posttoday

'บางจาก'สังเวยโควิด ขาดทุน 6.9 พันล. ปักธงปีนี้สู้ต่อขยายลงทุนธุรกิจใหม่

19 กุมภาพันธ์ 2564

'บางจาก'ลุ้นปีนี้โควิดคลี่คลาย ตุนเงินเพิ่มทุน 1 หมื่นล้าน ขยายลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ หลังปี’63 เผชิญโควิด ฉุดธุรกิจน้ำมันขาลง ส่งผลขาดทุนรวม 6.9 พันล้านบาท

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2563 ว่า บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 136,450 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อน มี EBITDA 4,104 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 53 และมี Operating EBITDA 8,874 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10  

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากจนถึงระดับที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกฃ รวมถึงสงครามราคาน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงอย่างมาก  

ขณะที่กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีผลดำเนินงานเติบโตขึ้น ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของผลการดำเนินงานในภาพรวม อย่างไรก็ดี บริษัทฯได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจและปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า ตลอดจนดำเนินมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและหารายได้เพิ่ม รวมทั้งให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่าย สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 900 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้

สำหรับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2563 ที่ต่ำกว่าปี 2562 กว่าร้อยละ 30 ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Loss 4,743 ล้านบาท อีกทั้งมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สิน 2,375 ล้านบาท และการด้อยค่าตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) 891 ล้านบาท ส่งผลให้ปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 6,967 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.50 บาท  และมีกระแสเงินสด ณ สิ้นปี 2563 ที่ 21,651 ล้านบาท   

นายชัยวัฒน์  กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันได้รับผลกระทบอย่างมากจากความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับต่ำ โดยมีค่าการกลั่นพื้นฐาน 3.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.21 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากปีก่อน ทำให้โรงกลั่นต้องปรับลดกำลังการผลิตมาอยู่ในระดับ 97,200 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น  

'บางจาก'สังเวยโควิด ขาดทุน 6.9 พันล. ปักธงปีนี้สู้ต่อขยายลงทุนธุรกิจใหม่

ด้านธุรกิจการตลาด ปริมาณการจำหน่ายรวมลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสายการบิน  โดยบางจากยังขยายจำนวนสถานีบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  ขณะนี้มีจำนวน 1,233 สาขา มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 15.6 

สำหรับกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B กำลังการผลิตไฟฟ้า 114 เมกกะวัตต์ ในสปป.ลาว และการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย “RPV” จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิต 20 เมกกะวัตต์ ส่งผลให้มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 เทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งหมดจำนวน 473.7 เมกกะวัตต์  

'บางจาก'สังเวยโควิด ขาดทุน 6.9 พันล. ปักธงปีนี้สู้ต่อขยายลงทุนธุรกิจใหม่

นอกจากนี้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท BCPG ได้อนุมัติแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 1.3 พันล้านหุ้น คาดว่าจะได้เงินทุนเพิ่มราว 1.02 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี และเงินเพิ่มทุนบางส่วนจะถูกนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม 

อย่างไรก็ตามในปี  2564 คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยกำลังจะได้รับวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจของบางจากฯ หลังจากปรับโครงสร้าง เสริมสภาพคล่องให้แข็งแรง มีความพร้อมในการปรับตัว ขยายศักยภาพในการบริหารงานและการลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจสีเขียวเป็น 40-50% ในปี 2567