posttoday

'พาณิชย์'คิดบวก ลุ้นส่งออกปีหน้าขยับ แม้ 11 เดือนยังติดลบจากสงครามการค้า

23 ธันวาคม 2562

ภาพรวมการส่งออก11เดือนของปีนี้ยังติดลบ 2.8% จากปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้ากดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ยังรักษาฐานลูกค้าได้ดีกว่าประเทศอื่น มั่นใจปี'63 ทิศทางส่งออกจะกลับมาบวกอีกครั้ง

ภาพรวมการส่งออก11เดือนของปีนี้ยังติดลบ 2.8% จากปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้ากดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ไทยยังรักษาฐานลูกค้าได้ดีกว่าประเทศอื่น มั่นใจปี'63 ทิศทางส่งออกจะกลับมาบวกอีกครั้ง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนพ.ย. 2562 การส่งออกมีมูลค่า 19,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง 7.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 19,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 13.8% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง 2.8% การนำเข้ามีมูลค่า 218,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.2% และการค้าเกินดุล 9,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกของไทยเดือนพ.ย.ยังปรับตัวลดลง สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวจากสงครามการค้าและปัจจัยอื่น ๆ ทำให้การค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของหลายประเทศทั่วโลกหดตัวรวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่การส่งออกของไทยยังคงรักษาระดับมูลค่าส่งออกได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่หดตัวมากกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยชั่วคราวในสินค้ากลุ่มน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องที่การส่งออกลดลงอย่างมาก สาเหตุจากการปิดโรงกลั่นในประเทศเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกน้ำมัน เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่า 11% ลดลงกว่า 27% แต่ในช่วงต้นปี 2563 จะกลับมาผลิตได้ตามเดิม ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้การส่งออกกลับมาดีขึ้น

นอกจากนี้ประเด็นผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกของไทยเริ่มทรงตัว เห็นได้จากการที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐฯ และจีนได้ดีหลายกลุ่ม รวมทั้งการส่งออกไปจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ขยายตัว แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของ supply chain ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการกลับมาขยายตัวเป็นบวก เช่น เครื่องสันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (กลับมาเป็นบวกในรอบ 10 เดือน) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (กลับมาเป็นบวกในรอบ 4 เดือน) ในรายตลาด การส่งออกไปสหรัฐฯ (หักอากาศยาน) ยังขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 เช่นเดียวกับไต้หวันที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่การส่งออกไปจีน และฮ่องกงกลับมาขยายตัว ที่ร้อยละ 2.3 และ 2.6 ตามลำดับ รวม 11 เดือนของปี 2562 การส่งออกหดตัวร้อยละ 2.8 มูลค่าการค้ารวม

อย่างไรก็ตามการค้าระหว่างประเทศของไทยและการส่งออกของไทยมีทิศทางไปในแนวทางเดียวกันกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้าและปัจจัยอื่น ๆ แต่สินค้าส่งออกของไทยมีความหลากหลาย (product diversification) และมีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ทำให้สามารถรักษาฐานและขยายการส่งออกไปในประเทศต่างๆได้ ในช่วงต้นปี 2563 เมื่อการผลิตสินค้ากลุ่มน้ำมันทั้งหมดกลับมาสู่สภาวะปกติ น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในไตรมาสแรก

ด้านข้อตกลงทางการค้าระยะแรก(Phase-1 Deal)ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวลได้ในระยะสั้นว่าสงครามการค้าจะไม่ลุกลามถึงการขึ้นภาษีนำเข้าเต็มจำนวนระหว่างกัน เช่นเดียวกันกับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)ที่มีความชัดเจนขึ้น โดยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ- จีนในระยะที่ 2 ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากไม่มีรายละเอียดปรากฎแน่ชัด อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างที่คาดว่าต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรอง นอกจากนี้ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ จะยังกดดันแนวโน้มการส่งออกไทยในระยะสั้น-กลาง

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แม้ภาพรวมการส่งออกยังชะลอตัว สินค้าส่งออกหลายรายการ สามารถขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าเกษตรและเกษตรอาหาร เช่น น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

นอกจากนี้ เห็นสัญญาณการกระจายตัวและขยายตลาดส่งออกไปตลาดใหม่มากขึ้นในสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ในตลาดอิรัก แคเมอรูน เคนยา ยางพารา ในตุรกี และน้ำตาล ในซูดาน ซึ่งแม้ว่ายังมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่ถือเป็นตลาดใหม่ที่ไม่ควรมองข้ามและเร่งเข้าทำตลาด โดยเฉพาะในช่วงที่การค้าเผชิญความท้าทายที่หลากหลายและรอบด้านในปัจจุบัน