posttoday

กนอ.ดึงญี่ปุ่น ร่วมกำจัดสารฟลูออโรคาร์บอน ลดภาวะโลกร้อน

18 ธันวาคม 2562

กนอ.ลงนามเอ็มโอยู 4 พันธมิตร เก็บคืนสารทำความเย็นเพื่อทำลาย รวมทั้งกำจัดสาร FCs ตั้งเป้าปี'63 ลดการปล่อยสาร 219 ตันต่อปี หวังร่วมลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกในประเทศ

กนอ.ลงนามเอ็มโอยู 4 พันธมิตร เก็บคืนสารทำความเย็นเพื่อทำลาย รวมทั้งกำจัดสาร FCs ตั้งเป้าปี'63 ลดการปล่อยสาร 219 ตันต่อปี หวังร่วมลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกในประเทศ

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยว่า กนอ. ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ บริษัท โดวะ อีโค่ ซิสเต็มส์ จำกัด (DES) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร และบริษัท เวสท์ แมเนจเมนท์ สยาม จำกัด เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการสารฟลูออโรคาร์บอน(FCs)ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์ในการจัดการ บำบัด และกำจัดสาร FCs โดยคำนึงถึงวิธีการจัดการ และทำลายสาร FCs ที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการดูแล และรักษา ชั้นโอโซน รวมทั้งการเก็บกลับคืนสาร FCs ที่ใช้แล้วจากอุปกรณ์ทำความเย็น และเครื่องปรับอากาศอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยระบบเตาเผาแบบฟลูอิดไดส์เบด (Fluidized Bed) ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู

ทั้งนี้ เตาเผาฟลูอิดไดส์เบด เป็นเตาเผาที่ใช้ทรายเป็นตัวกลางในการนำความร้อน และสามารถควบคุมอัตราการป้อนสาร FCs ได้ โดยหลักการทำงานของเตาเผาฟลูอิดไดส์เบดจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บสารทำความเย็นจากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แอร์ ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น ระบบทำความเย็นในรถยนต์ โดยจะดูดสารทำความเย็นใส่ไว้ใน ถังเก็บ (Cylinder)ก่อนที่จะส่งมากำจัดที่เตาเผา ก๊าซร้อนที่เกิดขึ้นจากห้องเผาจะถูกส่งไปยังหม้อไอน้ำ (Boiler) เพื่อผลิตไอน้ำ ก่อนจะส่งต่อเข้าสู่ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศของเตาเผา ด้วยการควบคุมอัตราการป้อนสารที่กำหนด จะทำให้เตาเผาสามารถกำจัดสาร FCs ได้มากกว่า 99.99% โดยสามารถตรวจวัดได้จากอัตราการระบายมลพิษทางอากาศที่ปล่องระบายอากาศของโครงการ ทั้งนี้ เตาเผาฟลูอิดไดส์เบดนี้สามารถเผาของแข็งได้ประมาณ 150 ตันต่อวัน และเผาของเหลวได้ประมาณ 123 ตันต่อวัน มีศักยภาพในการป้อนสาร FCs ได้ไม่เกิน 3% หรือ 4.5 ตันต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กนอ. ได้ประสานขอความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวไปยังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กรมศุลกากรให้การสนับสนุนในเรื่องของสาร FCs ที่จะนำมาใช้ทดลองในโครงการฯ ซึ่งเป็นสาร FCs ที่ได้จากการจับกุมสินค้าลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย และคดีเป็นที่สิ้นสุดเรียบร้อยแล้วประมาณ 130 ตัน

การลงนามครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพิธีสารมอนทรีออล ที่ประเทศภาคีสมาชิกต่างๆ รวมถึงประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายชั้นโอโซน และทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนต่ำ โดยดำเนินงานอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการใช้สารทดแทนในระยะยาวเป็นไปอย่างยั่งยืน รวมถึงต้องหาแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และกำจัดสารเหล่านี้ให้หมดไป