posttoday

ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด กับ ตัวเลขอัศจรรย์ แห่งวิทยาศาสตร์

25 สิงหาคม 2555

เมื่อกวีกล่าวหาว่าวิทยาศาสตร์ได้พรากความงามไปจากดวงดาว ให้เหลือเพียงแต่กลุ่มก๊าซและก้อนหิน

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช&<2288;

เมื่อกวีกล่าวหาว่าวิทยาศาสตร์ได้พรากความงามไปจากดวงดาว ให้เหลือเพียงแต่กลุ่มก๊าซและก้อนหิน นักวิทยาศาสตร์จึงถามกลับไปว่า แล้วเราเห็นความงามพร่างพราวของแสงดาวนั้นน้อยลงหรือ หากความงามใดๆ ในโลก เสียงเพลงและบทกวีได้จรรโลงจิตใจให้มนุษย์นั้นสูงค่ากว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใด วิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่านั้นน้อยลง แต่ช่วยเพิ่มมุมมองความรู้ที่แท้จริง ตั้งแต่ ผงธุลี ผีเสื้อ แลดอกไม้ ไปจนสุดสายตา ณ ทางช้างเผือก

เวลาเนิ่นนานผ่านหลายพันปี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ก็เข้าถึงจุดก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว เราอาจเห็นภาพเหล่านี้ไม่ชัดเจนนัก แต่ภาพทั้งหมดจะกระจ่างแจ้งแก่สายตาในทุกด้าน ที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา งานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอันควรค่าแก่การเข้าชม ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์” ระหว่างวันที่ 20-31 ส.ค.นี้

ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด กับ ตัวเลขอัศจรรย์ แห่งวิทยาศาสตร์

 

เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ ก็ต้องมีคณิตศาสตร์มาเป็นของคู่กัน แต่คณิตศาสตร์สำหรับหลายๆ คนกลายเป็นของแสลง แต่จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป ถ้ามาที่บูธของนิตยสารไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด ซึ่งอยู่ในโซนคณิตศาสตร์ อาหาร และสุขภาพ ความคิดเรื่องตัวเลขจะเปลี่ยนไป กลายเป็นความอยากรู้อยากเห็นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (ไม่เชื่อต้องไปพิสูจน์...)

บูธสีดำที่มีรูปริศนาอยู่โดยรอบ สร้างความอยากรู้อยากเห็นให้กับผู้เข้าชมงาน ที่ต่างเข้าไปส่องดูว่าในบูธนั้นมีอะไรข้างใน จนนำไปสู่การเดินชมตัวเลขอันน่าอัศจรรย์ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน หากพบเห็นบูธที่มีคนมุงส่องรูบนกำแพงสีดำ ก็มั่นใจได้เลยว่า เดินมาถูกบูธแล้ว

เมื่อเดินเข้าไปในบูธนี้เราจะเห็นตัวเลขอยู่เต็มห้องไปหมด เด็กและผู้ใหญ่ต่างถือกระดาษคำถาม 1 แผ่นไว้ในมือ สายตาพลางสอดส่องหาคำตอบ แต่ในระหว่างของสายตาเพียงลัดนิ้วมือ พวกเขาก็พบตัวเลขที่น่าตกใจ ตัวเลขที่ไม่เคยรู้มาก่อน ตัวเลขซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นจริง แต่นี่คือความจริงทางวิทยาศาสตร์อันมหัศจรรย์

ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด กับ ตัวเลขอัศจรรย์ แห่งวิทยาศาสตร์

 

ทุกคนเริ่มสนุกไปกับบทบาทนักสืบเล็กๆ ของตัวเอง ซึ่งกว่าพวกเขาจะได้คำตอบก็เก็บเอาความรู้ตั้งแต่ความลับอวัยวะภายในร่างกาย ไปจนถึงอวกาศอันลี้ลับ

สุธรรม ธรรมรงค์วิทย์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด อธิบายถึงการจัดธีมของบูธว่า ได้หยิบยกเอาคอลัมน์เล็กๆ แต่น่าสนใจในนิตยสารมา 1 คอลัมน์ ซึ่งก็คือคอลัมน์ บาย เดอะ นัมเบอร์ เป็นการนำเอาความรู้และตัวเลขที่น่าสนใจมานำเสนอเป็นธีมหลัก และแบ่งออกเป็น 4 โซน ตามการนำเสนอเนื้อหา 4 ด้านของนิตยสาร คือ ธรรมชาติ วัฒนธรรม เทคโนโลยี และการแพทย์ โดยใช้ตัวเลขที่น่าสนใจให้เด็กๆ ร่วมกันค้นหาตัวเลขที่ซ่อนอยู่ในที่ต่างๆ

“”เช่น ตัวเลขของพีระมิด ตัวเลขของโลก และตัวเลขที่น่าสนใจอื่นๆ มาผสมผสานระหว่างข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจ รวมกับภาพอาร์ตเวิร์กที่สวยงาม ดึงดูดให้คนอ่านได้เห็นภาพว่า สิ่งที่อ่านอยู่นั้นกำลังเสนออะไร มีภาพและเรื่องราวเป็นอย่างไร นอกจากสนุกแล้ว คนอ่านที่ไม่รู้จักกับนิตยสาร ก็จะได้รู้จักเรามากขึ้น

วิทยาศาสตร์นั้นมองได้หลายด้าน ด้านแรก คือ ความรู้ล้วนๆ แต่ด้านที่ผมคิดว่าสำคัญกว่า คือ การที่เราได้รู้จักตัวเราเองมากขึ้น ว่าเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีระบบการทำงานภายในร่างกายอย่างไร ได้รู้จักโลกและสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ และมนุษย์เราสามารถนำความรู้เหล่านี้เข้ามาพัฒนาเครื่องมือและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ตัวเลขเหล่านี้จะช่วยกันกระตุ้นให้เราเกิดความสงสัยอีกว่า ทุกอย่างมีที่มาอย่างไร และทำอย่างไรถึงได้คำตอบเหล่านี้ด้วยวิทยาศาสตร์” บก.หนุ่มหล่อ ให้มุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ

ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด กับ ตัวเลขอัศจรรย์ แห่งวิทยาศาสตร์

 


นอกจากโลกของตัวเลขในบูธนิตยสารไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด ที่เต็มไปด้วยเด็กๆ ซึ่งสนใจเข้าหาความรู้กันอย่างสนุกสนานแล้ว ยังมีดินแดนทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจให้เที่ยวท่องลัดเลาะเติมความรู้เข้าสู่รอยหยักของสมองอีกมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นโซนโลกและเอกภพ จุดกำเนิดของทุกๆ สิ่ง มีเครื่องจำลองสภาพไร้น้ำหนัก ด้วยการทิ้งดิ่งตัวลงมาและสไลด์ไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก เครื่องจำลองวงโคจรในระบบสุริยจักรวาล มาจนถึงโลกในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ไดโนเสาร์มาจนถึงโลกยุคภัยพิบัติในปี 2012

สิ่งเหล่านี้เราไม่อาจรู้ได้เลย ถ้าไม่มีกุญแจสำคัญทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยไขปัญหา คุ้ยความจริง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ มนุษย์ที่ยังสงสัยในสิ่งต่างๆ ไม่รู้จบ เราจึงแสวงหาความรู้ด้วยจินตนาการและการทดลองอย่างไม่มีสิ้นสุด

นี่แหละคือเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์อันน่าหลงใหล