับภาพอนาคตในรูปแบบต่างๆ อย่างรวดเร็ว ให้ทันกับ Timeline ในการเปิดประเทศ โดยต้องภาครัฐควรมีทีมงานผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนและเผยแพร่ยุทธศาสตร์หลังวิกฤติโควิด-19 ให้ภาคเอกชนทราบต่อไป เพื่อจะได้วางแผนก้าวไปในทิศทางเดียวกันต่อไปเพื่อทำให้จุดเปลี่ยนครั้งนี้เป็นโอกาสแทนที่จะเป็นความเสี่ยงของประเทศไทย