posttoday

จับตาดูน้องใหม่ กองทุน SSF

13 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์, AFPT และ ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์, AFPT ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์, AFPT และ ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์, AFPT ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

การออมระยะยาวเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ โดยล่าสุดในช่วงที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กำลังจะสิ้นสุดลง ภาครัฐก็กำหนดให้มี “กองทุนรวมเพื่อการออม” หรือ SSF ขึ้นมา ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อกองทุน โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปีภาษี

เนื่องจากในเวลาที่กำลังเขียนบทความนี้เป็นช่วงที่ภาครัฐเพิ่งออกมาตรการดังกล่าว ยังไม่ได้มี บลจ. ใดนำเสนอขายหน่วยลงทุนกองทุนรวม SSF แต่จากการประเมินเงื่อนไขแล้ว กองทุนนี้น่าจะตอบโจทย์กลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน เนื่องจากไม่ต้องถือครองยาวไปจนถึงอายุเกษียณ ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 25 ถึง 30 ปี เหมือนในกรณีของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และอาจจะมีระดับความเสี่ยงที่น้อยกว่ากองทุน LTF

แม้ SSF มีคุณลักษณะแตกต่างจาก RMF และ LTF แต่เงื่อนไขพื้นฐานยังเหมือนกันคือ “ต้องถือครองระยะยาว” เนื่องจากการขายคืนกองทุนรวมเพื่อการลดหย่อนภาษีมักกำหนดบทลงโทษ ซึ่งอาจเป็นการให้คืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีในช่วงที่ผ่านมารวมทั้งอาจมีเบี้ยปรับเกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญประการแรกก่อนเลือกใช้ SSF คือต้องมั่นใจว่าเงินที่จะลงทุนนั้นเป็น “เงินเย็น” กล่าวคือยังไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินก้อนนี้อย่างแน่นอนในช่วงสิบปีข้างหน้า

กุศโลบายที่จะสร้างแรงจูงใจให้ถือครอง SSF ในระยะยาวได้คือ “การตั้งเป้าหมาย” ว่าเงินก้อนนี้จะนำไปใช้ประโยชน์อะไรในอีกสิบปีข้างหน้า ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เช่น เริ่มทำธุรกิจส่วนตัว เก็บออมเป็นค่าเล่าเรียนลูก หรือเก็บเป็นเงินก้อนที่จะเสริมความมั่นคงในยามเกษียณ เป็นต้น

หลังจากนั้นให้กำหนดจำนวนเงินที่ต้องการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุน เช่น ตั้งเป้าไว้ว่าต้องการมีเงินเก็บ 100,000 บาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาลูก และคาดการณ์ว่าการลงทุนนี้ควรจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4% ต่อปี จะต้องลงทุน ณ วันนี้เป็นจำนวนเงินประมาณ 68,000 บาทเท่านั้น อีกทั้งเงินที่ลงทุนกองทุน SSF ส่วนนี้จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ตามฐานภาษีของผู้ลงทุนแต่ละท่านด้วย

อีกเรื่องที่อยากแนะนำคือ การจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีใดก็ตาม ให้ปรึกษานักวางแผนการเงินเพื่อทำการคำนวณภาษีก่อน เพราะหลายครั้งที่พบคือมีสิทธิลดหย่อนภาษีอื่นที่สามารถใช้ลดหย่อนได้เพียงพออยู่แล้ว ทำให้การซื้อกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นการซื้อมากเกินความจำเป็น ซึ่งเกิดผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่ได้ และต้องถือครองระยะยาวจนกว่าจะครบกำหนด

นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงตัวเลือกลดหย่อนภาษีอื่นให้รอบคอบ เนื่องจากตามหลักวางแผนการเงินแล้ว การคุ้มครองความมั่งคั่ง (Wealth Protection) มาก่อนการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) ดังนั้น สำหรับผู้ที่เป็นเสาหลักหารายได้ให้ครอบครัว การจะลดหย่อนภาษีควรให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตก่อนเป็นอันดับแรก เป็นต้น

สำหรับสมาชิก กบข. สามารถนัดหมายเพื่อขอคำแนะนำด้านการลงทุน และการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี หรือสอบถามข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจทางการเงินสามารถติดต่อศูนย์ข้อมูลการเงินได้ที่ เมนู นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน ใน My GPF Application