posttoday

สั่งด่วน!!ตั้งวอร์รูมเฉพาะกิจรับมือแก้ภัยแล้ง ช่วยเหลือประชาชนขาดน้ำ

25 ธันวาคม 2562

'เฉลิมชัย' รับลูกบิ๊กตู่ ตั้ง “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63”ช่วยแก้วิกฤติภัยแล้ง ช่วยเหลือประชาชนขาดน้ำ

'เฉลิมชัย' รับลูกบิ๊กตู่ ตั้ง “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63”ช่วยแก้วิกฤติภัยแล้ง ช่วยเหลือประชาชนขาดน้ำ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้อธิบดีกรมชลประทานตั้ง "ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63" เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามบัญชาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่ง นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และเป็นห่วงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้กำชับให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด

"กรมชลประทาน ได้ดำเนินการและมีแผนปฏิบัติการอยู่แล้ว แต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์เป็นการเฉพาะ เพื่อทำให้ประชาชนตระหนักในปัญหา และ เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยในเขตชลประทานนั้นยืนยันว่า ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำแน่นอนเนื่องจากวางแผนบริหารจัดการน้ำมาล่วงหน้าและดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานนั้น ก็ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือ" นายเฉลิมชัย กล่าว

ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งทั่วประเทศแล้ว 11 จังหวัด นอกจากนี้ยังสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดชุดออกสำรวจข้อมูลน้ำ แยกเป็นน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร หากพบพื้นที่ใดขาดแคลนน้ำได้เร่งออกแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชน รวมทั้งยังขุดบ่อบาดาล นำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยด่วน ส่วนการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ ได้แจ้งล่วงหน้าแล้วว่า ไม่มีน้ำสนับสนุนโดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา สำหรับบางพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอทำการเกษตร ขอให้ฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ว่า สามารถเพาะปลูกพืชใดได้บ้าง โดยฤดูแล้งนี้เน้นการปลูกพืชใช้น้ำน้อยซึ่งขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้พืชผลเสียหายจากการขาดน้ำ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เตรียมลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานแก้ไข บรรเทาวิกฤตภัยแล้ง และการบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนของกรมชลประทานเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะบูรณาการทั้งหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

สำหรับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ มีอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธาน จะใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC)เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน มีหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์ รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน สื่อสาร ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งและแนวทางในการลดผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง กำหนดแนวทางการปฎิบัติงานเชิงบูรณาการในการแก้ไขและการให้ความช่วยเหลือ ประสานข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินความต้องการและความจำเป็นเพื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรเครื่องมือในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ตลอดจนจัดทำรายงานสถานการณ์ รวมทั้งผลการดำเนินการ แก้ไข บรรเทา และการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งรายงานต่อรมว. เกษตรฯ อย่างต่อเนื่องทุกระยะ

อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 เขื่อนขนาดใหญ่ ของพื้นที่ลุ่มน้ำชี 5 จังหวัด อีสานกลาง คือ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด พบว่าเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 521 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.)หรือร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ ต่ำกว่าปริมาณน้ำที่ใช้การได้ โดยขณะนี้นำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ไปแล้วมากกว่า 60 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 47 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 9.37 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ดังนั้น เขื่อนทั้ง 2 แห่ง จะส่งน้ำสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น งดปลูกพืชฤดูแล้งทุกชนิด

ในขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ปีนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,527 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,427 ล้าน ลบ.ม.สนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางถึง 13 แห่ง โดยอยู่ในเขตจ.ชัยภูมิ 5 แห่ง จ.ขอนแก่น 6 แห่ง และจ.ร้อยเอ็ด 2 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ