posttoday

ซีพี อุ้มพนักงานทั่วโลก รับเศรษฐกิจฟื้นหลังพ้นวิกฤตโควิด-19

16 เมษายน 2563

"เจ้าสัวธนินทร์" ดึงโมเดลอู่ฮั่น วางกลยุทธ์ รักษาพนักงานกว่า 3 แสนคนทั่วโลก เป็นกองกำลังสำคัญ มอง "ไทย" แกร่งสุด รับเศรษฐกิจโลกฟื้นหลังจบโควิด-19

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ อดีตประธานกรรมการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เปิดเผยว่า เครือซีพีมีการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งมีพนักงานอยู่กว่า 9 หมื่นคน ซึ่งกลุ่มบริษัท ไม่มีแผนปลดพนักงานแต่อย่างใด ด้วยยังจ่ายเงินเดือนให้ตามปกติ ขณะที่เครือซีพีมีพนักงานกระจายอยู่ทั่วโลก ราว 3 แสนคน

จากแนวทางดังกล่าว เครือซีพี มองว่า หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 แล้ว เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นคืนกลับมา ซึ่งหากองค์กรธุรกิจใดมีความพร้อมมากกว่า ธุรกิจนั้นก็จะฟื้นตัวกลับมาได้ไว ด้วยเช่นกัน

อย่างในปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) มีพนักงานกว่า 170,000 คน จากจำนวนสาขา กว่า 1.9 หมื่นแห่ง กระจายทั่วประเทศไทย ซึ่งเครือซีพี ให้การดูแลอย่างทั่วถึง 

"เราต้องดูแลพนักงาน ไม่มีการปลดคนออก เพราะมองว่าหลังวิกฤตโควิด-19 จะเป็นโอกาสของผู้ที่เตรียมความพร้อมได้มากกว่า ล่าสุด เซเว่นฯ ยังได้ประกาศรับสมัครพนักงานเพิ่มอีก 2 แสนคน เพื่อเป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค" นายธนินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ จากประสบการณ์ของเครือซีพี ที่ดำเนินธุรกิจในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งมีพนักงานอยู่ราว 2,000 คน ซึ่งไม่ได้มีการเลิกจ้าง และยังคงให้ทำงานอย่างงต่อเนื่อง พร้อมมีที่พักให้อาศัย และออกนโยบายห้ามเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้เพื่อมีส่วนร่วมในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19

ขณะเดียวกัน จากมาตรการของเครือซีพี ที่ให้พนักงานบริษัทในเครือกว่า80% ทำงานอยู่ที่บ้านนั้น ยังได้มีการให้ความรู้เสริม ฝึกการอบรมทักษะเพิ่มเติม ผ่าน วิดีโอ คอลเฟอร์เรนซ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้พนักงาน รองรับสถานการณ์หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตแบบก้าวกระโดดทันที

"หาก เศรษฐกิจฟื้นตัว ภาคแรงงานและกำลังคนของซีพี ก็จะเดินหน้าได้ทันที เป็นการเตรียมพร้อมในเวลานี้ของซีพีหลังวิกฤตจบลง ซึ่งซีพีใช้แนวทางนี้จนประสบความสำเร็จมาแล้วในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดหนักที่เมืองอู่ฮั่นในจีน" นายธนินทร์ กล่าว

ต้องฟื้นอุตฯท่องเที่ยวทันที หลังโควิด-19 จบ

นายธนินทร์ ประเมินว่าวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ แตกต่างกับวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ผ่านมาไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตระดับโลกเกิดขึ้นกะทันหัน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักผู้คนต้องกักตัวในที่อยู่อาศัยเพื่อเลี่ยงการแพร่เชื้อโรค

ด้วยส่งผลกระทบทุกภาคส่วน รวมถึงไทย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรร ท่องเที่ยว ที่มีมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นมูลค่าภาษี จากภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้หากผู้มีอำนาจบริหารกิจการในธุรกิจ เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้ ควรประคับประคองธุรกิจไว้ พร้อมปรับตัวไปสู่บริการจัดส่งอาหาร เพื่อรองรับฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ จากการใช้ทักษะ ทรัพยากร รวมถึงพนักงาน เดิมที่มีอยู่ ด้วยจะเป็นโอกาสทางธุรกิจ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 แล้ว ซึ่งภาครัฐ ควรพร้อมสนับสนุนม็ดเงินลงทุน ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเหล่านี้ ด้วยหากจะต้องมีการกู้ร้อยเปอร์เซนต์ ก็ต้องยอม เพราะเป็นการลงทุน ที่จะได้ผลตอบแทนคืนกลับมาแน่นอนหลังผ่านวิกฤตโควิดในครั้งนี้

"ประเทศไทย มีความแข็งแกร่งทางการเงินระดับท็อปของโลก จากที่ผ่านมาไทยลงทุนซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ รายใหญ่เป็นอันดับ18 ของโลก ซึ่งมองว่ามีความเหมาะสมหากจะต้องมีการกู้เงิน" นายธนินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องกล้าลงทุนหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรม ที่จะต้องเร่งปรับปรุงให้มีความทันสมัย ปลอดภัย ธุรกิจร้านอาหาร ที่มีบริการเทคโฮม หรือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้

โดยมีแนวทาง เช่น การออกพันธบัตร ระยะเวลา 10ปี 20ปี หรือ 30 ปี ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากโลกผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้แล้ว ไทยจะเป็นประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น และขอให้ภาคเอกชนและธุรกิจต่างๆ เตรียมพร้อมด้านกำลังคน และภาคแรงงานไว้ หากสามารถที่จะช่วยเหลือไม่เลิกจ้างแรงงาน ทำให้ผู้คนยังมีกำลังจับจ่ายภายในประเทศได้จะเป็นเรื่องที่ดี

"เพราะวันนี้เมื่อมืดที่สุดแล้วก็จะมีความสว่าง ไม่มีวันที่จะมืดไปตลอดกาล ดังนั้นเมื่อสว่างแล้วจะต้องเตรียมตัวทำอย่างไร เช่นเดียวกับที่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจะเป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างมาก เพราะหลังวิกฤตแล้วมีโอกาสแน่นอน" นายธนินทร์ กล่าว

ถึงมือหมอแล้ว หน้ากากอนามัยแสนชิ้น

นายธนินท์ กล่าวต่อว่าในช่วงที่ผ่านมาเครือซีพี ใช้งบลงทุนราว 100 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ภายใต้มาตรฐาน อ.ย. มีวัตถุประสงค์ เพื่อแจกฟรี ให้แก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชน โดยโรงงานฯ ใช้ระยะเวลา 5 สัปดาห์ เพื่อก่อสร้าง และติดตั้งตั้งเครื่องจักร

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน โรงงานฯ ได้ผลิตหน้ากากอนามัยล็อตแรก จำนวน 1 แสนชิ้น โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ สภากาชาดไทย เป็นตัวแทนรับมอบ และเป็นองค์กรดูแลแจกจ่ายหน้ากากอนามัยส่งต่อไปยังทุกโรงพยาบาลในประเทศ และส่วนที่เหลือจึงแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไปฟรี

โดยกำลังการผลิตปัจจุบันตั้งเป้าคือวันละ 1 แสนชิ้น หรือ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยเป็นโรงงานอัตโนมัติใช้ผู้ควบคุมในโรงงานเพียง 3 คน เพื่อให้เป็นโรงงานที่ปลอดเชื้อโรคสูงสุด สามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมง

ซีพี อุ้มพนักงานทั่วโลก รับเศรษฐกิจฟื้นหลังพ้นวิกฤตโควิด-19