posttoday

เซ็งรัฐยื้อเก็บค่าน้ำหวั่นสูญเสียรายได้

09 สิงหาคม 2561

ทีดีอาร์ไอ สับรัฐบาล เมินผลักดันกฎหมายน้ำ หนุนกรมชลฯ ประกาศเขตชลประทานหวังเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มปีละ 1.2 หมื่นล้าน

ทีดีอาร์ไอ สับรัฐบาล เมินผลักดันกฎหมายน้ำ หนุนกรมชลฯ ประกาศเขตชลประทานหวังเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มปีละ 1.2 หมื่นล้าน

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนา การจัดสรรน้ำชลประทานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงสุด ว่า รัฐบาลเสียท่ากับการที่ไม่กล้าผลักดัน พ.ร.บ.เก็บภาษีน้ำ เพราะจะเป็นการปฏิรูปประเทศในด้านที่ดี เนื่องจากทรัพยากรน้ำมีต้นทุนและจะทำให้ทุกฝ่ายร่วมกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลยืนยันว่าไม่เก็บค่าน้ำกับเกษตรกร ถือว่าเป็นความชัดเจนแล้วว่าไม่ได้เป็นการมุ่งแสวงหารายได้กับคนผู้มีรายได้น้อย แต่จะเป็นการจัดระเบียบการใช้น้ำของภาคอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมหรือท่องเที่ยว หรือเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ใช้ต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าน้ำด้วย

"น่าเสียหายหากรัฐไม่แสดงท่าที กับการผลักดันกฎหมายนี้ เพราะดูแล้วไม่กล้าพอที่จะดันเพราะกลัวเสียงต้าน ทั้งที่เสียงต้านไม่ทราบว่ามาจากการปลุกปั่นหรือไม่ คาดว่าทั้งสองกฎหมายสำคัญที่รัฐบาล คสช.ไม่กล้าผลักดันคือกฎหมายน้ำกับกฎหมายภาษีที่ดิน แสดงให้เห็นว่าคนรวยและกลุ่มแลนด์ลอร์ด ชนะรัฐบาล คสช." นายนิพนธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำเสนองานวิจัยการพัฒนาโครงการชลประทาน และการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์เศรษฐกิจสูงสุด โดยมีข้อเสนอแนะระหว่างทีดีอาร์ไอร่วมกับกรมชลฯ ว่า มูลค่าที่แท้จริงของน้ำในระบบเศรษฐกิจไทย อยู่ที่ 1.7-2.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.3-1.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งต้นทุนของน้ำที่กรมชลฯ ลงทุนอยู่ที่ 1.24-1.68 บาท/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่กรมชลฯ ขายน้ำดิบให้การประปาเพียง 50 สตางค์ (สต.)/ลบ.ม. ส่วนการขายให้เอกชนในภาคตะวันออกหรือบริษัท อีสท์วอเตอร์ ก็เท่ากับ 50 สต. เช่นกัน ในขณะที่คอนโดมิเนียมและเอกชนไปคิดค่าน้ำกับผู้ใช้หรือผู้รับบริการในอัตรา 10 บาท/ลบ.ม. ถือว่ารัฐเสียรายได้ในส่วนนี้จำนวนมหาศาล

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ทางกรมชลฯ ควรใช้ข้อบังคับ พ.ร.บ.การชลประทาน พ.ศ. 2485 เพื่อเก็บค่าชลประทาน ทางน้ำ ซึ่งจะลดภาระของรัฐบาล โดยในกฎหมายกำหนดให้ประกาศเขตและเก็บค่าน้ำได้ตามกฎหมายจะมีประมาณ 7,800 ทางน้ำ หากดำเนินการจะสามารถเก็บเงินได้ 8,109-12,775 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเพิ่งประกาศได้ 300 ทางน้ำ เก็บเงินได้ประมาณ 798 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เมื่อมีกฎหมายอยู่แล้วก็ต้องบังคับใช้และนำเงินที่เก็บได้ตั้งเป็น กองทุนเพื่อนำเงินมาบำรุงรักษาระบบชลประทานในพื้นที่