posttoday

ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ

29 มีนาคม 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, พินทุ์ณาดา กิตติวาณิชย์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.90-31.30 ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะยังคงติดตามแนวโน้มการฉีดวัคซีน และความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสรอบที่ 3 ในหลายประเทศ ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนรอติดตามตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนและเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ด้านเอเชีย ภาคการผลิตจีนมีแนวโน้มดีขึ้น และการส่งออกของเกาหลีจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ด้านเศรษฐกิจในประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยมีแนวโน้มขาดดุลเป็นเดือนที่สามเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ตลาดกลับมามีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ประกาศเปิดประเทศ 1 กรกฎาคมนี้ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แบบไม่ต้องกักตัว โดยนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าตามความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้านนโยบายการคลัง หลังจากมาตรการ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์มีผลบังคับใช้ รัฐบาลไบเดนส่งสัญญาณเตรียมมาตรการเศรษฐกิจระยะยาวฉบับใหม่มูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ครอบคลุมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพประชากร ขณะที่ผู้นำด้านนโยบายการเงินและการคลังส่งสัญญาณเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน ในการแถลงต่อสภาคองเกรส โพเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณไม่กังวลต่อเงินเฟ้อ โดยมองว่าเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะกระทบเศรษฐกิจเพียงชั่วคราว จากอุปสงค์ที่อั้นไว้ในช่วงปิดเมืองและปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน และมองตลาดแรงงานค่อยๆ ฟื้นตัว สอดคล้องกับเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความมั่นใจว่าอัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความกังวลต่อเศรษฐกิจยูโรโซน หลังจากแองเกล่า มาเกิล ผู้นำเยอรมนีเห็นชอบขยายระยะเวลาการปิดเมืองในเยอรมนีออกไปอีก 4 สัปดาห์ถึง 18 เมษายน กดดันความเชื่อมั่นต่อเงินยูโรด้วย ขณะที่ในฝั่งเอเชีย ธนาคารกลางของจีนคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan prime rate) อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวระยะ 1 ปีและ 5 ปีคงอยู่ที่ 3.85% และ 4.65% โดยส่งสัญญาณว่าระดับดอกเบี้ยดังกล่าวเหมาะสมต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ปัจจัยในประเทศกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าเช่นกัน เนื่องจากที่ประชุม กนง. มีมติคงดอกเบี้ยเป็นเอกฉันท์ที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด แต่ลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 3.0% จาก 3.2% ในประมาณการเดือนธันวาคม เนื่องจากจากการปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยว และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสระลอกใหม่ อีกทั้งการส่งออกไทย (ระบบศุลกากร) กลับมาหดตัว 2.59%YoY ในเดือนกุมภาพันธ์ และหดตัวมากกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่การนำเข้าเร่งขึ้น โดยขยายตัวมากกว่าที่ตลาดคาดถึง 2 เท่าที่ 22%YoY ทำให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลเพียง 7 ล้านดอลลาร์ จากที่ขาดดุลในเดือนก่อนที่ 202 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดคาดว่าดุลการค้าจะเกินดุล 1.54 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันศุกร์ เงินบาทแข็งค่าลง เนื่องจากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ประกาศเปิดประเทศ 1 กรกฎาคม นี้ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แบบไม่ต้องกักตัว โดยนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ทำให้ความเชื่อมั่นต่อเงินบาทสูงขึ้น โดยเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.065 (เวลา 17.15 น.) ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมีประเด็นสำคัญที่นายพาวเวล ประธานเฟด และนางเยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้แสดงมุมมองที่เป็นบวกในระหว่างการแถลงต่อสภาคองเกรสว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อันเป็นผลจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีความคืบหน้ามากขึ้น ประกอบกับตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 ซึ่งทำให้นักลงทุนมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปิดสัปดาห์อยู่ที่บริเวณ 1.65%

สำหรับประเด็นสำคัญภายในประเทศอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2564 วันที่ 24 มี.ค 64 ที่มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกพันธบัตรประเภทใหม่อิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงธุรกรรมซื้อคืนระยะข้ามคืน (Thai Overnight Repurchase Rate: THOR) เป็นครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม 2564 โดยผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยงวดที่ 1/FRB182/64 (CBF21927A) = 0.44343 to 0.49043 Avg. AVR. 0.47944 BCR 4.28 เท่า ซึ่งถือว่ากระแสตอบรับค่อยข้างดี โดย ณ 26 มีนาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.45% 0.50% 0.67% 1.11% 1.49% และ 1.90% ตามลำดับ

ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 2,732 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,391 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 693 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 34 ล้านบาท