posttoday

ราช กรุ๊ป โชว์กำไร 6.2 พันล้าน อัดงบ1.5 หมื่นลบ.ลุยธุรกิจไฟฟ้าปีนี้

16 กุมภาพันธ์ 2564

ราช กรุ๊ป ตั้งงบ 1.5 หมื่นล้าน เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ รักษาธุรกิจเดิม หลังปี'63 สร้างกำไร 6,286 ล้านบาท พร้อมจ่ายปันผล 2.40 บาทต่อหุ้น

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2563  มีกำไรสุทธิ 6,286.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากปี 2562 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.34 บาท และเตรียมขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผล 2.40 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 3,480 ล้านบาท

ทั้งนี้ผลประกอบการปี 2563 ได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหงสาและกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว รวมทั้งมีการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long เวียดนาม ซึ่งบริษัทฯลงทุนผ่านกองทุน ABIEF เมื่อปีที่ผ่านมาด้วย

ส่วนรายได้รวมปี 2563 (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง) มีจำนวน 16,155.92 ล้านบาท ซึ่งประมาณ 94.8% เป็นรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก แบ่งเป็นรายได้จากโรงไฟฟ้า IPP ประมาณ 68.9% โรงไฟฟ้า SPP ประมาณ 15.7% และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ประมาณ 10.2% ขณะที่ภาพรวมรายได้ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนในปี 2563 เพิ่มขึ้น 15.9% เป็นเงินจำนวน 4,600 ล้านบาท

สำหรับปี 2564 บริษัทฯ ได้จัดสรรงบประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการเดิมและโครงการใหม่ โดยตั้งเป้าหมายขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 700 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่ลงทุนแล้ว 8,174 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก 455 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 245 เมกะวัตต์

ส่วนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องพลังงานจะสานต่อโครงการที่ได้เริ่มศึกษาและเจรจาร่วมทุนในปีที่ผ่านมาต่อเนื่อง ได้แก่ การร่วมทุนในบริษัทนวัตกรรมกับกลุ่มกฟผ. โครงการ District 9:เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ โครงการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามบริษัทฯกำหนดกลยุทธ์การลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ โดยจะลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 350 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมกระแสเงินสดและรายได้ของบริษัทฯให้มั่นคงมากขึ้น อีกทั้งขยายโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโต ที่บริษัทฯสามารถแสวงหาการลงทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายกำลังผลิตพลังงานทดแทน 2,500  เมกะวัตต์ในปี 2568รวมทั้งธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลได้

นอกจากนี้ก็จะจับมือกับพันธมิตรรายเดิมขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ ร่วมกันด้วย สำหรับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านพลังงานก็จะขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาให้ไปสู่การร่วมทุนและดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การร่วมทุนนวัตกรรมด้านไฟฟ้ากับกลุ่ม กฟผ. ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ในปีนี้  

นายกิจจา กล่าวว่าในปี 2564 บริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้อีก 4 โครงการ รวมกำลังผลิตตามการถือหุ้น 537.04 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 149.94 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 70%) โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์  226.8 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong  เวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 51%)

ส่วนโรงไฟฟ้าที่เดินเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,700 เมกะวัตต์จะมุ่งเน้นบริหารประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง ต้นทุนการผลิต และควบคุมการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด