posttoday

รัฐบาลรับ 11 ข้อเสนอม็อบประมง ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหา

19 ธันวาคม 2562

รัฐบาลรับข้อเสนอม็อบประมง ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหา จ่อนัดถกครั้งแรก ม.ค. 63 แจ้งข่าวดี ไทยส่งออกสินค้าเกษตรประมง ภาษีเป็นศูนย์

รัฐบาลรับข้อเสนอม็อบประมง ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหา จ่อนัดถกครั้งแรก ม.ค. 63 แจ้งข่าวดี ไทยส่งออกสินค้าเกษตรประมง ภาษีเป็นศูนย์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลกรณีการแก้ไขปัญหาให้กลุ่มชาวประมง 22 จังหวัดชายแดนทะเล ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการประมงอย่างเข้มงวด ภายหลังประเทศไทยถูกปลดจากใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมายจากไอยูยู? (IUU) แม้เป็นเรื่องน่ายินดี แต่การทำงานงานอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสหภาพยุโรป (EU) กำหนด ทำให้ชาวประมงเดือดร้อน และเดินทางมาร้องขอความเป็นธรรม พร้อมขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยได้รวมตัวกันบริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายและตัวแทนพี่น้องชาวประมงที่มาร้องทุกข์ได้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพแล้ว

ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้รับข้อเสนอ 11 ข้อและจะนำเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เป็นประธาน และใช้เวลาหารือร่วม 3 ชั่วโมง จนได้ข้อสรุปและเห็นชอบข้อเสนอทั้งหมด รวมถึงให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการใช้มาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ 11 ข้อ ประกอบด้วย 1. ชาวประมงขอให้ทบทวนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎระเบียบที่กระทบและสร้างความเดือดร้อนกับวิถีการทำประมง โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมกฎระเบียบต่างๆ ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นำมาทบทวนร่วมกับพี่น้องประมงเพื่อนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป คาดแล้วเสร็จภายใน 30 วัน 2. การเสนอแก้ไขกฎหมายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ประมง พ.ศ.2558 โดยให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโดยด่วน ตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปภายใน 45 วัน

3. กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีฝึกงานบนเรือประมง เพราะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งชาวประมงขอให้ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถฝึกงานบนเรือประมงได้ รวมถึงพิจารณาชั่วโมงพัก เวลาออกเรือ ตลอดจนกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อน โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบตั้งคณะทำงานขึ้น 4. การเงินที่มีปัญหาของเรือขาวคาดแดงที่ต้องนำออกจากระบบการประมง ไม่สามารถทำการประมงได้อีก ซึ่งมีเรือผิดกฎหมายที่จะต้องนำออกจากระบบ รวม 3,000 ลำ รัฐบาลได้ตั้งเป้าให้เงินช่วยเหลือโดยแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะเริ่มจัดสรรเงินเยียวยาภายหลังงบประมาณปี 2563 ผ่าน และเฟสต่อไปจะทยอยจ่ายเงินเยียวยาจนครบ ส่วนงบที่ต้องเยียวยาทั้งเรือผิดกฎหมายและบางส่วนที่ไม่อยากทำอาชีพประมง ราว 8,000 ล้านบาท

5. โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ชาวประทง โดยที่ประชุมเห็นชอบจัดเงินก้อนหนึ่งผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดสินเชื่อให้กับประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน พร้อมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป 6.ชาวประมงได้ขอให้ช่วยหาแรงงานเข้ามาสู่การประมง 7.ข้อกังวลของเรือประมงขนาดเล็กไม่เกิน 30 ตันกลอส ที่กังวลจะถูกบังคับให้ติดตั้งเครื่องติดตามเรือ (VMS) ซึ่งความจริงกรมประมงไม่มีนโยบายดังกล่าว

8.ขอให้เข้มงวดการนำเข้าสัตว์น้ำที่ไม่มีหนังสือรับรองการจับสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการลักลอบนำสัตว์น้ำผิดกฎหมายมาขายในประเทศ 9.ขอให้เพิ่มวันทำประมง ภายหลังเกิดปัญหาเมื่อกำหนดวันให้เรือที่มีการจับสัตว์น้ำประเภทอวน ทำงานได้ 240 วันต่อปีแต่ต้องจ่ายค่าแรงทุกวัน และทำให้ขาดทุน โดยทางคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ทบทวนความเป็นไปได้และศึกษาเรื่องการคำนวณวันของสัตว์น้ำให้ชัดเจน 10.การขอให้ยกเลิกโครงการฟรีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งชี้แจงว่าเป็นเพียงนโยบายโยนหิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันเถื่อนในเรือขนาดใหญ่ที่ต้องจับสัตว์น้ำระหว่างอาณาเขต 2 ประเทศ ยืนยันไม่มีการดำเนินโครงการดังกล่าวภายในเร็ววันนี้ และ

11.ขอให้ทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้รับเรื่องดังกล่าว ส่วนเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะติดขัดข้อกฎหมายและต้องศึกษาผลกระทบ จึงเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วยผู้แทนหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน โดยจะเริ่มประชุมครั้งแรกในเดือนมกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม พี่น้องชาวประมงได้พึงพอใจต่อการดำเนินการทั้งหมด โดยรัฐบาลยืนยันว่าการดำเนินงานทุกอย่างจะต้องควบคู่ไปกับข้อเรียกร้องของชาวประมงที่เป็นคนในพื้นที่

นอกจากนี้ น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยังมีข่าวดี โดยในที่ประชุมรับทราบโอกาสที่ทางไทยจะส่งสินค้าเกษตรประมง ไปยังภูมิภาคอียู?ในปีหน้าและมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งถ้าเราสามารถเจรจาการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหราชอาณาจักร สินค้าประมงของเราส่งไปยังสหราชอาณาจักร ภาษีเป็นศูนย์ หากไทยและสหราชอาณาจักรทำสำเร็จ และหากเบร็กซิส (Brexit) สำเร็จ ปีหน้าจะเป็นโอกาสทอง ส่วนแผนระยะยาวจะพิจารณาแผนนโยบายการประมงแห่งชาติในปี 2563-2567 เป้าหมายมุ่งสู่การมุ่งให้พื้นทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ พี่น้องชาวประมงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง สิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาพที่ดีต่อไป

“ทั้งนี้ หลังจากที่ไทยได้รับการปลดใบเหลืองแล้ว ยังชะล่าใจไม่ได้ เพราะอียู ยังติดตามการทำงานตลอดเวลา และสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่คือ การแก้ไขกฎหมายที่ยังไม่สมบูรณ์ รวมถึงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของชาวประมงด้วย ขณะเดียวกัน ต้องทำงานร่วมกับต่างประเทศ เพราะเรื่องการประมงเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง เช่น เรือที่ผิดกฎหมายของประเทศอื่น แล้วจะไปทำลายที่บังคลาเทศ ผ่านน่านน้ำไทย อย่างเรืออุทัยวรรณ (UTHAIWAN) จอดอยู่ที่ภูเก็ต ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ เป็นเรื่องของต่างประเทศที่เข้ามาและอียู กำลังจับจ้องอยู่ ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องทำงานร่วมกับต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนี้ เรามีเป้าหมายปักธงให้ประเทศเป็นไอยูยูฟรีไทยแลนด์ (IUU Free Thailand) เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจไอยูยู แต่ต้องคำนึงถึงการทำประมงของพี่น้องชาวไทยที่มีวิถีชีวิตแตกต่างจากภูมิภาคอื่น” น.ส.รัชดา กล่าว