posttoday

ปลดล็อกประเทศ...วิกฤตโควิดปีครึ่งคนยากจนเพิ่มเกือบ 2 ล้านคน

20 กันยายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ข้อเขียนฉบับนี้จะให้มุมมองเชิงสังคมจากผลกระทบระบาดโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มต้นปลายมีนาคมปีที่แล้วจนถึงขณะนี้เป็นเวลาปีครึ่ง การล็อกดาวน์ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการคลายมาตรการลงก็ตามแต่ก็ยังคงมีเคอร์ฟิวและเงื่อนไขมากมายที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่ เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการจ้างงานของภาคเอกชนซึ่งมีแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบรวมกันประมาณ 24.32 ล้านคน

ผลที่ตามมาจากที่ธุรกิจทั้งด้านค้าส่ง-ค้าปลีก ภาคการผลิตและบริการต้องปิดตัวส่งผลให้ตลาดแรงงานหดตัวเฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคมหายไปกว่า 6 แสนคน คนว่างงานยังอยู่ในอัตราสูงตลอดจนมีคนเสมือนว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงไปจนถึงครึ่งหนึ่งของชั่วโมงเวลาทำงานปกติมีจำนวนรวมกัน 3.530 ล้านคน

รายได้ที่หดหายส่งผลต่อรายได้ของครัวเรือนทั้งในเมืองและชนบทซึ่งก่อนมีโควิดมีความอ่อนแอเป็นทุนอยู่แล้วเมื่อถูกซ้ำเติมจากการระบาดโดยเฉพาะตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมามีความรุนแรงจนต้องมีการล็อกดาวน์ยาวทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวรุนแรง ปีนี้สภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะขยายตัวค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.95 จากปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 6.1 หากใช้ปีพ.ศ.2562 เป็นฐานช่วง 2 ปีอาจทำให้มูลค่าเศรษฐกิจของไทยหายไปประมาณ 1.928 ล้านล้านบาท

หากวิเคราะห์มิติทางสังคมจากข้อมูลของธนาคารโลกจำนวนคนยากจนของไทยในช่วงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องต้นปีพ.ศ.2564 เพิ่มจาก 4.3 ล้านคนเป็น 5.8 ล้านคนเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.9  ตัวเลขนี้ยังไม่รวมผลกระทบจากการระบาดโควิดระลอกเดลต้าที่รุนแรงมากกว่าเดิมหลายเท่า คาดว่าช่วงปลายปีนี้จำนวนคนยากจนของไทยน่าจะพุ่งสูงถึง 2.0 ล้านคน

ก่อนอื่นขอฉายภาพรวมให้เห็นถึงความเปราะบางของครัวเรือนไทย จากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ (3 ก.ย. 64) ประเมินว่ามีคนจนรวมกันประมาณ 11.2 ล้านคน (บางข้อมูล 10.7 ล้านคน) โดยแบ่งเป็นประชากรตกขอบคนจนสัดส่วนร้อยละ 51.8 และประชากรเกือบจนสัดส่วนร้อยละ 48.21 หรือประมาณ 5.40 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้หากการระบาดยังยาวและไม่คลายล็อกเศรษฐกิจบางส่วนมีโอกาสสูงที่จะถูกลดชั้นกลายเป็นคนยากจนของประเทศ

คนยากจนของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชราที่แก่แล้วยังจนข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนคนยากจนที่รับสวัสดิการของรัฐหรือบัตรคนจน (ก.ย. 64) มีจำนวน 13.65 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 21.4 ของประชากรสัญชาติไทย แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการแก้ปัญหาของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา อีกทั้งในช่วง 2-3 ปีพบว่าคนจนมีจำนวนมากขึ้นเห็นได้จากดัชนีแก้ปัญหาความยากจนในระดับโลกล่าสุดไทยตกชั้นอยู่ในลำดับ 43 จาก 165 ประเทศ

คำถามรายได้เท่าใดจึงจัดว่าเป็นคนยากจนมีคำนิยามที่แตกต่างกัน ธนาคารโลกกำหนดเส้นแบ่งความยากจน “International Poverty Line” เดิมใช้ 1.90 เหรีญสหรัฐต่อวันพบว่าเป็นอัตราที่ต่ำเกินไปมีการปรับใช้เกณฑ์วันละ 5.50 เหรียญสหรัฐต่อวันหรือประมาณวันละ 180 บาท

สำหรับประเทศไทยแบ่งคนยากจนเป็น 2 กลุ่มคือคนจนตกขอบมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี อีกกลุ่มเป็นพวกเกือบจนอยู่เหนือเส้นความยากจนมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ทั้งสองกลุ่มได้รับบัตรคนจนหรือสวัสดิการของรัฐซึ่งรัฐบาลกำลังปรับเกณฑ์เป็นรายได้ต่อครัวเรือนแทนรายได้ต่อคน ภาพรวมเฉลี่ยรายได้ประชากรไทย 7,215 เหรียญสหรัฐหากใช้อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันหรือ 237,561 บาทต่อคน/ปี อยู่ในกลุ่มรายได้ประเทศปานกลางโดยพื้นที่เศรษฐกิจกว่าร้อยละ 70 กระจุกอยู่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลรวมถึงพื้นที่อีอีซีและจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น จังหวัดภูเก็ต

ที่กล่าวมาเพื่อให้เห็นผลกระทบจากวิกฤตที่มาจากโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและส่งผลต่อตลาดแรงงานที่หดตัว มาตรการกระตุ้น-เยียวยาเศรษฐกิจเป็นเพียงแค่ยาดม-ยาหอม การฟื้นตัวต้องให้ภาคธุรกิจกลับมายืนด้วยตนเองด้วยการคิกออฟเปิดเมือง เช่น โครงการ “Bangkok Sandbox” และนำร่องเพิ่มจังหวัดท่องเที่ยว

ขณะที่ยังมีความกังขาเกี่ยวกับการระบาดรุนแรงจะกลับมาเนื่องจากจำนวนคนติดเชื้อแต่ละวันหมื่นกว่าราย การฉีดวัคซีนเข็มสองได้แค่ 1 ใน 4 ของเป้าหมายประชากร 50 ล้านคน ประเด็นคือการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจหรือเปิดท่องเที่ยวโดยรอให้โควิดหมดไปคงอีกยาวประชากรจำนวนมากที่รายได้หายไปจะอยู่อย่างไร

ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการเปิดประเทศซึ่งข้อเท็จจริงไม่ง่ายมีอะไรต้องทำอีกมากมายโดยเฉพาะโรงแรม รีสอร์ท และสถานที่ท่องเที่ยวที่ปิดตัวไปยาวจะกลับมาจะต้อง “Re-New” ภายใต้ภาวะแบบนี้จะเอาเงินมาจากไหน หากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ประชากรว่างงานแฝงจำนวนมากหลุดขอบเส้นความยากจนจะยิ่งทำให้การแก้ปัญหาซ้ำซ้อนมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยซึ่งปีนี้คาดว่าอาจขยายตัวได้เพียง    ร้อยละ 1.1 (จากฐานปีที่แล้วติดลบ) ในปีที่ปกติการบริโภคเอกชนขยายตัวได้อย่างน้อยร้อยละ 4.0  ภาคการบริโภคมีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีอยู่ในอันดับที่สูงต้องให้ครัวเรือนมีรายได้ซึ่งเงินจะมาจากค่าจ้าง-ค่าแรงเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ

การแก้ปัญหาความยากจนของชาติเป็นโจทย์ใหญ่ไม่ใช่แก้ง่ายๆ เพราะเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมาเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นหากจะนับเป็นผู้ป่วยของอาเซียนก็ดูไม่ผิด เศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างชาติทั้งภาคส่งออกและการจับจ่ายใช้สอยขอ งนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน การที่จะให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาเหมือนก่อนโควิดระบาดอาจจะต้องอีก 2 ปีข้างหน้า

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้  ทำให้คนยากจนเพิ่มสูงขึ้นอีกทั้งจำนวนคนว่างงานแฝงจำนวน 2-3 ล้านคนเป็นความท้าทายของผู้บริหารประเทศ การผลักดันการเปิดประเทศหรือปลดล็อกพื้นที่เศรษฐกิจอาจเป็นทางเลือกที่ต้องกล้าตัดสินใจถึงแม้จะต้องเลือกกับการที่จำนวนคนติดเชื้อกลับมาสูงซึ่งต้องควบคู่กับความสามารถในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโควิดต้องอยู่กับเราไปอีกยาว...จริงๆ นะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat