posttoday

ใช้โซ่... เพื่อเปิดม่าน

24 สิงหาคม 2559

โดย ณัฐพัช กิตติปวณิชย์ กองทุนบัวหลวง

โดย ณัฐพัช กิตติปวณิชย์  กองทุนบัวหลวง

ความรู้คือปัญญา และปัญญาคืออาวุธแต่ในทางกลับกัน ความไม่รู้อาจย้อนกลับมาทำร้ายเรา หรือคนรอบข้างในแบบที่ไม่รู้ตัวได้

เราอยู่ในสังคมบริโภคอย่างเต็มรูปแล้ว มีกิจกรรมซื้อ-ขายสินค้าและบริการมากมายในแต่ละวัน แต่น้อยมากที่เราจะรับรู้ถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ที่ตนกำลังกินดื่ม สวมใส่ หรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน ความไม่รู้ดังกล่าวคล้ายกับม่านคอยบังสายตาคนในสังคมบริโภค

เราอาจสวมแหวนเพชรจากเหมืองเพชรในพื้นที่สู้รบฆ่าฟันกันของแอฟริกา ใส่เสื้อผ้าสวยแต่ผลิตด้วยแรงงานเด็กในอินเดีย หรือรับประทานปลาเพื่อสุขภาพจากเรือประมงที่ใช้แรงงานทาส ก็เพราะความไม่รู้ของเรานี่เอง

การแหวกม่านกั้นผืนนี้เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงแหล่งที่มาของสินค้านั้นเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องเปิดเผยแผนบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่ามิได้สนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจที่ผิดหลักจริยธรรมอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการสนับสนุนในทางอ้อมนั่นเอง

งานบริหารจัดการห่วงโซ่อุทาน (Supply Chain Management)คือส่วนสำคัญของ CSR In-Process (CSR ในกระบวนการธุรกิจ)เป็นแนวคิดที่ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มบริษัทหรือสังคมวงแคบ แต่เป็นมาตรฐานสากลที่องค์กรใต้สหประชาชาติอย่างUN Global Compact ได้วิจัยศึกษา และเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั่วโลกเข้าร่วม โดยได้สร้างโมเดลจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อช่วยชี้ทางแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการนำไปปฏิบัติจริง พร้อมทั้งวัดผลความคืบหน้าของงานที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นขั้นตอนหลัก 4ส่วน ได้แก่

1.แสดงเจตจำนงต่อพันธสัญญา – พัฒนาโครงสร้างธุรกิจให้เชื่อมโยงกับภูมิทัศน์อุตสาหกรรมและตัวขับเคลื่อนสำคัญ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายและความคาดหวังที่จะได้จากการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน

2.ประเมินสถานการณ์ –กำหนดขอบเขตความพยายามบนพื้นฐานความสำคัญของกิจการและผลกระทบ

3.นิยามและปฏิบัติ –สื่อสารกับผู้ผลิตต้นน้ำเพื่อให้แผนงานใช้ได้จริง และติดตามการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ

4.วัดผลที่ได้และสื่อสาร –ติดตามผลตอบรับที่ได้ และรายงานด้วยความโปร่งใส

“ยูนิลีเวอร์” เป็นหนึ่งในผู้ร่วมมือกับ UN Global Compact และได้นำโมเดลบริหารห่วงโซ่อุปทานมาใช้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำตั้งแต่(1) วางแผนประเมินความต้องการสินค้าในอนาคต เพื่อคาดการณ์ปริมาณที่ต้องผลิตและลดของเหลือทิ้ง (2)จัดซื้อวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ในการผลิตสินค้า รวมถึงเครื่องจักร สินค้าส่งเสริม และการบริการอื่นๆ จากแหล่งที่ยั่งยืน เช่น น้ำมันปาล์มของบริษัทในยุโรป ซึ่งสามารถยืนยันแหล่งผลิตที่ยั่งยืนได้ 100% เป็นต้น (3)การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ เพราะใช้พลังงานกว่า 20% จากแหล่งทดแทนได้เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ(4) ขนส่งอย่างลดมลพิษ โดยกำหนด KPI เรื่องก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดลงอย่างน้อยปีละ 5%

กระบวนการทั้งหมดนี้ช่วยให้ยูนิลีเวอร์ ซึ่งมีโรงงานถึงกว่า 260 แห่งในกว่า 100 ประเทศและให้บริการผู้คนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก สามารถลดค่าใช้จ่ายในระหว่างปี 2008-2013ได้ถึง 300 ล้านยูโร

ทั้งนี้จากการศึกษาของสถาบันชั้นนำอย่างMIT พบว่าภายในสินค้าหมวดเดียวกัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าของแบรนด์ที่ผลิตจากแหล่งที่ยั่งยืน โดยเฉพาะสินค้าที่แสดงสภาพวัตถุดิบดั้งเดิมชัดเจน(High Visibility Products) เช่น เมล็ดกาแฟ ใบชา และเนื้อสัตว์แต่อาจใช้หลักการนี้ไม่ได้กับสินค้าที่ไม่แสดงสภาพวัตถุดิบดั้งเดิม(Low Visibility Products)เพราะผ่านกระบวนการแปรรูปมาหลายขั้นตอนเช่นผงเครื่องปรุงหัวหอมในซุปก้อนทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อแบรนด์คู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า
เราจึงควรให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตสินค้าทุกประเภทในระดับที่ทัดเทียมกัน เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมให้เข้ามามีส่วนพัฒนาห่วงโซ่ที่ยั่งยืนไปด้วยกันเพื่อเปิดม่านผืนนี้เราจำเป็นต้องร่วมด้วยช่วยกันทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพราะการบริหารห่วงโซ่อาจมิได้แสดงผลอย่างชัดเจนหากขาดความร่วมมือจากส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วประโยชน์ก็จะตกกับเราทุกคน ฝ่ายบริษัทก็ประหยัดค่าใช้จ่ายฝ่ายผู้บริโภคก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพ อีกยังมาจากแหล่งผลิตที่เป็นธรรม นำไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้าขึ้นในอนาคต