posttoday

เตือนธุรกิจรับมือความท้าทายเออีซี 4 ด้าน

27 สิงหาคม 2555

รัฐบาลเตรียมแผนผลักดันภาคธุรกิจไทยให้พร้อมรับการแข่งขันหลังเปิดเออีซี เตือนรับมือความท้าทาย 4 ด้าน

รัฐบาลเตรียมแผนผลักดันภาคธุรกิจไทยให้พร้อมรับการแข่งขันหลังเปิดเออีซี เตือนรับมือความท้าทาย 4 ด้าน

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในงานเสวนาสูตรลับทายาทธุรกิจมุ่งสู่เออีซี ว่า สิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการไทยในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ประกอบด้วย การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แรงงานมีฝีมือถูกดึงตัวไปทำงานต่างประเทศ และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานไหลเข้ามาในประเทศ

นอกจากนี้ ไทยยังต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ซึ่งนอกเหนือจากความซบเซาแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ใหม่ตั้งแต่มิ.ย.ที่ผ่านมาที่จะส่งผลใหในปี 2556 สินค้าไทยถูกตัดสิทธิ์ไป 57 รายการ และในปี 2557 สินค้าไทยจะถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด เนื่องจากรายได้ประชากรสูงขึ้นเฉลี่ยในระดับ 3,900 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ต่อเนื่องกัน 3 ปี ถือเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

"รายได้เราปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าเกณฑ์ ทำให้อียูพิจารณาลดสิทธิที่เคยให้ลง สินค้าที่ได้ผลกระทบดังกล่าว เช่น รถยนต์ ที่เคยเสียภาษี 6.5% จะเพิ่มเป็น 10% สับปะรดที่เราไม่เคยเสียภาษีเลยก็ต้องมาเสียในอัตรา 25% รองเท้าเคยเสีย 4.5% ก็เพิ่มเป็น 8%" รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยให้เตรียมพร้อมรองรับเออีซี 3 ด้าน คือ สร้างและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมตั้งแต่ขนาดเล็ก เอสเอ็มอี และขนาดใหญ่ โดยเน้นมาตรฐานสากล เช่น ไอเอสโอ มาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานซอฟท์แวร์ที่ใช้ในภาคธุรกิจ

สำหรับด้านที่สอง เป็นการเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งจะส่งเสริมให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการ เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ขณะที่ภาครัฐจะพัฒนาระบบซิงเกิ้ลวินโดว์ ช่วยลดต้นทุน ส่วนด้านที่สาม จะมีการจัดทำโรดแมปเออีซีของแต่ละภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถแข่งขันได้ โดยขณะนี้ดำเนินการแล้ว 5,500 ราย คาดว่าสิ้นปีจะทำได้ 8,000 ราย ส่วนปีหน้าตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นราย

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าให้มากกว่านี้ โดยเฮพาะเขตเสรีการค้า (เอฟทีเอ) อาเซียน จากปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ไม่ถึง 50% ขณะที่ประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ใช้ประโยชน์ถึง 100% โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปศึกษาว่าภาคธุรกิจใดยังไม่ใช้ ก็จะเข้าไปส่งเสริมให้มากขึ้น