posttoday

คนไทยรออีก 7 ปีกว่าจะได้ใช้รถไฟไฮสปีดอีอีซี

16 ตุลาคม 2562

รฟท. ขยายสัญญาก่อสร้าง 2 ปี ด้านผู้ว่ารฟท.ยันไม่มียกเลิกสัญญา ส่วนการเวนคืนที่ดินจะเสนอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เข้า ครม. ภายในเดือน พ.ย.-ธ. ค.นี้ มั่นใจสามารถส่งมอบพื้นที่ได้เกิน 50% ตามที่กำหนดไว้ใน RFP ภายใน 1-2 ปี

รฟท. ขยายสัญญาก่อสร้าง 2 ปี ด้านผู้ว่ารฟท.ยันไม่มียกเลิกสัญญา ส่วนการเวนคืนที่ดินจะเสนอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เข้า ครม. ภายในเดือน พ.ย.-ธ. ค.นี้ มั่นใจสามารถส่งมอบพื้นที่ได้เกิน 50% ตามที่กำหนดไว้ใน RFP ภายใน 1-2 ปี

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี วงเงิน 2.2 แสนล้านบาทนั้น จะลงนามสัญญาแน่นอนในวันที่ 25 ต.ค. นี้ โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปีในการก่อสร้าง

หลังจากเจรจากับเอกชนได้ข้อสรุปว่าจะมีการขยายเวลาส่งมอบหนังสือให้เอกชนเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (Notice to Proceed: NTP) ภายใน 2 ปีนับจากวันลงนามสัญญา จากเดิมที่ระบุไว้ 1 ปี ดังนั้นจึงทำให้ระยะเวลาก่อสร้างจนเปิดใช้บริการรวมเป็น 7 ปี พร้อมเงื่อนไขสามารถขยายสัญญาก่อสร้างออกไปอีกได้ หากติดปัญหาสุดวิสัยที่แก้ไขไม่ได้ โดยจะไม่มีการชดเชยเงินสดให้เอกชนแต่จะชดเชยเป็นระยะเวลาก่อสร้างแทน

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นเรื่องการยกเลิกสัญญาโครงการนี้หลังจากลงนามนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างตั้งใจดำเนินการ จะไม่มีการปล่อยภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเสียผลประโยชนํทำให้ต้องยกเลิกงานก่อสร้าง ส่วนเรื่องการเวนคืนที่ดินนั้นจะมีการเสนอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน(พรฎ.)?เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือน พ.ย.-ธ. ค. นี้

ทั้งนี้ เมื่อเห็นชอบจะเริ่มเวนคืนได้ทันที สอดคล้องกับช่วงเวลา 3 เดือนหลังลงนามสัญญา ที่กำหนดให้เอกชนออกแบบแผนก่อสร้างเพื่อนำไปใช้ประกอบการเวนคืน โดย รฟท.จะรับผิดชอบเรื่องผู้บุกรุก ส่วนเอกชนรับผิดชอบเรื่องเวนคืนและประสานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งรฟท.มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้เกิน 50% ตามที่กำหนดไว้ใน RFP ภายใน 1-2 ปี

"สำหรับพื้นที่ปัญหาในการเวนคืนนั้นอยู่ที่ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท เป็นแนวเส้นทางที่มีปัญหาเยอะทั้งด้านผู้บุกรุก เสาไฟฟ้า และสาธารณูปโภครัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะท่อน้ำมันที่ต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)? ก่อนรื้อย้ายด้วย" นายวรวุฒิกล่าว