posttoday

‘บางจาก’ โกยกำไร 9 เดือนแรกเพิ่ม 181% รับปัจจัยบวกราคาน้ำมันพุ่ง-ศก.ฟื้น

11 พฤศจิกายน 2564

บางจาก เผย 9 เดือนแรก กำไร 5,868 ล้านบาท จากปัจจัยเศรษฐกิจฟื้นตัวและราคาน้ำมันโลก วางเป้าขึ้นแท่นสู่องค์กรยั่งยืน 100 ปี เร่งรัดการลงทุนที่เป็นมิตรกับโลก

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท บางจากฯ งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 132,655 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และมี EBITDA 16,537 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 1,121 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากการเปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA จากบริษัทร่วมเป็นบริษัทย่อย)

รวมถึงได้รับปัจจัยหนุนด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมัน หลังจากมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 66.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 24.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือ ร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Gain 5,159 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่นพื้นฐานทรงตัวในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น และได้ปรับเพิ่มกำลังการกลั่นและเพิ่มสัดส่วนการผลิต UCO (Unconverted Oil) อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยหนุนค่าการกลั่น

ด้านกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย

‘บางจาก’ โกยกำไร 9 เดือนแรกเพิ่ม 181% รับปัจจัยบวกราคาน้ำมันพุ่ง-ศก.ฟื้น

ขณะที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการตลาดและกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับลดลงอย่างมาก อีกทั้งค่าการตลาดรวมสุทธิยังอยู่ในระดับต่ำ จากการที่บริษัทฯ ไม่สามารถปรับราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการให้เหมาะสมกับต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปและราคาผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล (B100) ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานได้รวมผลของการเปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA จากบริษัทร่วมเป็นบริษัทย่อย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดย EBITDA ของ OKEA ที่รวมอยู่ในงบการเงินรวมมีจำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาท อีกทั้งมีผลจากการกลับรายการด้อยค่าเงินลงทุนใน OKEA 400 ล้านบาท และมีกำไรจากการปรับปรุงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) (UBE) 616 ล้านบาท เนื่องจาก UBE เสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 5,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 181 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.05 บาท 

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 47,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมี EBITDA 7,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA และมี Inventory Gain 1,386 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันที่มีค่าการกลั่นพื้นฐานปรับลดลง จาก Crude Premium อ้างอิงกับน้ำมันดิบเดทเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งกลุ่มธุรกิจการตลาดมีค่าการตลาดรวมสุทธิและปริมาณการจำหน่ายที่ปรับลดลง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีการบันทึกกำไรจากการปรับปรุงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน UBE ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 1,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.25 บาท